ไลฟ์สไตล์

รู้มาเล่าไป:สังเกตุ'ปลาปักเป้า'มีพิษ

รู้มาเล่าไป:สังเกตุ'ปลาปักเป้า'มีพิษ

09 พ.ค. 2555

คอลัมน์ รู้มาเล่าไป : สังเกตุ 'ปลาปักเป้า' มีพิษ : โดย ... ดลมนัส กาเจ

          มีคนมาบอกว่า ตอนนี้ร้านปลาย่างบุฟเฟ่ต์บางร้าน นำเนื้อปลาสีขาว เหมือนกับเนื้อไก่ มาวางให้ลวก หรือย่างอีกแล้ว สงสัยน่าจะเป็นเนื้อปลาปักเป้า เลยไม่กล้านำไปย่าง ทั้งๆ ที่ตอนนี้ไม่มีข่าวเกี่ยวกับคนกินปลาปักเป้าแล้วเกิดอันตราย 

          ที่จริงปลาปักเป้า ก็เหมือนกับแมงดาทะเลนั่นแหละครับ บางชนิดบริโภคได้ บางชนิดก็มีพิษ ตรงนี้ต้องระวัง อย่างปลาปักเป้าบางชิดบริโภคได้ แต่บางชนิดก็มีพิษครับ อย่างชาวประมงแถวบ้านผมที่ปักษ์ใต้ ก็มีการบริโภคปลาปักเป้าเหมือนกัน แต่เป็นปลาปักเป้าชนิดที่พวกเขาเคยกินเป็นประจำ 

          ผมมีข้อมูลจากกรมประมง ที่แนะนำชนิดของปลาปักเป้ามีพิษและไม่มีพิษ ตามข้อมูลระบุว่า ลักษณะของเนื้อปลาปักเป้าว่าจะหนา มีสีขาวอมชมพูและมีเยื่อพังผืดหุ้มชิ้นเนื้อ เมื่อปรุงสุกแล้วเนื้อจะมีสีขาวและมีความเหนียวนุ่มคล้ายเนื้อไก่ บางคนที่เลือกปลาปักเป้าเป็น จึงนิยมชมชอบครับ 

          เรื่องของคนบริโภคปลาปักเป้าเสียชีวิต เกิดจากเมื่อปี 2545 ตรวจพบว่าได้รับสารพิษเทโทรโดท็อกซิน (Tetrodotoxin) ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต และในปีนั้นเอง ที่กระทรวงสาธารณสุขจึงออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 264) พ.ศ.2545 เรื่อง การกำหนดอาหารที่ห้ามผลิตนำเข้า และจำหน่ายปลาปักเป้าทุกชนิดดังกล่าว รวมไปถึงอาหารที่มีเนื้อปลาปักเป้าเป็นส่วนผสมอาหาร ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 26 ธันวาคม 2545 

          ผู้ฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสองปี และปรับตั้งแต่ 5,000-20,000 บาท ต่อมาในปี 2550 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ได้จัดทำมาตรการป้องกันปัญหาปลาปักเป้าขึ้น ทั้งนี้เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคนั่นเอง

          ข้อมูลของกรมประมงนั้น ดร.วิมล จันทรโรทัย อธิบดีกรมประมง ระบุว่า ผลการสำรวจพบว่าปลาปักเป้าที่พบในน่านน้ำไทยมีทั้งหมด 42 ชนิด แบ่งเป็นปลาปักเป้าน้ำจืด 9 ชนิด และอีก 33 ชนิดเป็นปลาปักเป้าน้ำเค็มและน้ำกร่อย ซึ่งปลาปักเป้าทะเลที่เราพบเห็นกันในปัจจุบันนั้นมีทั้งชนิดที่มีพิษและไม่มีพิษครับ

          ปลาปักเป้าทะเลที่พบกันแบ่งเป็น 2 ชนิดใหญ่ๆ คือ ปลาปักเป้าหลังเขียว Lagocepharus Iunaris ชนิดนี้มีพิษ และปลาปักเป้าหลังน้ำตาล Lagocepharus spadiceus ชนิดนี้ไม่มีพิษบริโภคได้ว่างั้นเถอะ

          หลักการสังเกตปลาปักเป้าที่มีพิษและไม่มีพิษนั้น สังเกตได้ง่ายๆ ครับ คือ "หนามที่หลัง” ถ้าเป็นชนิดที่มีพิษจะมีหนามขึ้นตั้งแต่ส่วนหัวถึงครีบหลัง พิษของปลาปักเป้าจะพบได้ในทุกส่วนของตัวปลาไม่ว่าจะเป็น อวัยวะสืบพันธุ์ (ไข่และอัณฑะ) ตับ ไส้ปลา หนัง รวมทั้งในเนื้อปลาด้วย พิษนี้มีชื่อว่า เทโทรโดท็อกซิน ซึ่งมีผลต่อการทำงานของระบบกล้ามเนื้อและระบบประสาท 

          ส่งผลทำให้เกิดอาการลิ้นชา อาเจียน กล้ามเนื้อแขนและขาอ่อนแรง ขยับเขยื้อนไม่ได้ หายใจลำบาก ซึ่งหากได้รับในปริมาณมากและรักษาไม่ทันอาจเสียชีวิตได้

 

          ทางดีที่ดีก็ไม่ควรเสี่ยง นั่นคือหลีกเลี่ยงการบริโภคปลาปักเป้าจะดีกว่าครับ !

 

 

----------

(หมายเหตุ : สังเกตุ 'ปลาปักเป้า' มีพิษ : คอลัมน์ รู้มาเล่าไป : โดย ... ดลมนัส กาเจ)

----------