ไลฟ์สไตล์

ศิลป์แห่งแผ่นดิน:ตลาดปากบาง

ศิลป์แห่งแผ่นดิน:ตลาดปากบาง

03 มิ.ย. 2555

คอลัมน์ ศิลป์แห่งแผ่นดิน : ตลาดปากบาง

          เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ผมพาเด็กๆ ไปเดินตลาดร้อยปีสามชุก สุพรรณบุรีอีกครั้งหลังจากห่างเหินไปนาน ที่ห่างเหินมิใช่ห่างหายยังหาโอกาสคืนหวนย้อนทวนไปเที่ยวไปหา แม้ว่าตลาดสามชุกจะเปลี่ยนไป มีตลาดเกิดใหม่ทั่วหัวระแหงแข่งขันกันอย่างขันแข็ง เอาจริงเอาจัง เอาเป็นเอาตาย แบบเปราะบาง ตลาดก็แข็งไม่ขึ้น ถึงกับต้องล้มหายบ้างก็ตายไปจริงๆ บ้างก็ล้มชั่วคราว รอเวลาลุกขึ้นยืนใหม่

          ผมแวะเที่ยวตลาดปากบาง (อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี) อีกครั้ง แวะกินผัดไทย (สูตรโบราณ) ก่อนเดินชมตลาด 150 ปี เกทับความเก่าแก่กว่าตลาดสามชุกไปครึ่งเท่าตัว ตลาดปากบางอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ฝั่งตะวันออก อยู่ใต้ ตัวจังหวัดประมาณ 10 กิโลเมตร ผมแวะคุยกับชาวบ้านร้านตลาดได้ความว่า ตลาดปากบางรอเวลาที่จะเกิดใหม่อีกครั้ง ยังอยู่ระหว่างการรวมตัว รวมหัว ร่วมแรง ร่วมมือ ร่วมใจ ของคนในพื้นที่ ต้นทุนดี ตำนานมี ประวัติศาสตร์มี ผมได้ไปไหว้ศาลหมื่นหาญ ได้ชิมกระยาสารท “แม่ทองสุข” ที่ประเคนเครื่องใส่โดยไม่ยั้งมือ โดยเฉพาะ “งาขาว” ผสมเข้าไปจนพร่างพราว ทำให้กระยาสารทชื่อดังแห่งตลาดปากบางเนื้อละเอียดนุ่มละมุน เหนียวหนึบพอดี หวานไม่จัด ปัจจุบันคุณรัตนา ศีลศร รุ่นลูกสืบทอดสูตรกระยาสารทวิเศษไว้ คุณรัตนา ยังทำข้าวเหนียวแดง หวานมันนุ่ม ดองมะนาว ดองกระเทียม ด้วยวิธีดั้งเดิม สนใจแวะชมแวะชิมได้ ร้านกระยาสารทแม่ทองสุข อยู่ใกล้ๆ กับ วิหาร “หลวงพ่อหิน” ย่านริมน้ำ หลวงพ่อหินเป็นพระเก่าแก่ ปางสมาธิ พระวรกายผอมบาง เกศเปลวเพลิง วิหารนี้แต่ก่อนเป็นเรือนไม้ ส่วนองค์พระ นำมาจากวัดร้าง “วัดท้องคุ้ง” ที่พบเพียงพระเศียรศิลาอยู่ใต้ซากปรักหักพัง ชาวปากบางยุคนั้นได้สร้างองค์พระขึ้นใหม่ แล้วนำพระเศียรไปประกอบเป็นรูปหลวงพ่อหินองค์สมบูรณ์เช่นปัจจุบัน

 

          ข้างๆ วิหารหลวงพ่อหินนั้นเอง ที่ผมได้นั่งพักกายา กินกาแฟโบราน “แปะธง”

 

          ผมไม่หวังเห็นตลาดปากบางเติบโตตามแบบตลาดสามชุก ตลาดปากบางควรเติบโตจากรากเหง้าของตนเอง ผมไม่ทราบว่าคนในพื้นที่มีความหวังและความฝันอย่างไร

          เมื่อปีที่แล้วตลาดปากบางประสบอุทกภัยขั้นสาหัสเช่นเดียวกัน พาขวัญกำลังใจถดถอยไปไม่น้อย

          สำหรับคน “ที่อื่น” อย่างผม สนใจใคร่รู้จัก “หมื่นหาญ” บุคคลสำคัญของท้องถิ่น อยากพูดอยากคุยกับผู้เฒ่าผู้แก่ เดินตลาดเก่าแก่ร้อยห้าสิบปี ก็อยากได้สูดสายลมแห่งอดีต ซึ่งผมไม่ใช่คนประเภทโหยหาอดีตแบบที่จะต้องย้อนอดีตให้กลับมากรีดกรายร่ายรำอยู่ต่อหน้า แบบว่าสำแดงการย้อนยุคกันเสียจนอดีตต้องร้องไห้ และผมก็ไม่อยากเห็นการเกิดใหม่ และเติบโตไปในแบบ “ชุมชนหาเงิน” จนทำให้เกิดภาวะวิ่งพล่านโกลาหลของผู้คน สุดท้ายต้องฟาดฟัน แย่งชิง ด้วย “กำลังทุน”

          พูดถึง “ตลาดเก่า” ตลาดชุมแสง นครสวรรค์บ้านผมก็มีดีพอที่จะ “เกิดใหม่” แม้ว่าจะมีบริษัทยักษ์ใหญ่มาผุดสาขา

          ทุกหนทุกแห่งขึ้นอยู่กับศักยภาพคุณภาพของคนในท้องถิ่นครับ ที่จะกำหนดชะตาชีวิต และทิศทางการก้าวเดิน ผมได้แต่อวยพรให้ท้องถิ่นก้าวไปถูกทางอย่างมีสติปัญญา ก้าวย่างอย่างมั่นคงครับ ขอเอาใจช่วย “ตลาดปากบาง” แห่งสิงห์บุรีครับ

 

 

----------

(หมายเหตุ : คอลัมน์ ศิลป์แห่งแผ่นดิน : ตลาดปากบาง)

----------