ไลฟ์สไตล์

เลี้ยง'เป็ดกินแกลบ'ลดต้นทุน

เลี้ยง'เป็ดกินแกลบ'ลดต้นทุน

21 มิ.ย. 2555

เลี้ยง 'เป็ดกินแกลบ' ลดต้นทุน วิธีหมอดินอาสา 'อ๋า พรมไธสง' : โดย ... สุรัตน์ อัตตะ

          หมอดินอาสา นามว่า "อ๋า พรมไธสง" เกษตรกรวัย 48 เศษแห่งบ้านทุ่งควายกิน อ.แกลง จ.ระยอง แม้จะจบแค่ชั้นป.4 แต่ก็ประสบความสำเร็จในการทำเกษตรผสมผสานตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นเครื่องนำทางมากว่า 6 ปี หลังได้ค้นพบความจริงว่า ดิน คือต้นทุนสำคัญในการตั้งต้นชีวิต หากจะมุ่งสู่ภาคเกษตรอย่างจริงจัง

          คนหาปลาขี้เมาแห่งบ้านทุ่งควายกิน อ.แกลง จ.ระยอง ก็มาถึงจุดเปลี่ยนของชีวิต เมื่อภรรยาหอบเอกสารการฝึกอบรมของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.)แจ้งให้ไปอบรมที่ปฐมอโศก จ.นครปฐม เป็นเวลา 4 คืนกับ 5 วัน ในขณะกำลังเบื่อความจำเจของชีวิตที่เช้าออกหาปลาตกเย็นมาก็เมาหยำเปไม่เว้นแต่ละวัน ในระหว่างการอบรมอบายมุขที่ถือเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตถูกสั่งห้ามอย่างเด็ดขาด ทำให้รู้สึกอึดอัด แต่หลังจากได้เห็นพฤติกรรมและรับรู้เรื่องราวของผู้คนที่นี่ และสิ่งที่พวกเขาได้ย้ำเสมอว่า "พูดและฟัง" เท่านี้ยังไม่พอต้องกลับไปปฏิบัติดูให้เห็นกับตา

          กว่า 6 ปีที่เขาได้พลิกฟื้นนาร้างมาเป็นนาข้าว พื้นที่ไม้ผล ปลูกผักสมุนไพรด้วยการทำเกษตรแบบผสมผสาน ที่เน้น "ไม้แดด" มากกว่า "ไม้ดอก" เนื่องจากให้ประโยชน์ได้มากกว่าการดูเพื่อความสวยงาม โดยเริ่มจากการพัฒนานารกร้างของคนอื่น ด้วยการไปขอเช่า แต่ผลผลิตข้าวกลับไม่ดีนัก เนื่องจากมีปัญหาในเรื่องดิน หลังได้ค่อยๆ สังเกตสิ่งที่ตนเองได้ทำลงไปและบันทึกเอาไว้ ในขณะเดียวกันก็ได้รับคำแนะนำเรื่องดินจากสำนักงานพัฒนาที่ดินจังหวัดระยองแล้วนำไปลองปฏิบัติดู ปรากฏว่าในฤดูกาลผลผลิตต่อมา ผลผลิตข้าวต่อไร่ก็เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

          หลังจากข้าวได้ผลผลิตมากขึ้น เป็นผลมาจากดินมีคุณภาพ จากนั้นเขาก็มีความคิดที่จะมีโรงสีข้าวเป็นของตนเอง เพื่อให้ได้รำและแกลบสำหรับใช้เป็นวัตถุดิบผลิตอาหารสัตว์ โดยการปรับปรุงโรงสีเล็กๆ ของหมู่บ้าน ที่ถูกทิ้งร้างไม่ใช้งานมาปรับปรุงใหม่ พร้อมรับบริการสีข้าวฟรีจากคนในหมู่บ้านเพื่อให้ได้มาซึ่งรำและแกลบ

          "แรกๆ ก็เก็บค่าบริการกระสอบละ 5 บาท แต่บางทีชาวบ้านให้แบงก์ 100 บ้าง 500 บ้างก็เลยสีให้ฟรีเลย แต่สิ่งที่เราได้คือแกลบกับรำเพื่อนำมาเป็นอาหารสุกร เป็ดและไก่ที่เราเลี้ยงไว้ โดยรำนั้นจะนำมาผสมหยวกกล้วยและเศษผักแล้วตำให้ละเอียดเพื่อเป็นอาหารสุกรและไก่ ส่วนแกลบก็จะนำมาเป็นอาหารเลี้ยงเป็ด หรือที่รู้จักกันในนาม "เป็ดกินแกลบ" ทำให้ลดต้นทุนได้มาก" หมอดินอ๋าเผย

          เขาเผยอีกว่า การใช้แกลบเป็นอาหารเป็ดนั้น จะต้องผ่านกระบวนการผลิตอย่างถูกวิธี โดยเริ่มจากนำแกลบไปหมักให้นิ่ม โดยการแช่น้ำที่ผสมกับน้ำหมักชีวภาพ หรือ พด.2 และหมักทิ้งไว้ประมาณ 12 ชั่วโมง จากนั้นให้นำแกลบที่หมักมาผสมกับรำข้าวให้เป็ดกิน ซึ่งจากการสังเกตพบว่าเป็ดจะมีสุขภาพแข็งแรง ไข่ดก ที่สำคัญยังสามารถนำมูลเป็ดมาผลิตปุ๋ยหมักที่ได้คุณภาพอีกด้วย

          ไม่เพียงรำและแกลบ ผลพลอยได้จากโรงสี ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตอาหารสัตว์เพื่อลดต้นทุนการผลิตเท่านั้น แต่เขายังได้นำมูลสุกรมาผลิตแก๊สหุงต้มและมูลวัว เป็ดและไก่มาผลิตปุ๋ยคอกใส่พืชผักและไม้ผลที่ปลูกไว้เพื่อลดต้นทุนการผลิตในเรื่องค่าปุ๋ยค่ายา อีกทั้งยังเน้นการทำเกษตรอินทรีย์ โดยไม่ใช้สารเคมีแต่อย่างใด

          อ๋า พรมไธสง หมอดินอาสาแห่งตำบลทุ่งควายดิน ผู้กล้าเปลี่ยนวิถีชีวิต ชนิดหันหลังกลับและน้อมนำแนวพระราชดำริหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันส่งผลให้ชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น พร้อมๆ กับการทำประโยชน์แก่ผู้อื่นด้วยการทำหน้าที่วิทยากรเผยแพร่ความรู้แก่ประชาชนทั่วไปโดยไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย สนใจเยี่ยมชมสวนเกษตรหมอดินอาสาอ๋า พรมไธสง โทร.08-6027-0954 ได้ทุกวัน

 

 

----------

(หมายเหตุ : เลี้ยง 'เป็ดกินแกลบ' ลดต้นทุน วิธีหมอดินอาสา 'อ๋า พรมไธสง' : โดย ... สุรัตน์ อัตตะ)

----------