ไลฟ์สไตล์

นักสะสมความสุขนาม นัสวีร์ ตันติจิรสกุล

นักสะสมความสุขนาม นัสวีร์ ตันติจิรสกุล

07 ก.ค. 2555

นักสะสมความสุขนาม นัสวีร์ ตันติจิรสกุล : คอลัมน์ขอเวลานอก : โดย...เรื่อง...ชาญยุทธ ปะวะขัง/ภาพ...อนันท์ จันทร์สูตร

                "คุณค่าของนาฬิกาอยู่ที่การหยิบมาใส่ใช้งาน ไม่ใช่ความชอบแล้วซื้อเก็บหรือเพื่อการลงทุนเท่านั้น เหมือนคนชอบปืนแล้วเก็บใส่เซฟตลอดไม่ได้เห็นก็ไม่มีประโยชน์..."

                 ความสุขทางธรรม คือการได้อยู่ใต้ร่มกาสาวพัสตร์ หรือปฏิบัติตนตามคำสอนขององค์พระศาสดา ส่วนความสุขทางโลกก็สุดแต่ใครจะยึดจับสิ่งใดไว้เป็นที่รัก อย่างที่นักบริหารสาววัย 37 ปี "วีร์" นัสวีร์ ตันติจิรสกุล กำลังเต็มอิ่มกับของสะสมที่เป็นมากกว่าการสะสม ไม่ว่าจะเป็นเรือนบอกเวลาสุดหรูและสูงค่า ปากกาลูกลื่นราคาด้ามละไม่กี่บาท หรือกระทั่งโมเดลตัวการ์ตูนหลากคาแรกเตอร์แสนน่ารัก ทั้งหมดล้วนเหมือนกันในความต่างตรงที่ไม่ต้องตีความให้วุ่นวาย หากคือนามธรรมที่เรียกสั้นๆ ว่า "ความสุข"

                 นับแต่อ่อนวัยภายใต้หลังคาอาณาจักรธุรกิจเสื้อผ้ารายใหญ่ "พีน่า กรุ๊ป" หรือรู้จักกันดีในชื่อ "พีน่า เฮ้าส์" ก่อนจะเติบใหญ่เป็นกำลังสำคัญของบ้าน ในฐานะลูกหัวปีจากจำนวนพี่น้อง 4 คน วีร์พยายามหาเวลาอยู่กับโลกส่วนตัวโดยมีแสตมป์แผ่นจิ๋วเป็นเพื่อนยามว่าง แต่ไม่นานนักก็ต้องโบกมือลาของสะสมชิ้นแรกแบบถาวร เพราะหลังจากตักตวงความรู้ด้านโฆษณา คณะบริหารธุรกิจ รั้วเอแบค คุณพ่อสุพจน์ ก็หารือกับ คุณแม่พรรณี ตันติจิรสกุล ส่งลูกสาวคนโตไปเสริมเขี้ยวเล็บด้านการจัดการธุรกิจค้าปลีกให้แกร่งขึ้น ที่แฟชั่น อินสติติวท์ ออฟ ดีไซน์ แอนด์ เมอร์ชานดิสซิ่ง หรือ "FIDM" สหรัฐอเมริกา 2 ปี ทำให้ไม่อาจสานต่อกิจกรรมโปรด และเข้าอีหรอบ "รักแท้แพ้ระยะทาง" ในที่สุด

                จนกระทั่งคว้าประกาศนียบัตรกลับมาแล้วถูกวางตัวให้เป็นมือขวาของคุณพ่อดูแลหลายธุรกิจทั้งสินค้าแฟชั่น ร้านขนม และไลฟ์สไตล์ มอลล์ อย่างหรู วิญญาณนักสะสมจึงเริ่มก่อตัวขึ้นอีกครั้ง และดูเหมือนครั้งนี้จะเข้มข้นกว่าเดิม!!

                "เรือนแรกเลยคือ คาร์เทียร์ (CARTIER) รุ่นพาช่า คุณแม่ซื้อให้เป็นของขวัญตอนเรียนจบกลับมาราว 10 กว่าปีก่อน มีน้องชายไปด้วยที่ร้าน เพราะน้องก็จบตรีพอดี เราก็ดูๆ แล้วเอาอันนี้ หลังจากนั้นก็ชอบแบรนด์นี้มาตลอด ทุกเรือนที่ชอบเป็นทรงผู้ชาย แต่ใช่ว่าเราจะใส่ได้ทั้งหมด เป็นคนข้อมือเล็กจึงเลือกเฉพาะที่พอดี รู้สึกว่าคาร์เทียร์เป็นนาฬิกาที่คลาสสิกนะ ถ้าเรามีลูกหลานก็สามารถยกให้เป็นมรดกได้" บอสใหญ่ของ ธีม พลาซ่า ดีเวลล็อปเม้นท์ หนึ่งแขนงของพีน่า กรุ๊ป ซึ่งกำลังปลุกปั้นโครงการแหล่งช็อปปิ้งและสวนสนุกไฮโซมูลค่ากว่า 5 ร้อยล้านบาทอย่าง "ซานโตรินี พาร์ค ชะอำ" ให้กลายเป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ของเมืองตากอากาศชื่อดัง เล่าย้อนพร้อมชี้ชวนให้ชมคอลเลกชั่นหรูตรงหน้า

                ไม่เพียงเท่านั้น ทุกเรือนล้วนแล้วแต่มีเรื่องเล่าน่าประทับใจ โดยเฉพาะ คาร์เทียร์ รุ่น แทงฟองเซ่ โครโนกราฟ ที่คุณพ่อยินดีตกทอดสู่การสะสมของลูกสาว (จริงๆ เอ่ยปากขอเองด้วยความชอบ) ก็มีความคลาสสิกด้วยอายุอานามร่วม 20 ปี หน้าปัดเหลี่ยมแล้วใส่พอดีข้อมือเป๊ะ ราคาตอนนี้คงกระโดดไปไกลเข้าหลักล้านบาท หรืออย่างเรือนล่าสุดยี่ห้อ ปาเต๊ะ ฟิลลิป คุณพ่อซื้อให้ตอนไปเที่ยวสวิตเซอร์แลนด์หนล่าสุด ถือเป็นการนอกใจคาร์เทียร์ครั้งแรกเพราะอดใจไม่ไหวกับรูปทรงที่สวยงาม

                 "ส่วนใหญ่ซื้อเองยกเว้นสองเรือนนั้นที่พ่อแม่ให้ จะชอบแบบที่เป็นโครโนกราฟ คือหน้าปัดมีสามเข็ม ไม่ดูแฟชั่นเกินไป เสน่ห์ของคาร์เทียร์คือจะมีจีวิล (จิวเวลรี่) ประดับ เพื่อให้มันทำงาน ยิ่งจีวิลมากจะยิ่งแพง ซึ่งคาร์เทียร์เป็นนาฬิกาที่ใส่จีวิลเยอะแล้วสมราคา ในขณะที่ปาเต๊ะ ฟิลลิป ใส่จีวิลเท่ากัน แต่ราคาสูงกว่าเท่าตัว อีกประเภทหนึ่งที่ไม่ชอบคือจำพวกทองคำ ทองคำขาว หรือประดับเพชรเยอะๆ เพราะเป็นคนค่อนข้างซุ่มซ่ามใส่แล้วคงขูดขีดตลอด ที่สำคัญขูดบ่อยๆ เพชรคงหายไปบ้าง ราคาก็คงตก (หัวเราะ) เลยต้องบำรุงรักษาอย่างดีเข้าศูนย์ตลอด" สาวผู้เทใจให้คาร์เทียร์ เผยเทคนิคส่วนตัว

                  นักสะสมในคราบผู้บริหาร บอกด้วยว่าคุณค่าของนาฬิกาอยู่ที่การหยิบมาใส่ใช้งาน ไม่ใช่ความชอบแล้วซื้อเก็บหรือเพื่อการลงทุนเท่านั้น เหมือนคนชอบปืนแล้วเก็บใส่เซฟตลอดไม่ได้เห็นก็ไม่มีประโยชน์ ซึ่งในจำนวนเรือนหรูแบรนด์ดังร่วม 10 เรือนที่จัดวางอย่างเป็นระเบียบในกล่อง หากวัดมูลค่าแล้วต่อให้สูงแค่ไหนคงเทียบไม่ได้กับคุณค่าทางใจ ทำนองเดียวกับปากกาที่ระลึกที่ได้จากการเข้าพักในโรงแรมทั่วโลก ถามว่าสาวคนนี้เป็นคนชอบเที่ยวขนาดไหน ลองนับจำนวนปากกากว่า 70 ด้ามก็พอจะได้คำตอบ

                   "ปากกาเนี่ยเก็บก่อนนาฬิกาอีก แต่ละด้ามบอกว่าเราไปไหนมาบ้าง ด้ามแรกจำไม่ได้แล้ว เพราะเก็บมาก็เสียบไว้ในกระป๋อง พอเยอะขึ้นชักสนุกก็เก็บใหญ่เลย บางครั้งเราเป็นเมมเบอร์ของโรงแรมเขาก็จะส่งบัตรมาให้เราไปพัก ขากลับก็จะเก็บปากกามาเป็นที่ระลึก ถ้าเขาหาไม่เจอก็ให้รู้ไว้ว่าเรานี่แหละเก็บมา (หัวเราะ) ซึ่งปกติของเล็กๆ น้อยๆ แบบนี้เขาไม่หวงหรอก แต่ก็จะไม่เก็บซ้ำโรงแรมนะ และแตกต่างจากนาฬิกานิดหน่อยตรงที่ทุกด้ามจะไม่นำมาใช้งานไว้เป็นที่ระลึกเท่านั้น มีอยู่ด้านหนึ่งได้มาจากโรงแรมที่ออสเตรีย ตัวโรงแรมเป็นตึกเก่าปรับปรุงใหม่สวยมาก ปากกาก็สวยเลยประทับใจ เวลาไปโรงแรมระดับ 4-5 ดาวขึ้นไปแล้วไม่มีปากกาให้จะรู้สึกเคืองมาก (ลากเสียง)" วีร์ เล่าอย่างอารมณ์ดี

                  นอกจากนาฬิกาหรูและปากกาที่ระลึกยามเดินทางพักผ่อนแล้ว สาวโลกส่วนตัวสูงคนนี้ยังแอบปันใจให้ของกุ๊กกิ๊กอย่างเจ้าโมเดลการ์ตูนสารพัด ถึงขนาดตามเก็บสะสมจนล้นห้องจนต้องสั่งช่างให้ทำตู้เก็บพร้อมโชว์ไว้ในบ้านหลังใหม่ กะจากสายตาแล้วคงไม่ต่ำกว่า 400-500 ตัว ซึ่งเจ้าตัวกระซิบว่าชอบเพราะมันน่ารัก เวลาหยิบจับมาชื่นชมแล้วสบายใจดี ที่แน่ๆ ของสะสมประเภทนี้บางตัวเสาะหามาไว้ครอบครองยากกว่านาฬิกาเรือนหรูซะอีก

                  "นาฬิกาบ่งบอกบุคลิก ชอบยี่ห้ออะไรก็มักจะมีบุคลิกตามนั้น ถ้าชอบดูดีมีราคาก็อาจจะเลือกปาเต๊ะ ประดับเพชรแพรวพราวเต็มเรือน ถ้าชอบแฟชั่นหน่อยก็ต้องเป็นแฟรงค์ มูลเลอร์ ตัวเองชอบอะไรที่เรียบๆ แต่งตัวก็ไม่ฉูดฉาดอยู่แล้วจึงเข้ากันได้ดีกับคาเทียร์ จริงๆ ไม่ชอบใส่เครื่องประดับนอกจากนาฬิกา ที่เห็นใส่แหวนบ้างก็เพราะแม่ให้ถึงใส่  การสะสมอะไรสักอย่างมันมีความหมายทางจิตใจ บางคนอาจจะคิดว่าบ้าหรือเปล่าสะสมปากกา สะสมโมเดลการ์ตูน จริงๆ มันมีความหมายที่เมื่อเวลาผ่านไปแล้วนำออกมาดูจะระลึกได้ว่าเราไปไหนมาบ้าง รู้สึกยังไงกับกับสถานที่นั้นๆ ถ้าชอบอะไรก็สะสมไปเลย มันเป็นความสุขอย่างหนึ่ง" สาวนักธุรกิจพันล้าน สะท้อนมุมมอง

                  ในโลกธุรกิจเธอฝากฝีไม้ลายมือด้านการบริหารจนเป็นที่ประจักษ์ และกำลังไปได้สวยไม่แพ้โลกความสุขส่วนตัวที่คราใดได้สัมผัสของรักของสะสมไม่ว่าชิ้นนั้นจะมีราคาค่างวดสูงลิ่วหรือจิ๊บๆ แค่ประติ๋ว ครานั้นคือความสุขยิ่งใหญ่ที่ใครหลายคนอาจไม่เคยรู้...

......................................................................................
(นักสะสมความสุขนาม นัสวีร์ ตันติจิรสกุล  : คอลัมน์ขอเวลานอก : โดย...เรื่อง...ชาญยุทธ ปะวะขัง/ภาพ...อนันท์ จันทร์สูตร)