หนังสือที่เธอถือมา : ยลและยิน
หนังสือที่เธอถือมา : ยลและยิน : โดย ... ไพวรินทร์ ขาวงาม
..........
1.
“ยล” คือ มองดู แลเห็น, “ยิน” คือ รู้สึกด้วยหู ฟัง-ทั้งสองคำอาจนำด้วยคำว่า “ได้ยล” หรือ “ได้ยิน”
เมื่อย่อพูดกันสั้นๆ ก็กลายเป็น “ยลยิน” คำนี้มักปรากฏในโคลงกลอน ในฐานะคนอยู่กับโคลงกลอน ผ่านการใช้คำนี้มาไม่น้อยครั้ง ทั้ง “ยลยิน” และ “ยินยล”
“ยล” เกี่ยวกับ “ตา” ส่วน “ยิน” เกี่ยวกับ “หู” ที่แท้แล้วยังเกี่ยวกับ “จิตใจ” การที่เราจะได้ “ยลยิน” อะไรสักสิ่ง-สักเรื่อง มันอาจมากกว่า “ตาดู” และ “หูฟัง” หากยังผ่านไปถึง “ใจคิด”
“ตาดู” “หูฟัง” “ใจคิด” กระทั่งอาจผ่านไปถึง “ปากพูด” หรือ “มือเขียน”
เรื่องตาๆ หูๆ นี้มีนัยให้คิดหลายชั้น หลายครั้งที่มีคำให้งงๆ แต่พอคิดกลับไปกลับมา ทบไปทวนมา กลับรู้สึกว่า เออ-จริงของมัน
สำหรับตา-“ดูแต่ไม่เห็น เห็นแต่ไม่ดู”-สำหรับหู-“ได้ยินแต่ไม่ได้ฟัง ได้ฟังแต่ไม่ได้ยิน”
ในความยอกย้อนของถ้อยคำนี้ บางทีเราก็ประสบเข้ากับเรื่องง่ายๆ ในชีวิตประจำวันของตัวเอง ผมเคยดูแต่ไม่เห็น ผมเคยเห็นแต่ไม่ดู แบบว่าดูๆ เห็นๆ นั่นแหละ แต่ไม่ได้ใส่ใจ เช่นเดียวกับผมเคยได้ยินแต่ไม่ได้ฟัง ผมเคยได้ฟังแต่ไม่ได้ยิน ประมาณว่ายินๆ ฟังๆ นั่นแหละ แต่ไม่ได้หยุดคิดพิจารณา
มีสิ่งมากมายในโลกนี้ ที่เราเพียงแต่ผ่านๆ ตา ที่เราเพียงแต่ผ่านๆ หู เพียงแต่พอเห็นภาพร่างๆ รู้เรื่องคร่าวๆ ครั้นมีคนถามเราก็ไม่อาจจำรายละเอียดได้แล้ว อย่างเวลาเปิดโทรทัศน์ดูหนัง ดูละคร ดูข่าวกับคนมากๆ การดูไปพูดคุยกันไป มันก็เหมือนดูแค่ผ่อนคลายบรรยากาศไปเรื่อยๆ ตาและหูของเราจะอยู่ที่การสนทนามากกว่า ถามว่าตาเห็นไหม เห็น-แต่ไม่ได้ดู ถามว่าหูได้ยินไหม ได้ยิน-แต่ไม่ได้ฟัง
เรื่องมากมายในสังคม คงมีไม่น้อยที่เราเห็น แต่ไม่ได้ดู คงมีไม่น้อยที่เรายิน แต่ไม่ได้ฟัง
คำ “ยลยิน” ทำให้ฉุกคิดอะไรได้มากทีเดียว ยังคิดถึงบางคำคือ “การดูอย่างมีวิจารณญาณ” และ “การฟังอย่างมีวิจารณญาณ” บางที-“ตาดู” “หูฟัง” “ใจคิด” ก็คือ “ยล” “ยิน” “ญาณ” นั่นเอง
2.
“สุ จิ ปุ ลิ” คำคุ้นเคยของเรานั้น ก็น่าจะเป็นกิ่งก้านสาขาของ “ยลยิน”
ในส่วนของ ปุ-ที่ว่าถาม ถ้าถามคือ สอบถาม ค้นคว้า สืบค้นความรู้ ให้ได้ข้อมูลมากหรือถูกต้องยิ่งขึ้น ปุ-ก็เป็นทั้งการ “ถาม” และ “อ่าน” อาจเรียก “สุ จิ ปุ ลิ” ว่า “ฟัง คิด อ่าน เขียน”
“ยลยิน” “ฟัง คิด อ่าน เขียน” “ตาดู หูฟัง ใจคิด” “ยล ยิน ญาณ” กลุ่มคำเหล่านี้น่าจะอยู่ในประสบการณ์ใช้ชีวิตทุกคน ตามแต่ความหยาบความละเอียดของแต่ละคน
แน่นอน-คนเราคงไม่มีใคร “ยลยิน” อะไรได้รอบด้าน ถึงรอบด้านก็คิดอ่าน-อ่านเขียน-เข้าใจ ออกมาได้ไม่ครบถ้วน พูดออกมาได้ไม่ครบความ จะด้วยอคติ หรือการ “ยลยิน” ด้านเดียวก็ตามแต่
เรื่องเดียวกัน ยืนอยู่คนละฝั่งน้ำ สายตาคนปกติดีๆ ยังอาจเห็นกันคนละมุมได้ หรือแบบตำราช้างตัวเดียวกัน แม้แต่คนตาไม่บอด ก็ยังอาจ “ยลยิน” คลำรูปทรงช้าง และที่มาที่ไปของช้าง ไม่เท่ากัน
3.
บางเรื่องที่เกิดต่อหน้าผู้คนหลายตา หลายหู หลากใจ เวลามีข้อขัดแย้ง ข้อกังขา ข้อถกเถียง บางครั้งมักมีการกล่าวหาคนนั้นคนนี้ “ไม่ยลยิน” เหมือนว่าผู้อื่นนั้นบอดใบ้ ไม่ดู ไม่เห็น ไม่สนใจ
ในตรรกะนี้ ดูจะกำลังบอกว่า ผู้พูดเป็นผู้ “ยลยิน” กว่า ดูกว่า เห็นกว่า และสนใจมากกว่า แต่ปัญหาก็คือ คนเราก็อาจต่าง “ยลยิน” ในเรื่องเดียวกันนั่นแหละ แต่ “ใจคิด” “คิดอ่าน” “วิจารณญาณ” “เข้าใจ” กระทั่ง “พูดและเขียน” ก็อาจจะออกมาด้วยท่าทีที่แตกต่างกันไป
บางเรื่องซับซ้อนยิ่ง ฝุ่นตรลบยิ่ง เปราะบางยิ่ง-อาจไม่อยู่ในภาวะที่ใครจะพูดหรือเขียนอะไรได้ครบถ้วนตามอารมณ์ง่ายๆ ก็ได้ เหมือนผู้ที่บอกว่าตัวเอง “ยลยิน” นักหนานั้น ถึงที่สุดก็อาจ “พูดและเขียน” อะไรออกมาได้แค่ด้านเดียวเช่นกัน
พื้นที่ในการ “ยลยินอย่างมีวิจารณญาณ” จึงน่าจะได้เกิดขึ้นไม่น้อยในจิตใจของแต่ละคน!
--------------------
(หนังสือที่เธอถือมา : ยลและยิน : โดย ... ไพวรินทร์ ขาวงาม)