ไลฟ์สไตล์

โครงการบูรณะ 'วัดปทุมฯ'   
ปรับภูมิทัศน์รับการท่องเที่ยว

โครงการบูรณะ 'วัดปทุมฯ' ปรับภูมิทัศน์รับการท่องเที่ยว

21 พ.ค. 2552

วัดปทุมวนารามราชวรวิหาร พระอารามสระบัวสมัยรัชกาลที่ ๔ ที่วัยรุ่นเมืองไทยส่วนใหญ่แทบจะไม่รู้จัก ทั้งๆ ที่ตั้งอยู่ท่ามกลางศูนย์การค้าชั้นนำของเมืองไทย รั้ววัดข้างซ้ายติดเซ็นทรัลเวิลด์ รั้ววัดข้างขวาติดสยามพารากอน ด้านหน้าติดถนนพระราม ๑ เงยหน้าขึ้นไปเป็

 หลายคนเดินผ่านไปมา ไม่เคยรู้เลยว่า ในวัดปทุมฯ มีอะไรบ้าง แต่ก็มีอีกหลายคนที่เดินลงจากรถไฟฟ้าบีทีเอส แล้วมุ่งมั่นเข้าไปนั่งสมาธิในวัดปทุมฯ จากนั้นก็ออกไปช็อปปิ้งอย่างสบายใจ

 ปีนี้ พ.ศ.๒๕๕๒ ฤกษ์ดี ที่ กรมศิลปากร วัดปทุมฯ ร่วมกับ บริษัท เซ็นทรัลรีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด ได้จัดทำ "โครงการพัฒนาวัดปทุมวนารามราชวรวิหาร" โดยมี พระราชบัณฑิต ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดปทุมฯ และเลขานุการวัด เป็นประธานคณะกรรมการดำเนินงาน  

 พระราชบัณฑิต กล่าวว่า วัดปทุมฯ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ โปรดเกล้าฯ จาก พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๔๐๐ เพื่อเป็นรมณียสถานยามเสด็จประพาสนอกพระนคร มีน้ำล้อมรอบ เงียบสงบ ทรงสร้างพระอุโบสถหลังเล็กๆ ขึ้น เพื่อพระราชทานแก่ สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี โดยโปรดเกล้าฯ ให้ขุดสระ และปลูกบัวนานาพันธุ์โดยรอบ ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ วัดปทุมวนาราม เพื่อให้พระสงฆ์พายเรือมารับบิณฑบาตในเขตพระราชฐาน ปัจจุบันสระดังกล่าวถูกถมให้เป็นที่ราบไปแล้วเป็นส่วนใหญ่

 สิ่งสำคัญในพระอารามหลวงแห่งนี้ คือ พระสายน์ หรือ พระใส พระประธานที่ประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถ โดย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้อัญเชิญมาในปี ๒๔๐๑ พร้อมกับ พระแสง และ พระเสริม ซึ่งปรากฏตามหลักฐานว่า เป็นพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นในสมัยล้านนา

 นักวิชาการจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ค้นคว้าหลักฐานพบว่า พระพุทธรูปทั้ง ๓ องค์นี้ ได้อัญเชิญมาจากเมืองหลวงพระบาง ส.ป.ป.ลาว พร้อมกับ พระแก้วมรกต โดย พระชัยเชษฐาธิราช มาประดิษฐานในจังหวัดทางภาคอีสานของประเทศไทย

 พระราชบัณฑิต กล่าวด้วยว่า สมัยก่อนบริเวณที่สร้างวัดปทุมฯ เรียกว่า ทุ่งพญาไท ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานนามใหม่ว่า ปทุมวัน

 สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งของวัดปทุมฯ คือ เป็นที่ประดิษฐานพระสรีรังคาร หรือพระอัฐิส่วนถ่านเถ้าของ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก

 โดยมีหลักฐานยืนยันว่า ในขณะที่พระบรมราชชนกประชวรหนัก ได้กราบบังคมทูลพระราชชนนีในพระองค์ คือ สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ว่า

 "ถ้าลูกแดงเป็นอะไรไป ขอให้แม่ดัดแปลงโรงเรียนที่แม่สร้างไว้  และนำอัฐิอังคารของลูกแดงบรรจุไว้ที่นั้น เผื่อสังวาลย์กับลูกๆ จะได้ไปกราบไหว้ได้สะดวก"

  ซึ่งในสมัยนั้น สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือ สมเด็จย่า ยังเป็น หม่อมสังวาลย์ มหิดล ณ อยุธยา และ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อานันทมหิดล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช และ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ยังทรงฐานันดรเป็น พระเจ้าวรวงศ์เธอ

 พระบรมราชชนกจึงทรงห่วงใยว่า ครอบครัวจะลำบาก ในการไปสักการบูชาในพระบรมมหาราชวัง จึงทรงตั้งพระทัยที่จะให้บรรจุอัฐิไว้ที่วัดปทุมฯ เป็นการส่วนพระองค์

 นอกจากนี้ ฉัตรที่แขวนอยู่เหนือพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ก็ได้อัญเชิญมาแขวนไว้ในพระอุโบสถวัดแห่งนี้ด้วย

 รองเจ้าอาวาสวัดปทุมฯ กล่าวว่า "จากสถิติที่ทางวัดได้รวบรวมไว้ เป็นเรื่องแปลกที่พบว่า มีวัยรุ่นคนหนุ่มสาวมาเข้าวัดเป็นจำนวนมาก และคนที่เข้าวัดมากที่สุดในแต่ละวัน จะเป็นวัยรุ่นอายุ ๑๗-๑๙ ปี และวัยทำงาน ๓๐-๔๐ ปี ที่เข้ามาในวัด มากกว่าผู้ใหญ่อายุ ๖๐-๗๐ ปีเสียอีก  อาจจะเป็นเพราะว่า วัดอยู่ท่ามกลางความเจริญ และศูนย์การค้าชั้นนำก็ได้"

 จากการสอบถามผู้ที่เข้ามาในวัดปทุมฯ พบว่า หลายคนมีความรู้สึกว่า ได้ก้าวเข้ามาอีกโลกหนึ่ง ทึ่งในความงดงาม ความเงียบสงบของวัด และตั้งข้อสังเกตว่า วัดปทุมฯ อยู่ได้อย่างไร ท่ามกลางความเจริญที่เข้ามาล้อมรอบทุกด้าน เช่นนี้

 ด้าน นายเขมชาติ เทพชัย รองอธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า เมื่อปี ๒๕๔๙ กรมศิลปากร มีการบูรณะพระอารามหลวงทั่วประเทศ ในการนั้นได้บรรจุ พระเจดีย์วัดปทุมฯ ไว้ด้วย เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองโอกาสที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี

 "ในการบูรณะพระอุโบสถวัดปทุมฯ ครั้งนี้ กรมศิลปากรมีความยินดีอย่างยิ่ง ที่กลุ่มเซ็นทรัลให้ความสนใจ สนับสนุนการบูรณะวัดปทุมฯ เพื่อให้คงความสำคัญสืบไป ผมเชื่อว่า การปรับปรุงภูมิทัศน์ จะเป็นเรื่องต่อไปที่จะดำเนินการให้วัดแห่งนี้อยู่ท่ามกลางความเจริญของสังคม ดึงดูดให้ประชาชนเข้ามาศึกษาศาสนามากขึ้น ที่ผ่านมา วัดปทุมฯ พยายามรักษาเอกลักษณ์ของความเป็นป่าในเมืองไว้ได้เป็นอย่างดีที่สุด" รองอธิบดีกรมศิลปากร กล่าว

 ขณะเดียวกัน นางบุษบา จิราธิวัฒน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท เซ็นทรัลรีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวถึงวัตถุประสงค์ที่เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการบูรณะพระอุโบสถวัดปทุมฯ ว่า ถือเป็นนโยบายหนึ่งในการสนับสนุนศาสนา โดยเฉพาะวัดปทุมฯ ซึ่งมีรั้วเดียวกับเซ็นทรัลเวิลด์ ที่ดำรงสภาพของวัดท่ามกลางเมืองได้เป็นอย่างดี การได้รับเชิญมาร่วมบูรณะพระอุโบสถในครั้งนี้ ถือเป็นเกียรติอย่างยิ่งของกลุ่มเซ็นทรัล ครั้งแรกที่ได้เข้าไปในพระอุโบสถ เกิดความประทับใจกับภาพวาดจิตรกรรมฝาผนัง และเพดาน ที่วิจิตรสวยงามอย่างยิ่ง โดยเฉพาะพระประธานในพระอุโบสถ คือ พระสายน์ (พระใส) มีความงดงามมาก จึงอยากจะมีส่วนร่วมในการปรับภูมิทัศน์ของวัดปทุมฯ ให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่ง เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติให้เดินเข้ามาชมศิลปวัฒนธรรมไทยอันงดงามภายในวัดแห่งนี้

 "กิจกรรมที่กลุ่มเซ็นทรัลวางไว้ในโครงการนี้ คือ การประกวดถ่ายภาพวัดปทุมฯ การประกวดวาดภาพของนักเรียนชั้นประถมศึกษา และชั้นมัธยมศึกษา การจัดเสวนาเล่าความหลัง และวัฒนธรรมของวัดปทุม และการบรรพชาสามเณร ที่เริ่มต้นตั้งแต่ปีนี้ ไปจนถึงปี ๒๕๕๔ เป็นเวลา ๒ ปี นอกจากนี้ จะมีกล่องรับบริจาคของเซ็นทรัลรีเทล ที่จะตั้งไว้ตามห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลทุกสาขา เพื่อนำเงินทุกบาททุกสตางค์ สมทบในการบูรณะพระอุโบสถวัดปทุมฯ อีกด้วย"  นางบุษบา กล่าว
 
"สันทนา รัตนอำนวยศิริ"