นกกระจอกใหญ่
นกกระจอกใหญ่ : คอลัมน์นกป่าสัปดาห์ละตัว
ปฏิเสธไม่ได้ว่านกที่ปรับตัวได้ดีที่สุดให้สามารถอาศัยอยู่ในสังคมเมืองของมนุษย์คือ นกพิราบป่า (Rock Pigeon) และ นกกระจอกใหญ่ (House Sparrow) ทั้งสองชนิดประสบความสำเร็จมากในการขยายพันธุ์ทั้งในเขตร้อนและเขตหนาวทั่วโลก ผู้เขียนคิดว่าชื่อไทยแบบเป็นทางการของชนิดแรกจริงๆ แล้วไม่ค่อยเหมาะสมเท่าไหร่ เพราะมันไม่ได้อาศัยอยู่ในป่า และนกที่พบทั่วทั้งประเทศไทยมีบรรพบุรุษคือนกที่ถูกจับมาเลี้ยง ไม่ได้เป็นนกที่มีอยู่ดั้งเดิมตามธรรมชาติ ส่วนชนิดหลังนั้นแม้ในอดีตกาลจะไม่พบในเมืองไทย แต่เมื่อสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติส่วนใหญ่ถูกเปลี่ยนเป็นบ้านเรือนและพื้นที่กสิกรรม มันก็เพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว ว่ากันว่าขยายมาจากประชากรเล็กๆ ทางภาคตะวันตก จากสถานภาพ "นกหายาก"ของไทยกลายมาเป็น "นกโหล" ภายในไม่กี่ทศวรรษ
ความสำเร็จของนกกระจอกใหญ่มาจากความเก่งกาจเรื่องการปรับตัว ทั้งในเรื่องของถิ่นอาศัยและอาหารการกินเช่นเดียวกับ นกกระจอกบ้าน (Eurasian Tree Sparrow) นอกจากนี้นกกระจอกใหญ่ที่อาศัยอยู่ในเขตร้อนอย่างบ้านเรายังผสมพันธุ์ออกลูกออกหลานตลอดทั้งปีเช่นเดียวกัน
นกกระจอกใหญ่ตัวผู้ มีลักษณะเด่นคือวงแก้มสีขาวที่ล้อมด้วยแถบคาดตาสีน้ำตาลแดง และสีดำที่คอ กระหม่อมและตะโพกสีเทา จงอยปากสีดำ นกในชุดขนนอกฤดูผสมพันธุ์มีสีสันจืดชืดกว่า ส่วนตัวเมียมีสีน้ำตาลอ่อนทั่วทั้งตัว ดูเผินๆ คล้าย นกกระจอกตาล (Plain-backed Sparrow) ต่างกันตรงที่หลังนกกระจอกใหญ่มีลายและมีลำตัวด้านล่างสีอ่อนกว่า
ในประเทศไทยเรามักพบนกกระจอกใหญ่ได้ง่ายตามชานเมืองมากกว่าในตัวเมืองใหญ่ อาจทำรังโดยการใช้เศษหญ้าแห้งๆ มาสานหรือทำรังในรูต้นไม้ที่ถูกเจาะโดย นกตีทอง (Coppersmith Barbet) มักทำรังใกล้ๆ กันหลายคู่ บ่อยครั้งพบทำรังใกล้กับนกกระจอกบ้านและยังหากินร่วมกันด้วย นกกระจอกบ้านในเขตอบอุ่นและเขตหนาวมีอุปนิสัยก้าวร้าวในช่วงฤดูผสมพันธุ์ บางครั้งถึงขนาดทำลายไข่และลูกนกชนิดอื่นเพื่อแย่งโพรงรัง
นกกระจอกใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งตัวผู้มีแก้มสีขาวนั้นจัดเป็นชนิดย่อย indicus บางครั้งก็จัดเป็นคนละชนิดกับทางทวีปยุโรปที่มีแก้มสีเทา ปัจจุบันพบได้ทั่วไปทุกภาคในประเทศไทยรอบๆ ชุมชน บ้านคน แต่ภาคใต้ยังคงพบได้เฉพาะใน จ.ชุมพร แต่ก็มีแนวโน้มที่จะขยายลงไปทางใต้เรื่อยๆ เช่นเดียวกัน
...................................................
(นกกระจอกใหญ่ : คอลัมน์นกป่าสัปดาห์ละตัว)