
บ้านปลาราชินี ณ นราธิวาส
ชวนเที่ยว : บ้านปลาราชินี ณ นราธิวาส : เรื่อง - กิตตินันท์ รอดสุพรรณ
สำเนียงอันมักคุ้นของ จรูญ ทองนวล แจ้งจากปลายด้ามขวานว่า อยากให้มาร่วมเก็บภาพแหล่งปะการังเทียมในอ่าวนราธิวาส ตามโครงการฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งทะเลอันเนื่องมาจากพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งมีทั้งรถถัง 30 T69-2 ปลดประจำการเมื่อปี 2547 ลูกบาศก์คอนกรีต ตู้โบกี้รถไฟ รถน้ำและรถขยะของกรุงเทพมหานคร รวมแล้วนับร้อยคัน เบื้องต้นตัดสินใจตกปากรับคำโดยที่รู้ว่าต้องจัดหาอุปกรณ์ในการถ่ายภาพเพิ่มเติมอีกมากมายก็ตามที
โครงการประมวลภาพถ่าย รักษ์ดิน รักษ์น้ำ รักษ์ป่า รักมหาราชินี เนื่องในโอกาสเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา โดยผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส อภินันท์ ซื่อธานุวงค์ ทำให้ผมและเพื่อนร่วมทีมอีก 5 ชีวิต เดินทางลงสู่ปลายด้ามขวานอีกครั้ง แต่ครั้งนี้เป็นการลงไปในระดับที่ลึกกว่าที่เคยสัมผัสในดินแดนแถบนี้ ยิ่งดำดิ่งลงไปอยู่ท่ามกลางแนวปะการังเทียมยิ่งทำให้รู้ได้เลยว่า ทะเลบริเวณส่วนนี้ของอ่าวไทยยังมีที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์อยู่มาก
งานนี้ไม่มีพี่เลี้ยงคอยจัดการแผนการดำน้ำให้เหมือนการซื้อทัวร์ไปดำน้ำตามแหล่งท่องเที่ยวชื่อดัง ทีมงานต้องวางแผนปรึกษากันเองล่วงหน้าก่อนลงน้ำ ใช้เวลาติดต่อเตรียมการต่างๆ ราวหนึ่งเดือน สุดท้ายจึงเลือกวันที่กระแสน้ำค่อนข้างนิ่งในกลางเดือนกรกฎาคม
เมื่อถึงวันเดินทางที่รอคอย อุปกรณ์ถ่ายภาพใต้น้ำที่จำเป็นและมากขั้นตอนกว่าบนบกมากมาย มีทั้งหยิบยืมและจัดซื้อมาจนคิดว่าพร้อม พาร่างกายที่เกือบจะกรอบจากการเร่งเคลียร์งานต่างๆ ขึ้นรถมุ่งหน้าสู่ปลายด้ามขวาน เมื่อเข้าเขตพื้นที่ที่เคยเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในยามค่ำคืน เริ่มพบเห็นด่านตรวจเป็นระยะๆ ตลอดเส้นทาง พอให้รู้สึกอุ่นใจ สุดท้ายถึง นราธิวาส ด้วยความปลอดภัย ร้านอาหารยามค่ำคืนมีให้เห็นโดยตลอดในเขตชุมชน ข้าวต้มมื้อดึกถูกจัดการอย่างรวดเร็ว ก่อนแยกย้ายไปนอนด้วยความเหนื่อยล้า
แผนการดำน้ำครั้งนี้ตั้งเป้าไว้ 2 วันบวก 1 เผื่อว่าต้องเสริมสิ่งที่ตกหล่น เช้าวันแรกมุ่งหน้าสู่บริเวณที่รถถังถูกส่งลงไปประจำการที่มั่นสุดท้ายใต้ทะเล ห่างจากฝั่งไปประมาณ 11 กิโลเมตร โดยอาศัยความชำนาญของไต๋เรือหาปลาท้องถิ่นที่รู้จักคุ้นเคยกับท้องทะเลแห่งนี้เป็นอย่างดี ร่วมกับพิกัดดาวเทียมของประมงจังหวัด โดยมีท่านผู้ว่าฯ มาร่วมส่งนักดำน้ำลงสู่ท้องทะเลถึงบนเรือ
พวกเรา 6 ชีวิตค่อยๆ ดำดิ่งสู่โลกสีคราม ด้วยแรงถ่วงของตะกั่วที่พันอยู่รอบเอว แรงดันของน้ำเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนต้องปรับแรงดันในช่องหูด้วยการบีบจมูกแล้วหายใจแรงๆ หนึ่งครั้ง ทำอย่างนี้ไปเรื่อยจนกว่าจะไม่รู้สึกหูอื้อ ส่วนสายตาก็จดจ้องอยู่กับอุปกรณ์ถ่ายภาพว่ามีฟองอากาศผุดออกมาจากส่วนต่างๆ หรือไม่ เพราะไม่อยากเดินเข้าชมรมน้ำเข้ากล้องอีกรอบ ประสบการณ์ครั้งแรกยังคงสอนให้ระมัดระวังอย่างที่สุด โดยมี "เอก" ธงเอกอากรณ์ ชยาสนา เป็นผู้รักษาเวลาการดำน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดอย่างเข้มงวด เพราะอาจก้มหน้าก้มตาดำน้ำเก็บภาพจนเกินเวลาที่สามารถอยู่ได้อย่างปลอดภัย
เงาเลือนรางเบื้องหน้าทำให้รู้ว่าเข้าที่หมาย ปะการังเทียม เมื่อเข้าไปใกล้ก็พบว่าเป็นรถขนขยะของ กทม. สังเกตได้ชัดเจนจากเค้าโครงและสีเหลืองที่ยังไม่ผุกร่อน ช่องบรรทุกที่เคยเต็มไปด้วยขยะนานาชนิดระหว่างที่ยังให้บริการเก็บขยะมูลฝอยจากชุมชน ถึงตอนนี้มีปลาน้อยใหญ่ว่ายเข้าออกอย่างอิสรเสรี ไม่ต่างจากแนวปะการังตามธรรมชาติ ฉลามกบขนาดย่อมๆ กำลังปฏิบัติภารกิจติดเรตเอ็กซ์เพื่อเพิ่มประชากร อยู่ระหว่างตู้ขนขยะที่ผนังถูกจับจองด้วยเพรียงและหอยนานาชนิด "ปะการังอ่อน" สัตว์ทะเลอีกชนิดหนึ่งของระบบนิเวศใต้ทะเลเพิ่งเริ่มแตกกิ่งก้านเล็กๆ ที่พลิ้วไหวตามกระแสน้ำ มีแขนงขนาดจิ๋วคอยดักจับแพลงตอนกินเป็นอาหาร แต่อย่าเผลอไปแตะเข้า เพราะเห็นบอบบางอย่างนี้ซ่อนพิษร้ายเอาไว้ให้ได้เจ็บปวดและจดจำเป็นบทเรียน
การลงน้ำในไดฟ์แรกพลาดเป้าอย่างแรง เพราะทั้งทีมตั้งใจจะเก็บภาพรถถังก่อนเป็นอันดับแรก เพราะถูกนำมาวางเป็นปะการังเทียมเพียงไม่กี่แห่งในโลก ถือเป็นไฮไลท์ของที่นี่ ไดฟ์ต่อไปจึงตั้ง จีพีเอส ตามพิกัดที่ได้มาบวกกับซาวเดอร์ เพื่อค้นหารถถังขนาดกลาง 30 T69-2 ให้ได้สักคันจากทั้งหมด 25 คัน ที่ถูกส่งมาประจำการณ์ในภารกิจสุดท้าย คอยปกป้องสัตว์น้ำจากเรืออวนลากทุกชนิด จำได้วันที่มีการปล่อยรถถังลงน้ำนั้น ตัวเองก็ยืนอยู่ที่เรือมองดู ด้วยความเสียดายที่ไม่มีโอกาสได้เข้าร่วมเก็บภาพในวันนั้น ได้แต่หวังว่าวันหนึ่งจะลงมาดำน้ำที่นี่ให้ได้ และวันนี้เอง...ความฝันนั้นมาถึงแล้ว
วันแรกของการดำน้ำผ่านไปโดยไม่สามารถหาตำแหน่งที่ถูกต้องของรถถังได้ แต่ความหวังยังมีในวันต่อไป เมื่อมีผู้รู้แจ้งข่าวให้มองหาทุ่นลอยน้ำเป็นเครื่องหมาย อยู่ห่างออกไปราว 200-300 เมตร จากจุดที่ลงดำน้ำเมื่อวานนี้ ความหวังที่จะลงดำน้ำบริเวณรถถังใกล้เป็นจริงขึ้นมาแล้ว ทุ่นโฟมขนาดเน็ตบุ๊กลอยอยู่ท่ามกลางทะเลเวิ้งว้าง แต่เป็นที่น่าสงสัยว่า ทำไมเมื่อวานไม่สามารถสังเกตเห็นได้ แต่เพื่อความชัวร์จึงส่ง (พล) เอก ซึ่งรับหน้าที่เป็นเซฟตี้ลงไปสำรวจท้องน้ำว่าเป็นตำแหน่งรถถังจริงหรือไม่ ก่อนที่จะปล่อยถุงลมรูปไส้กรอกขึ้นมาเป็นการยืนยันตำแหน่งถูกต้อง เพื่อให้นักดำน้ำที่เหลือโรลแบ็ก มุดน้ำตามลงไป ที่ความลึกประมาณ 22 เมตร เราทั้งหมดได้พบกับกลุ่มรถถัง จอดนิ่งสนิทดำทะมึนดูน่าเกรงขาม สมกับสมญา "ราชินีแห่งสนามรบ" แต่ปลาน้อยใหญ่คงรู้เพียงว่าที่นี่สามารถหลบภัยและเป็นที่อาศัยได้
ปลาปักเป้าขนาดใหญ่ว่ายน้ำเล่นอย่างช้าๆ อยู่ใกล้กับกระบอกปืนใหญ่ ก่อนว่ายหลบหายไปเมื่อพยายามเข้าใกล้มัน สภาพน้ำที่ขุ่นกว่าวันก่อน และอากาศที่ครึ้มฟ้าครึ้มฝน ตะกอนแขวนลอยจำนวนมาก ทำให้ทัศนวิสัยใต้น้ำต่ำ เพียง 10-15 เมตรเท่านั้น เป็นปัญหาใหญ่ของการบันทึกภาพสิ่งของใหญ่โตแบบนี้ เพราะโอกาสที่จะใช้แฟลชกระจายให้ทั่วถึงเป็นไปได้ยาก เลนส์มุมกว้างมากๆ จนถึงเลนส์ตาปลาที่สามารถเข้าใกล้ได้มากๆ ลดการบดบังซ้ำซ้อนของตะกอน พอช่วยให้บันทึกภาพได้บ้าง
ลอบดักปลาถูกวางอยู่ใกล้กับแนวปะการังเทียม เพื่อดักปลาเศรษฐกิจ อย่างปลากะพง ปลาสาก ปลาเก๋า ปลาหมอทะเล ที่พากันวนเวียนอยู่ในแนวปะการังเทียม เพื่อฮุบปลาเล็กที่มีอยู่มากมายเป็นอาหาร เป็นข้อยืนยันได้เป็นอย่างดีว่า แนวปะการังเทียมเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำได้จริง และมีประโยชน์ต่อการทำประมงพื้นบ้านเป็นอย่างยิ่ง เพราะสามารถประหยัดค่าน้ำมันที่ไม่ต้องออกไปหาปลาไกลจากชายฝั่ง จับปลาได้มากขึ้นเพิ่มรายได้ ด้วยอุปกรณ์จับปลาชนิดที่ไม่เป็นการเอาเปรียบผู้ถูกล่ามากเกินไป จะทำให้อาชีพประมงนี้ยั่งยืนต่อไปได้
ผลพลอยได้อีกด้านหนึ่งของการวางแนวปะการังเทียมจากสิ่งของต่างๆ คือ ทำให้การท่องเที่ยวดำน้ำมีความหลากหลาย เพราะปกติมีโอกาสสัมผัสสิ่งของพวกนี้น้อยมากในทุกมิติ ทำให้มีเรือพานักท่องที่ยวมาดำน้ำที่จุดนี้บ่อยครั้ง แต่ชาวนราธิวาสได้ประโยชน์น้อยมาก เพราะเรือจะออกจากสงขลาตรงมาที่นี่ เนื่องจากยังไม่มั่นใจในสวัสดิภาพหากจะมาพักบนฝั่ง เป็นที่น่าเสียดายว่าเหตุการณ์ที่มีภาพความรุนแรงทำให้ชาวบ้านสูญเสียประโยชน์ที่ควรจะได้รับไปด้วย
--------------------
ภาพถ่ายทั้งหมดจะประมวลนำไปจัดนิทรรศการที่ศาลาทรงงาน พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ ในวันที่ 25 สิงหาคม 2555 และงาน "ของดีเมืองนรา" ในเดือนกันยายน ร่วมกับภาพถ่ายงานศิลปาชีพและสวนป่าพระนามาภิไธยภาคใต้ ส่วนที่ 2 (ป่าสิริกิติ์) พร้อมทั้งการจัดทำสมุดภาพเฉลิมพระเกียรตินับตั้งแต่ปี 2516 ที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จแปรพระราชฐาน ณ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ จ.นราธิวาส
--------------------
(บ้านปลาราชินี ณ นราธิวาส : เรื่อง - กิตตินันท์ รอดสุพรรณ <[email protected]>)