ไลฟ์สไตล์

ทางเลือกใหม่เทียบวุฒิม.6

ทางเลือกใหม่เทียบวุฒิม.6

20 ส.ค. 2555

'เอ็นซีอีเอ' ทางเลือกใหม่ ยืดหยุ่น-เทียบวุฒิ ม.6 ง่าย : โดย ... ขวัญเรียม แก้วสุวรรณ

          ชายร่างท้วมสูงใหญ่ ผมสีทอง แลดูอบอุ่นคล้ายซานตาคลอส มร.ริชาร์ด ธอร์นตัน รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ฝ่ายวุฒิการศึกษาส่วนภูมิภาค อดีตอาจารย์ใหญ่โรงเรียนมัธยมศึกษาในประเทศนิวซีแลนด์กว่า 10 ปี เดินทางมาเยือนไทย เพื่อหยิบยื่นโอกาสให้แก่เด็กไทยที่ต้องการไปศึกษาต่อที่ประเทศนิวซีแลนด์ โดยไม่ต้องกังวลว่าไปแล้วจะเรียนไม่ได้ คะแนนที่ไม่ถึงเกณฑ์ ทำให้ไม่จบ

 

          เพราะล่าสุด มร.ธอร์นตัน พยายามกว่า 15 ปีคิดเกณฑ์การวัดผลให้สอดคล้องกับตัวผู้เรียนมากที่สุด ซึ่งก็คือหลักสูตร National Certificate of Educational Achievement (NCEA) หรือ "เอ็นซีอีเอ" หลักสูตรที่ยืดหยุ่นช่วยให้นักเรียนไทยใช้ใบรับรองวุฒิการศึกษา "เอ็นซีอีเอ" ของนิวซีแลนด์เทียบวุฒิ ม.6 เพื่อกลับมาศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาไทยได้ง่ายขึ้น เพียงแค่นำวุฒิ "เอ็นซีอีเอ" ไปที่กระทรวงศึกษาธิการไทย ขอปรับเปลี่ยนเป็นวุฒิ ม.6 แค่เพียงยื่นเอกสาร ก็จะได้เอกสารกลับมาทันที

          "เมื่อก่อนต้องยอมรับว่าเด็กไทยที่ไปเรียนที่นิวซีแลนด์สอบไม่ผ่าน สอบตกกันเยอะ ทั้งๆ ที่เขามีอะไรดีๆ อยู่ในตัวมากมาย แต่วันนี้เชื่อว่า เด็กๆ เหล่านี้จะต้องได้รับการศึกษาที่เป็นความต้องการและสอดคล้องกับศักยภาพของตนเองมากที่สุด เช่น ต้องการเรียนเลข ก็ต้องมาดูว่าเลขอะไร เลขสำหรับเข้ามหาวิทยาลัย หรือว่าเลขสำหรับการซ่อมรถ เลขเชิงลึก แต่ไม่ใช่ว่าใครเรียนด้านไหนก็เรียนด้านนั้นอย่างเดียว จะต้องเรียนดนตรี ศิลปะ และวิชาอื่นๆ ควบด้วย จุดสำคัญมันอยู่ที่การวัดผลว่าจะวัดอย่างไร ซึ่งหลักสูตรมีเกณฑ์วัดในสิ่งที่เป็นตัวเด็กมากที่สุด" มร.ธอร์นตัน อธิบาย

          "เอ็นซีอีเอ" เป็นหลักสูตรที่คิดขึ้นมา 15-20 ปีแล้ว มีผลผลิตที่มีคุณภาพ จบออกไปได้วุฒิการันตีผลงานศึกษาเรียนต่อมหาวิทยาลัยได้ทั่วโลก ในประเทศไทย เช่น จุฬาฯ มหิดล ธรรมศาสตร์ ฯลฯ ส่วนต่างประเทศ เช่น ออกซ์ฟอร์ดในสหราชอาณาจักร ฮาร์วาร์ดในสหรัฐอเมริกา 

          มร.ธอร์นตัน เล่าว่า ความพิเศษของหลักสูตรจะมีความยืดหยุ่นสูง สามารถเลือกวิชาเรียนที่สอดคล้องกับความสามารถและความสนใจของนักเรียนแต่ละคน หลากหลายกว่า 40 วิชา ตามที่แต่ละโรงเรียนจะมีให้เลือก แต่หากนักเรียนคนไหนสนใจวิชาอาชีพเฉพาะทางก็สามารถเลือกวิชาตรงกับสายอาชีพในอนาคตได้ โดย "เอ็นซีอีเอ" จะเอื้อให้แต่ละโรงเรียนพัฒนาหลักสูตรที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียน และประเมินความรู้นั้นๆ เทียบเท่ามาตรฐาน 

          ทั้งนี้ หลักสูตรส่วนใหญ่จะต้องผ่านการทดสอบหรือประเมิน ทั้งการประเมินภายใน (มาตรฐานของแต่ละโรงเรียน) และประเมินภายนอก (ตรวจสอบมาตรฐานประจำปี ซึ่งกำหนดและให้คะแนนโดย New Zealand Qualifications Authority (NZQA) และมีหน่วยงานรับผิดชอบงานด้านการจัดกรอบโครงสร้างวุฒิการศึกษาของประเทศ (New Zealand Qualifications Freamework) กำกับดูแลระบบประเมินคุณภาพโรงเรียนมัธยมศึกษา ซึ่งจากการเปรียบเทียบระดับนานาชาติ พบว่า นิวซีแลนด์เป็นประเทศที่มีระบบการศึกษาที่ดีที่หนึ่งในโลก ผลการศึกษาเมื่อปี 2009 โดย Programme for International Student Assessment (PISA) ชี้ว่า นิวซีแลนด์ได้คะแนนสูงสุดในกลุ่มประเทศสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic Co-operation and Development-OECD) ที่นักเรียนมีคะแนนนำในด้านการอ่าน คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และจากรายงานของโออีซีดี ประจำปี 2012 เกี่ยวกับการศึกษาของนิวซีแลนด์ ระบุว่า การประเมินตามมาตรฐานเอ็นซีอีเอ เป็นระบบประเมินมาตรฐานคุณภาพการศึกษาชั้นนำของโลกและเน้นนักเรียนเป็นศูนย์กลาง

          "เราต้องการให้นักเรียนได้เรียนตามที่ตนเองชอบ และที่สำคัญคือ ต้องการประยุกต์ความรู้ด้านวิชาการให้เข้ากับสายอาชีพ เพราะอนาคตข้างหน้านักเรียนต้องทำงาน เช่น การเรียนวิชาการถ่ายภาพ ซึ่งต้องได้ใช้กล้อง เราจะไม่ให้เรียนหรือออกข้อสอบให้บอกว่า กล้องมีส่วนประกอบอะไรบ้าง แต่ละอย่างใช้งานอย่างไร แต่เราจะให้นักเรียนใช้กล้องจริง และบอกว่าใช้ยังไง และไม่ใช่ใช้ได้และรู้ว่าส่วนนั้นคืออะไร แต่ต้องบอกให้ได้ด้วยว่า แสงสะท้อนยังไง ต้องบอกค่าทางฟิสิกส์ให้ได้ด้วย" มร.ธอร์นตัน กล่าว

 

          จากนี้ไปถึงอนาคต "เอ็นซีอีเอ" อาจเป็นหลักสูตรทางเลือกใหม่ที่สร้างความมั่นใจให้แก่นักเรียนไทยที่ต้องการไปศึกษาต่อประเทศนิวซีแลน์ ตามศักยภาพตนเอง พร้อมจบออกมาด้วยคุณภาพระดับโลก ท้ายที่สุดนำไปสู่ให้แต่ละประเทศมีความรู้มากขึ้น โดยใช้ "เอ็นซีอีเอ" เป็นสะพานให้ถึงจุดหมายตามที่ต้องการเดินไป สนใจข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.nzqa.govt.nz/ncea

 

 

--------------------

('เอ็นซีอีเอ' ทางเลือกใหม่ ยืดหยุ่น-เทียบวุฒิ ม.6 ง่าย : โดย ... ขวัญเรียม แก้วสุวรรณ)