ไลฟ์สไตล์

'ปูดอง'โอท็อป'บ้านต้นแพน'

'ปูดอง'โอท็อป'บ้านต้นแพน'

30 ส.ค. 2555

สัมผัสวิถีชุมชน 'บ้านต้นแพน' จากอาชีพดองปูสู่หมู่บ้านโอท็อป : โดย ... สุรัตน์ อัตตะ

          ท่ามกลางกระแสโลกในยุคโลกาภิวัตน์ที่รับเอาความเจริญทางด้านวัตถุไปสู่ชุมชนทุกหัวระแหง แต่สำหรับชุมชนบ้านต้นแพน ใน ต.ยี่สาร อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม ยังคงยึดมั่นใจวิถีชีวิตดั้งเดิม โดยคนในชุมชนส่วนใหญ่ยังยึดอาชีพทำนากุ้งแบบธรรมชาติและดักปูแสมขายเพื่อเป็นรายได้เลี้ยงครอบครัวมาตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน 

 

          สมศักดิ์ แสงสุริยา ประธานกรรมการชุมชนหมู่บ้านต้นลำแพน เล่าว่า หมู่บ้านนี้ตั้งมาเป็นร้อยปีแล้ว เป็นหมู่บ้านที่ถูกปิดมาโดยตลอด ห่างไกลจากตัวจังหวัดประมาณ 50 กิโลเมตร เมื่อก่อนติดต่อกันด้วยทางน้ำเป็นหลัก เพิ่งมีถนนเกิดขึ้นในช่วงสิบปีมานี่เอง โดยชาวบ้านที่นี่มีอาชีพหลักคือการทำนากุ้ง และดักปูแสม ซึ่งทำกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ โดยนากุ้งที่นี่จะเลี้ยงแบบธรรมชาติไม่ใส่สารเคมี ไม่ได้ให้อาหาร เนื้อกุ้งจึงอร่อยมาก ซึ่งเป็นวิถีชีวิตของชาวบ้านต้นลำแพน ส่วนการดูแลความเป็นระเบียบของชุมชนจะมีมาตรการทางสังคม เช่น ใครทำผิดกฎระเบียบที่คนในชุมชนร่างขึ้นมาจะมีบทลงโทษที่ชัดเจน จะเป็นที่รู้กัน เพราะเป็นกฎเหล็กของหมู่บ้าน

          "เดิมทีที่นี่มีต้นลำแพนอยู่เป็นจำนวนมาก นำไม้ลำแพนมาเผาถ่าน ลูกลำแพนมีรสเปรี้ยวก็เอามากวนได้ ปัจจุบันก็ยังทำกันอยู่เป็นชุมชนแบบพอเพียง พึ่งพาอาศัยชึ่งกันและกัน เช่น บ้านนี้มีปลา ก็มาแลกผัก เป็นต้น โดยศาลเจ้าแม่ปากแพรกกระเทียม เป็นสิ่งยึดเหนี่ยวของคนในชุมชน เป็นสิ่งที่ชาวบ้านต้นลำแพนนับถือมาโดยตลอด"   

          ประธานชุมชนคนเดิมเล่าถึงอาชีพการดักปูแสมของคนที่นี่จะดักด้วยกระป๋อง โดยนำกระป๋องไปวางที่รูปูแต่จะดักเฉพาะปูตัวใหญ่ ตัวเล็กจะไม่ดัก แต่ถ้าดักขึ้นมาได้จะต้องปล่อยไป เพราะเราจะปลูกฝังเยาวชนให้อนุรักษ์ปูแสม โดยปูตัวเล็กจะไม่จับ มีกฎของวิถีชุมชน คือถ้าใครดักปูตัวเล็กไปจำหน่ายให้พ่อค้า ถ้ารู้ว่าเป็นปูของใครจะมีบทลงโทษคือจะไม่ให้ความช่วยเหลือต่างๆ จากคนในชุมชน 

          "ปูแสมที่เราดักได้เอาไปบริโภค ต้มหรือดองก็ได้ แต่สินค้าที่จะเป็นสินค้าของฝากหรือสินค้าโอท็อปของบ้านต้นลำแพน ก็ต้องเป็นปูดอง ส่วนวิธีการดองคือ ตีน้ำเกลือ หรือน้ำปลาก็ได้ แล้วเอาปูแสมมาล้างให้สะอาด แล้วใส่ลงไป ถ้าดองเกลือ ถ้าเอาเค็มมากก็ 1 คืน ถ้าเค็มน้อยก็ครึ่งคืน แต่ 1 คืนจะอร่อยกว่า คุณสมบัติของปูดองบ้านต้นลำแพนคือจะมีมันเหลือง การเก็บคือใส่กล่อง และเอาน้ำออก แล้วใส่ตู้เย็น จะทำให้เก็บไว้ได้นาน"  

          ลุงสิน ดีไสว ปราชญ์ชาวบ้านผู้ประดิษฐ์กระป๋องดักปูแสมแห่งบ้านต้นลำแพนอธิบายการประดิษฐ์กระป๋องดักปูแสม โดยใช้กระป๋องนมทั่วไป เปิดฝาด้านหนึ่งออกไปแล้วนำมาทุบให้เรียบจากนั้นเอาไม้เข้าไปวางบนฝาเอาลวดยึดไว้ ใช้ลวดดามฝากับกระป๋องติดกัน และใช้ลวดเป็นตัวเกี่ยวเหยื่อ ทำเป็นตะขอเบ็ด จากนั้นนำไปวางที่ปากรูปู เมื่อปูคลานเข้ามาคีบเหยื่อแล้วลากออกมา กระป๋องก็จะปิดทันดี ปูจะอยู่ด้านในกระป๋อง โดยจะวางประมาณ 150 กระป๋องต่อวันก็จะดักปูได้ประมาณ 75 ตัวโดยประมาณ

          ด้าน ปราโมทย์ ชูสวัสดิ์ นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ (พัฒนากร)อำเภอยี่สาร กล่าวเสริมว่า จุดเด่นของหมู่บ้านต้นลำแพน คือชุมชนมีความพร้อม ผู้นำพร้อม คนในชุมชนให้ความร่วมมือดีมาก สภาพความเป็นอยู่ของคนที่นี่มีอาชีพหลักคือการทำประมง ดักปูแสม เลี้ยงปู กุ้ง และปลา มีการวางอวนในแม่น้ำลำคลอง และหมู่บ้านแห่งนี้ก็ติด 1 ใน 8 ของหมู่บ้านโอท็อปเพื่อการท่องเที่ยวในปีนี้ด้วย  

          "ขณะนี้กรมพัฒนาชุมชนได้สนับสนุนงบประมาณมาให้จำนวน 8 แสนบาท เพื่อจะเป็นการอบรมเชิงปฏิบัติการผู้นำชุมชน และประชาชนครัวเรือนเป้าหมายคือหมู่ที่ 3 บ้านต้นลำแพน ตลอดจนการปรับปรุงภูมิทัศน์ จุดรองรับนักท่องเที่ยวขยายให้กว้างขึ้น เราไม่ได้หวังว่าจะมีนักท่องเที่ยวมามากมาย แต่ก็จะเปิดตัวหมู่บ้านนี้ให้เป็นที่รู้จักเพื่อเป็นรายได้ให้ชุมชน" 

 

          หมู่บ้านต้นลำแพน นับเป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงเปิดใหม่เพื่อการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ โดยมีผลิตภัณฑ์โอท็อปที่ขึ้นชื่อก็คือปูแสมดองเค็มที่ทำรายได้ให้คนในชุมชนแห่งนี้มายาวนาน

 

 

--------------------

(สัมผัสวิถีชุมชน 'บ้านต้นแพน' จากอาชีพดองปูสู่หมู่บ้านโอท็อป : โดย ... สุรัตน์ อัตตะ)