ไลฟ์สไตล์

"อีเห็น" ตัวเดียว

"อีเห็น" ตัวเดียว

28 ก.ย. 2555

เหตุเกิดเมื่อวันที่ 17 กันยายนที่ผ่านมา ได้มีนายอำเภอสามร้อยยอดและผู้กำกับสถานีตำรวจภูธรอำเภอสามร้อยยอด ได้เข้านั่งที่ร้านข้าวต้มของน้าชายผม และพอดีว่าน้องสาวได้นำ “อีเห็น” ออกมาเล่น

 นายอำเภอเห็นเข้าจึงได้บอกว่าขอซื้อต่อ 100 บาท จะเอาไปผัดกะเพรา น้องสาวผมจึงนำตัวอีเห็นออกมา นายอำเภอก็พูดอีกว่าเอามานี่จะเอาไปปล่อย น้องสาวผมเลยทำหน้าไม่พอใจและพูดไปว่า ถ้าจะเอาไปปล่อยหนูปล่อยเองได้
 นายอำเภอไม่พอใจ จึงสั่งให้เรียกผู้ใหญ่มาคุย นายอำเภอไม่พอใจจึงโทรตามน้าชายผมออกมาจากบ้าน และผู้กำกับได้เรียกตำรวจมานำตัวน้าชายผมไปที่โรงพัก ทางบ้านทราบข่าวจึงจะไปประกันตัว แต่ไม่สามารถประกันตัวได้ ตำรวจอ้างว่าติดต่อนายอำเภอและผู้กำกับไม่ได้
 นายอำเภอได้แจ้งข้อหาน้าผมพร้อม ให้นำหลักทรัพย์มาประกันตัวจำนวน 2 แสนบาท "ข้อหามีสัตว์ป่าคุ้มครองไว้ในครอบครอง" โดยได้ลงบันทึกประจำวันว่าน้าชายของผมได้ครอบครอง” ชะมด” (อีเห็นกลายเป็นชะมดไปได้ยังไง) และบังคับให้น้าผมเซ็นรับทราบข้อกล่าวหา พร้อมทั้งอายัดของกลาง (อีเห็น) ไปให้ทางกรมป่าไม้ตรวจสอบ และได้ให้ประกันตัวปล่อยน้าผมออกมา ทางตำรวจยังได้ขอเงินเติมน้ำมัน 1,000 บาท เพื่อที่จะนำอีเห็นไปตรวจสอบ
 หลังจากนั้น 2 วัน ทางบ้านผมก็ได้รับหนังสือจากกรมป่าไม้ แจ้งว่า ของกลางที่ได้นำมาตรวจสอบนั้นคือ “อีเห็น” ไม่ได้เป็น “ชะมด” อย่างที่ได้ลงไว้ในสำนวนการแจ้งข้อหาของบันทึกประจำวัน และอีเห็นนั้น "ไม่ได้” เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองและอุนญาตให้สามารถเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยงได้ พร้อมทั้งได้แจ้งให้ส่งคืนของกลางทันที
 ไม่นานทางบ้านได้รับการติดต่อจากนายอำเภอว่าจะช่วยเหลือเปลี่ยนสำนวนให้ จากชะมดเป็นสัตว์อื่น แต่ไม่คืนของกลาง ทำเป็นมาพูดว่าจะช่วยเหลือโดยที่ไม่ทราบว่ามีหนังสือแจ้งมาจากกรมป่าไม้แล้ว และบอกว่าถ้าไม่รับการช่วยเหลือก็จะส่งเรื่องฟ้องศาล จึงได้แจ้งกลับไปว่าได้รับหนังสือแจ้งจากกรมป่าไม้ว่าอีเห็นไม่ใช่ชะมด ทำไมต้องเขียนในสำนวนว่าเป็นชะมด
 ทำไมผู้ที่มีอำนาจจึงใช้อำนาจรังแกประชาชน แล้วอิสรภาพที่น้าผมสูญเสียไปในคุก นายอำเภอแค่พูดว่า "แล้วไปแล้วอย่าใส่ใจ” มันถูกต้องหรือ
 ผ่านไปหลายวันจนวันนี้ (26 ก.ย.) เพิ่งจะได้ตัวอีเห็นคืนจากตำรวจ อีเห็นตัวนี้ ป้าผมเจอมาจากในไร่ที่บ้าน มันทำรังอยู่บนต้นไม้ ต้นไม้โค่นลงเพราะลมแรง อีเห็นหล่นลงไปในบ่อน้ำหลายตัวแต่ป้าผมช่วยไว้ได้ตัวเดียว จึงเลี้ยงไว้ไม่ได้ไปจับมาจากในป่า 
ชาวบ้านโดนรังแก
ตอบ
 
 นายนรินทร์ ทรงนิพิฐกุล นายอำเภอสามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์ ชี้แจงว่า เรื่องจริงๆ ไม่มีอะไร ไปนั่งที่ร้านแล้วเห็นอีเห็นถูกขังอยู่ในกรง สงสารก็เลยขอให้เด็กในร้านเอาไปปล่อยทำบุญ ไม่ได้คิดจะเอามาผัดกะเพราตัวเล็กๆ ประมาณ 1 เดือน
 ตามขั้นตอนในการบันทึกปากคำเป็นหน้าที่ของร้อยเวรเพื่อดำเนินคดี ในส่วนของนายอำเภอไม่ได้แจ้งจับ แต่ต้องการให้นำส่งตรวจกับกรมป่าไม้ เพื่อยืนยันว่าเป็นสัตว์ชนิดใด เนื่องจากอีเห็นและชะมดเป็นสัตว์ตระกูลเดียวกัน หน้าตาเหมือนกัน แยกกันแทบไม่ออก
 ภายหลังจากการตรวจสอบของกรมป่าไม้ ยืนยันว่าเป็น "อีเห็น" และสามารถเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยงได้ ก็ต้องส่งคืนเจ้าของ
 นายอำเภอนรินทร์ บอกว่า เป็นเรื่องที่เข้าใจไม่ตรงกัน ขณะนี้ได้มีการขอโทษและเจรจากับผู้เสียหายจนเข้าใจกันดีแล้ว
 พ.ต.อ.กันตพิชญ์ กฤตวงศ์วิมาน ผกก.สภ.สามร้อยยอด ชี้แจงว่า ในวันเกิดเหตุกลับจากการตรวจเยี่ยมชาวบ้าน เวลาประมาณ 3 ทุ่มกว่าๆ แวะกินทานข้าวที่ร้านนี้ ระหว่างนั้นนายอำเภอเห็นกรงตั้งอยู่หน้าร้านมีผ้าคลุมไว้ พอเปิดดูให้ตัวอีเห็น จึงได้สอบถามว่า "ตัวนี้ผิดกฎหมาย" หากไม่จับถือว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือเปล่า จึงได้เรียกเด็กในร้านมาสอบถาม บอกว่าเป็นอีเห็น นายอำเภอได้ขอให้เด็กนำไปปล่อยเพราะเป็นสัตว์ป่า โดยจะจ่ายค่าเสียหายให้ เด็กในร้านไม่สามารถตัดสินใจได้
 นายอำเภอบอกว่าถ้าเอาไปปล่อยไม่ได้ ก็ต้องส่งป่าไม้ตรวจสอบ จากนั้นเรียกสายตรวจนำตัวอีเห็นไปที่โรงพัก เจ้าของอีเห็นตามไปภายหลัง จากนั้นยอมรับว่าเป็น "ตัวชะมด" ไม่ได้บอกว่า "อีเห็น" ร้อยเวรจึงต้องบันทึกไปตามนั้น และแจ้ง "ข้อหามีสัตว์ป่าคุ้มครองไว้ในครอบครอง" ซึ่งเป็นคดีที่มีอัตราโทษสูง การประกันตัวด้วยหลักทรัพย์ต้องเป็นไปตามระเบียบของประธานศาลฎีกา หลักประกัน 1 แสนบาท
 ผกก.สภ.สามร้อยยอด บอกว่า เจ้าของอีเห็นไม่ได้ถูกขังคุก เดินอยู่แถวๆ โรงพักเพื่อรอทำเรื่องประกันตัว ซึ่งเป็นอำนาจของฝ่ายปกครองหรืออำเภอ เพราะเป็นคดีเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติ โดยมีนายอำเภอเป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวน
ลุงแจ่ม