
"อบสมุนไพร" ให้ปลอดภัย
การอบสมุนไพรเป็นการใช้ไอน้ำ และความร้อนพาตัวยาและน้ำมันหอมระเหยจากสมุนไพรไปสัมผัสผิวหนัง โดยทำให้ผิวหนังขยายตัว
ตัวยาจากสมุนไพรจะแทรกซึมผ่านผิวหนัง และเยื่อบุเข้าสู่ร่างกาย รวมทั้งผ่านเข้าทางลมหายใจที่สูดเข้าไปด้วย ทำให้ตัวยาสามารถออกฤทธิ์ได้ทั่วตัวในเวลาอันรวดเร็ว มีผลต่อหลายระบบในร่างกาย
ระบบหัวใจและหลอดเลือด
ประมาณการได้ว่าหากอบไอน้ำ 15-20 นาที เทียบเท่ากับการเดินเร็ว 1-2 ชั่วโมง ดังนั้นคนที่เป็นโรคหัวใจจึงไม่ควรอบเพราะทำให้หัวใจต้องทำงานหนัก
ระบบกำจัดของเสีย
ผิวหนังเปรียบเสมือนไตอันที่สามในร่างกาย ทำหน้าที่กำจัดของเสียร้อยละ 30 ของของเสียทั้งหมดที่ร่างกายขับออกมา การอบไอน้ำทำให้เลือดไหลเวียนมาผิวหนังได้ดีขึ้น ขับเหงื่ออกมามากขึ้นเป็นการกำจัดพิษ และน้ำส่วนเกินออกจากร่างกายได้ดีวิธีหนึ่งโดยเฉพาะผู้หญิงหลังคลอด ดังนั้นหลังจากอบสมุนไพรจึงรู้สึกเบาสบายตัว
ระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ
การอบสมุนไพรทำให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น ทั้งยังมีตัวยาที่ช่วยลดการอักเสบ แก้ปวด จึงช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ลดการปวดเมื่อย ลดอาการขัดข้อขัดเข่า
ระบบประสาท
ยาอบสมุนไพรที่มีกลิ่นหอม ใช้พืชที่มีน้ำมันหอมระเหย ซึ่งถือว่าเป็นการบำบัดด้วยกลิ่นหรือ อโรมาเธอราปีส์ (Aromatherapy) อีกแบบหนึ่ง จึงช่วยให้จิตใจและกล้ามเนื้อผ่อนคลายหายเครียด และนอนหลับได้ง่ายขึ้น
ระบบภูมิคุ้มกัน
การอบสมุนไพรทำให้ภูมิคุ้มกันดีขึ้นจากการที่ระบบน้ำเหลืองมีการไหลเวียนมากขึ้น และการผิวหนังมีอุณหภูมิสูงขึ้น ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันถูกกระตุ้นเช่นเดียวกับการตอบสนองต่อเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอมของร่างกายด้วยการมีไข้ ดังนั้นการอบสมุนไพรจึงมีประโยชน์ต่อผู้ที่เป็นหวัด ภูมิแพ้ เป็นต้น
ต่อระบบผิวพรรณ
การอบสมุนไพรทำให้เลือดมาเลี้ยงผิวหนังมากขึ้นทำให้ผิวพรรณสดใส ซึ่งในอดีตหญิงสาวจะอบตัวเป็นประจำเพื่อทำให้ผิวพรรณผ่องใส
ในทางการแพทย์พื้นบ้านมีการใช้การอบสมุนไพรเพื่อบรรเทาโรคและอาการ เช่น อาการปวดเมื่อย ฟกช้ำ หญิงหลังคลอด อัมพฤกษ์ อัมพาต วิงเวียน ปวดหัว เครียด ภูมิแพ้ หวัด ลมพิษ และเพื่อบำรุงสุขภาพ ที่มาของไออบสมุนไพรมีหลากหลายรูปแบบด้วยกัน แล้วแต่ภูมิปัญญาของแต่ละท้องถิ่น
ขั้นตอนวิธีการอบ
เริ่มด้วยให้ผู้ป่วยเช็ดตัวด้วยน้ำอุ่นเพื่อเปิดรูขุมขน แล้วนั่งในกระโจมกับหม้อต้มที่เดือดดีแล้ว ในรายที่ไม่เคยอบมาก่อน ให้อบครั้งละ 15 นาที แบ่งอบ 3 รอบ ผู้ที่อบอยู่เป็นประจำ ให้อบครั้งละ 20 นาที จำนวน 2 รอบ ระหว่างพักให้สังเกตอาการผู้ที่เข้าอบว่ามีอาการเวียนศีรษะ และหายใจสะดวกหรือไม่ หากมีอาการดังกล่าวอาจให้ยุติการอบทันที ในระหว่างพักให้ผู้ป่วยรับประทานน้ำอุ่นให้เพียงพอประมาณ 2-4 แก้วต่อการอบแต่ละครั้ง อาจผสมเกลือลงในน้ำเล็กน้อย เพื่อป้องกันการเสียเกลือแร่จากการเสียเหงื่อในช่วงที่เข้าอบ
ข้อควรระวังในการอบ
- ต้องระมัดระวังสำหรับผู้ป่วย ควรมีผู้ดูแลอย่างใกล้ชิด ห้ามอบหากมีไข้ตัวร้อน
- ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงที่ควบคุมความดันได้ไม่ดี ผู้ป่วยโรคหัวใจ ผู้ที่ดื่มสุรา หรือผู้ที่นอนน้อยพักผ่อนไม่เพียงพอ ไม่ควรเข้าอบสมุนไพร
- หลังการอบสมุนไพรไม่ควรอาบน้ำทันที เพราะจะไปชะล้างตัวยาออกจากผิวหนัง และทำให้ร่างกายปรับอุณหภูมิไม่ทันอาจป่วยได้
ตำรับสมุนไพรในยาอบ
นิยมสมุนไพรที่มีกลิ่นหอม สมุนไพรรสเปรี้ยว สมุนไพรที่มีฤทธิ์ลดการอักเสบ ได้แก่ สมุนไพรที่มีกลิ่นหอมพวกพืชตระกูลส้ม เช่น ส่องฟ้า มะกรูด ส้มโอ สมุนไพรที่มีรสเปรี้ยว เช่น ใบมะขาม ใบส้มป่อย ใบหนาด ใบเปล้า รองลงไปคือ ตะไคร้ ไพล มะกรูด และสมุนไพรที่ใช้เพื่อรักษาอาการต่างๆ เช่น ผักบุ้ง ดอกปีบ เป็นต้น อาจเติมการบูรในปริมาณเล็กน้อยด้วยก็ได้ หรือหากหาอะไรไม่ได้จริงๆ ก็ให้คิดถึงเครื่องต้มยำ คือ ข่า ตระไคร้ ใบมะกรูด ผลมะกรูดผ่าซีก ใบกะเพรา ก็ใช้อบได้เช่นเดียวกัน
ดังนั้นกรณีที่มีข่าวการเสียชีวิตจากการเข้าไปอบสมุนไพรด้วยการใช้เตาถ่านต้มน้ำในห้องปิดที่ไม่มีอากาศถ่ายเท มิใช่การอบสมุนไพรที่ถูกต้อง การเสียชีวิตอาจเกิดจากการขาดอากาศหายใจจากเตาถ่านก็เป็นได้ ในส่วนของการใช้เพื่อลดน้ำหนักอาจจะเป็นการลดได้เพียงชั่วคราวจากการเสียน้ำเท่านั้น สำหรับโรคเบาหวานและความดันโลหิต การอบอาจมีประโยชน์ในการส่งเสริมสุขภาพ แต่ต้องมีการดูแลระหว่างอบกันอย่างใกล้ชิด
งานการแพทย์แผนไทย
โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร โทร.0-3721-6164