ไลฟ์สไตล์

เปิดใจ!นักธรณีหญิงรุ่นใหม่

เปิดใจ!นักธรณีหญิงรุ่นใหม่

12 ต.ค. 2555

เปิดใจ!นักธรณีหญิงรุ่นใหม่จากจุฬาฯ'สเตซี่ เฉลิมชัยกิจ'แนะรุ่นน้อง'ต้องเข้าใจโลก' : โดย...ทีมการศึกษา

              ถามว่าผู้หญิงส่วนใหญ่ฝันอยากมีอาชีพอะไร อันดับต้นๆ คงหนีไม่พ้นอาชีพแอร์โฮสเตส พยาบาล ดารา นักร้อง แต่น้อยคนนักที่จะชื่นชอบอาชีพที่ลุยๆ ออกแนวเข้าป่า ปีนเขา ลงทะเล ตากแดด ตากฝน แถมยังต้องเดินวันละหลายสิบกิโลเมตร แต่สาวสวยอย่าง “สเตซี่ เฉลิมชัยกิจ” นักธรณีวิทยา บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กลับชื่นชอบ และบอกว่า "อาชีพนักธรณีวิทยา" นี่แหละที่ใช่และเหมาะกับตัวเองมากที่สุด

              สเตซี่ เล่าว่า เมื่อจบอนุปริญญาจาก คณะวิทยาศาสตร์ สถานศึกษาเคมีปฏิบัติ สถาบันสมทบ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เลือกเรียนต่อปริญญาตรีที่ ภาควิชาธรณีวิทยา จุฬาฯ พอได้เรียนวิชาพื้นฐาน ได้ออกภาคสนามทำแผนที่ทางธรณีในช่วงปิดเทอม ใช้เวลา 3 ปีเต็มๆ อยู่กับคำว่า "ธรณีวิทยา" ทำให้ซึมซับและปลูกฝังแนวความคิดในวิถีทางของธรณีวิทยา พอขึ้นปี 4 ตัดสินใจเลือกเรียนเน้น "ทางด้านปิโตรเลียม" ที่ชื่นชอบ และสนุกกับการเรียน เพราะเป็นวิชาประยุกต์ขึ้นต้องใช้ความรู้ด้านธรณีเป็นพื้นฐาน เพื่อสำรวจและหาก๊าซธรรมชาติและน้ำมันที่อยู่ใต้ดิน

              ช่วงโค้งสุดท้ายก่อนจบ 4 ปี ได้ร่วมกันกับเพื่อนๆ ในรุ่นนำเสนอโครงการค่ายธรณี เพื่อสอน แนะนำ และให้ความรู้เกี่ยวกับธรณีวิทยา เป็นการจุดประกาย "อาชีพนักธรณี" ให้แก่น้องๆ มัธยมศึกษา ซึ่งอาจารย์ก็เห็นด้วย จึงได้เขียนโครงการและเสนอของบประมาณการจัดค่ายกับผู้ใหญ่ใจดีอย่างเชฟรอน จนทำให้เกิด "ค่ายธรณีวิทยา" ขึ้นครั้งแรก

              หลังเรียนจบ บัณฑิตจากรั้วจามจุรีเต็มเปี่ยมไปด้วยความรู้ ความสามารถ ในขณะนั้นถือว่ากำลังร้อนวิชา แต่พอเริ่มเข้าสู่การทำงานจริงในอาชีพนักธรณีวิทยา กลับไม่เป็นอย่างที่คิด

               “ตอนเรียนมั่นใจมากว่าจะทำได้สบายๆ เมื่อทำงานจริง ทำให้รู้ว่ายังไม่เข้าใจและไม่มีความรู้เกี่ยวกับอุตสาหกรรมปิโตรเลียมเลย เพราะการทำงานสำรวจแหล่งพลังงานและทรัพยากรธรรมชาติ ต้องใช้ความรู้ในด้านอื่นๆ ด้วย วิชาที่เรียนมาเป็นแค่พื้นฐาน ต้องเริ่มนับ 1 ใหม่ คือเริ่มเรียนรู้ และลงมือทำไปพร้อมๆ กับศึกษาหาความรู้เพิ่มทักษะทางด้านการพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมมาช่วยในงานด้านธรณีวิทยา เพื่อที่จะเป็นนักธรณีวิทยาปิโตรเลียมได้"

                "ภาษา" เป็นอุปสรรคมากในการทำงาน ถึงแม้การอ่านเขียนภาษาอังกฤษจะได้ฝึกฝนมาตั้งแต่ในสมัยเรียนจุฬาฯ เพราะตำราเรียนด้านธรณีวิทยาเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด แต่การทำงานจริงต้องสื่อสารกับเพื่อนร่วมงานต่างชาติ รวมไปถึงการเข้าร่วมประชุมที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก กลับกลายมาเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไข

                “2-3 เดือนแรกแอบไปร้องไห้ในห้องน้ำ เพราะเหนื่อยใจที่พูดภาษาอังกฤษไม่ได้อย่างที่คิด ทำให้สื่อสารกับเพื่อนร่วมงานที่เป็นชาวต่างชาติได้น้อย เข้าประชุมก็ฟังไม่ทัน คำศัพท์เทคนิคเกี่ยวกับการขุดเจาะน้ำมันก็ไม่คุ้น จึงใช้วิธีพุ่งเข้าหา พูดไม่คล่องก็พยายามพูด หรือถามงานจากชาวต่างชาติบ่อยๆ จำว่าเขาพูดในรูปแบบไหนบ้าง แล้วก็พูดตามค่ะ เรื่องฟังไม่รู้เรื่องก็จะเข้าไปนั่งฟังประชุมเกือบทั้งหมด พอฟังซ้ำๆ ก็รู้ว่าเขาพูดอะไรบ้าง ไม่เข้าใจก็ถามๆ ประมาณ 2 เดือนก็ดีขึ้น”

                 จากความมุ่งมั่นทำให้วันนี้เธอกลายเป็น อีกหนึ่งกำลังสำคัญในการสำรวจและค้นหาแหล่งพลังงานใหม่ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการพลังงานในประเทศ ในฐานะนักธรณีวิทยา

                 “เรื่องธรณีวิทยาเป็นเรื่องที่น่าสนใจ มีความลึกลับ แม้มองไม่เห็น มีอดีตที่ให้เราค้นหา มีปัจจุบันที่เรายังเห็นอยู่ และมีอนาคตที่เราต้องคาดเดาว่าจะเป็นไงต่อ อาจารย์ที่มหาวิทยาลัยเคยบอกว่าห้องเรียนของนักธรณีวิทยาก็คือโลกใบนี้ ไม่ว่าจะไปที่ไหนของโลก เราก็จะเห็นการเปลี่ยนแปลงและเห็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับธรณีวิทยาอยู่ตลอดเวลา ทำให้เรารู้สึกว่าโลกใบนี้ยังมีอะไรให้เรียนรู้อยู่ตลอดเวลา”

                  นักธรณีวิทยาระหว่างผู้หญิงกับผู้ชาย ในช่วง 10 ปีหลัง มีนักธรณีวิทยาที่เป็นผู้หญิงทำงานในวงการปิโตรเลียมมากขึ้น และได้รับการยอมรับมากขึ้น จนในปัจจุบันแทบจะไม่มีความแตกต่างในด้านหญิงชาย”

                  ตลอดระยะเวลา 8 ปีกับการสำรวจและผลิตแหล่งพลังงานในอ่าวไทย ผลงานที่ภูมิใจมากที่สุดคือรางวัล Excellence in Reservoir Management ที่ได้รับมาล่าสุด เป็นหนึ่งในผลงานของหน่วยธุรกิจเอเชียใต้ของเชฟรอน ที่ได้รับการตัดสินรางวัลจากผลงานหลายร้อยชิ้นจากพนักงานเชฟรอนทั่วโลกในปี 2554 โดยผลงานเกิดจากการได้รับมอบหมายให้หาวิธีการพิสูจน์การวางแผนพัฒนาพื้นที่ด้วยหลักการใหม่ โดยได้นำข้อมูลของแหล่งพลังงานในพื้นที่ที่ถูกประเมินไว้ว่ามีปริมาณก๊าซน้อย ความคุ้มทุนต่ำ นำมาแปรผล วิเคราะห์จากข้อมูลที่มีอยู่ ทำการประเมินใหม่ บวกกับการร่วมงานกับวิศวกร โดยนำเอาข้อมูลทางวิศวกรรมมาช่วย กลับกลายเป็นว่าแหล่งนั้นกลับมีทรัพยากรพลังงานที่เพิ่มขึ้นตรงกับการประเมิน ทำให้เกิดความสำเร็จจนได้รับรางวัล

                  สเตซี่ แนะนำน้องๆ ที่อยากเรียนต่อทางด้านธรณีวิทยาว่า สิ่งที่สำคัญต้องเป็นคนที่เข้าใจโลกว่าโลกทำงานอย่างไร มีกระบวนการอะไรบ้าง โลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร อดีตเป็นอย่างไร ปัจจุบันและอนาคตควรเป็นอย่างไร แล้วต้องเปิดรับความคิดใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา การปิดกั้นความคิดตัวเองเท่าการหยุดนิ่ง เพราะงานนี้ขึ้นอยู่กับจินตนาการบนหลักเหตุผล ไม่มีถูกผิด หากเราสามารถเปิดรับความคิดของคนอื่นได้มากเท่าไหร่ จะทำให้เรานำมาเทียบปรับความคิดผิดหรือถูกของเราได้มากเท่านั้น ที่สำคัญต้องมี "ใจรัก และมีความอดทน" ถึงจะเป็นนักธรณีวิทยาที่ดี และประสบความสำเร็จได้

 

............................................
(เปิดใจ!นักธรณีหญิงรุ่นใหม่จากจุฬาฯ'สเตซี่ เฉลิมชัยกิจ'แนะรุ่นน้อง'ต้องเข้าใจโลก' : โดย...ทีมการศึกษา)