ไลฟ์สไตล์

เตือน!นั่งไขว่ห้างนานเสี่ยงขาโก่ง

เตือน!นั่งไขว่ห้างนานเสี่ยงขาโก่ง

14 ต.ค. 2555

สธ.เผยผู้สูงอายุไทย 4 ล้านคน ป่วยโรคข้อเสื่อม เตือนนั่งไขว่ห้าง พับเพียบนาน กระเตงของที่เอวเสี่ยงขาโก่ง ระบุ กินแคลเซียมเสริมป้องกันไม่ได้ ห่วง ปชช.ป่วย "ไข้หวัด-ปอดบวม" ช่วงปลายฝนต้นหนาว

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  เมื่อวันที่ 14 ต.ค. 55  ที่โรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า กทม. นายแพทย์สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่ากระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุมวันโรคข้อสากลเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา มหาราชินี และนิทรรศการให้ความรู้ด้านโรคข้อ จัดโดยมูลนิธิโรคข้อในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ภายใต้หัวข้อ "เข้าใจ เข้าถึง พร้อมรับสังคมผู้สูงอายุ" ซึ่งในวันนี้ได้จัดบริการให้คำปรึกษาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลวิชัยยุทธ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ศูนย์สิรินธร และโรงพยาบาลราชวิถี โดยมีสมาชิกชมรมโรคข้อและประชาชนทั่วไปเข้าร่วมงานกว่า 1,000 คน

          นายแพทย์สุรวิทย์ กล่าวว่า ขณะนี้โรคข้อเสื่อมกำลังคุกคามสุขภาพของประชากรทั่วโลก องค์การอนามัยโลก หรือ ฮู (WHO) ระบุว่า ปัจจุบันประชากรทั่วโลกป่วยเป็นโรคข้อ โรคกระดูกพรุน โรคกระดูกสันหลัง และโรคที่เกิดจากความผิดปกติของกล้ามเนื้อกว่า 40 ล้านคน คาดในอีก 10 ปีข้างหน้า จำนวนผู้ป่วยจะเพิ่มขึ้นเป็น 570 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นกว่า 14 เท่าตัว โดยราวครึ่งหนึ่งเป็นผู้สูงอายุ และได้กำหนดให้วันที่ 12 ตุลาคมทุกปี เป็นวันโรคข้อสากล และประกาศให้ พ.ศ. 2553-2563 เป็นทศวรรษแห่งการรณรงค์โรคกระดูกและข้อ เพื่อให้ทุกประเทศทั่วโลกเร่งป้องกันแก้ไข เนื่องจากโรคนี้หากป่วยแล้ว จะเป็นโรคเรื้อรัง เดินอย่างทุกข์ทรมาน รักษาไม่หายขาด 

          รมช.สาธารณสุข  กล่าวอีกว่า โรคข้อมีมากกว่า 100 ชนิด แต่ที่พบได้บ่อยคือ โรคข้อเสื่อม เข่าเสื่อม โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคกระดูกพรุน โรคปวดหลังปวดคอ โรคลูปัส โรคนิ้วล็อก โรคไหล่ติด และโรคกระดูกสันหลังติดแข็ง มักพบในผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป จากการประเมินสถานการณ์ในประเทศไทย พบว่าโรคนี้น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง ทั่วประเทศพบผู้ป่วยโรคข้อปีละกว่า 6 ล้านคน และในจำนวนนี้ครึ่งหนึ่งเป็นผู้สูงอายุ ประมาณว่าขณะนี้ผู้สูงอายุในไทยมีเกือบ 8 ล้านคน ร้อยละ 50 หรือประมาณเกือบ 4 ล้านคนป่วยเป็นโรคข้อ กล่าวได้ว่าในผู้สูงอายุทุกๆ 2 คน จะมีผู้เป็นโรคข้อ 1 คน อาการที่พบได้บ่อยคืออาการปวดจากข้อเสื่อม เข่าเสื่อม เข่าโก่ง เข่าเก หากไม่ได้รับการรักษากระดูกจะถูกทำลายจนถึงขั้นพิการได้

          ทั้งนี้  สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคข้อ มีทั้งเกิดมาจากกรรมพันธุ์ การเสื่อมตามวัย ความอ้วนหรือน้ำหนักตัวมากเกินไปทำให้กระดูกบิดผิดรูปจนกล้ามเนื้อเกิดการดึงรั้ง และเกิดจากอิริยาบถในชีวิตประจำวันที่ไม่ถูกวิธี ได้แก่ การนั่งยองๆ นั่งขัดสมาธิหรือพับเพียบ และนั่งไขว่ห้างนานๆ ทำให้ผิวกระดูกอ่อนภายในข้อกระดูกเสื่อมเร็ว นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ที่นิยมใช้เอวกระเตงของ เช่นกระบุง ตะกร้า ถาดใหญ่ๆ หรือกระเดียดเด็กที่เอวเป็นเวลานาน จะทำให้น้ำหนักทิ้งลงที่ขาข้างเดียว ทำให้ข้อกระดูกขาข้างนั้นเสื่อมเร็ว และทำให้ขาโก่งผิดรูปคือเข่าชิด ขาแบะออก และโก่งเข้าเป็นรูปไข่ ยิ่งอายุมากยิ่งเดินลำบาก และจะเกิดอาการปวดข้อจากการที่กระดูกข้อเสียดสีกัน ในการป้องกันและลดความเสี่ยงการเกิดโรคข้อขณะนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้รณรงค์ให้ประชาชนใช้ส้วมห้อยขาแทนส้วมซึม และรณรงค์ให้ออกกำลังกาย เพิ่มความแข็งแรงกระดูกและกล้ามเนื้อ

          เภสัชกรหญิงกุสุมาลย์ ไตรวิทยานุรักษ์ เลขาธิการมูลนิธิโรคข้อในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี กล่าวว่า ในคนปกติที่ไม่เป็นโรคข้อ กระดูกจะมีผิวกระดูกอ่อนซึ่งมีลักษณะใสเป็นมันเรียบคลุมอยู่ มีหน้าที่คือรับแรงกระแทกที่เกิดขึ้นในข้อต่อ และทำให้ข้อต่อมีการเคลื่อนไหวได้อย่างสมดุลสม่ำเสมอไม่เจ็บปวด แต่หากเป็นโรคข้อจะมีอาการที่สังเกตได้ง่าย คือปวดเจ็บบวมแดงที่บริเวณข้อโดยเฉพาะที่ข้อเข่า ผู้ป่วยจะเดินกระเผลก ข้อเข่าฝืดงอได้ไม่เต็มที่นั่งยองๆ ลำบาก หากเป็นมากจะนั่งยองๆ ไม่ได้เลย บางคนจะปวดมากขึ้นเวลาขึ้นบันได หรือบางคนจะรู้สึกปวดมากในเวลากลางคืน การรับประทานอาหารเสริมที่มีแคลเซียม มีส่วนเพิ่มความแข็งแรงให้กระดูกได้ แต่ไม่สามารถป้องกันการเกิดโรคข้อได้ 

          "คนทั่วไปเมื่อป่วยเป็นโรคข้อและกระดูกมักไม่ค่อยใส่ใจที่จะรักษา เมื่อมีอาการเริ่มแรกมักเข้าใจว่าเป็นโรคธรรมดาทั่วไป ทนไปก่อนไม่นานคงหายเอง และคิดว่าเป็นโรคของผู้สูงอายุเท่านั้น ซึ่งเป็นการเข้าใจผิดจนทำให้กระดูกเสื่อมลงเรื่อยๆและรุนแรงขึ้นอาจพิการถาวรได้"

          เภสัชกรหญิงกุสุมาลย์ กล่าวต่อไปว่า วิธีการป้องกันโรคข้อที่ดีที่สุดคือการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้ข้อต่อต่างๆ ของร่างกายได้มีการเคลื่อนไหว ทำให้การยืดหยุ่นของข้อและกล้ามเนื้อแข็งแรงดีขึ้นช่วยคงสภาพการเคลื่อนไหวของข้อ ซึ่งการออกกำลังกายที่เหมาะสม ได้แก่ การเดิน การว่ายน้ำ ขี่จักรยาน เต้นแอโรบิก อย่างไรก็ดีควรเลือกวิธีการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับร่างกายตัวเอง การไม่ออกกำลังกายจะทำให้กล้ามเนื้อที่หุ้มอยู่บริเวณรอบๆ ข้ออ่อนแรง ข้อจะฝืด กล้ามเนื้อและเส้นเอ็นจะยึดติด เมื่อขยับจะรู้สึกปวด หรือที่เรียกกันทั่วไปว่าข้อติด ทั้งนี้ สำหรับผู้ที่ป่วยเป็นโรคข้อแล้ว ควรปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์ ลดหรืองดอาหารที่ทำให้น้ำหนักขึ้นได้ง่าย เช่น อาหารที่มีรสหวานรสมัน หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่อาจทำให้ข้อได้รับความกระทบกระเทือน หรือเกิดการกระแทก เช่น ยกหรือแบกของหนักมากๆ หรือเล่นกีฬาที่มีการวิ่งกระโดด หมั่นบริหารข้อ รับประทานยาตามกำหนดและหากเกิดอาการผิดปกติจากการรับประทานยาต้องรีบปรึกษาแพทย์ทันที

 

ห่วงปชช.ป่วย "ไข้หวัด-ปอดบวม" ช่วงปลายฝนต้นหนาว 

 

          นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.) เปิดเผยว่า ในช่วงนี้ สภาพอากาศเปลี่ยน เป็นช่วงปลายฝนต้นหนาว หลายพื้นที่มีอุณหภูมิลดลง อากาศเริ่มหนาวเย็น ทำให้ประชาชนเสี่ยงเจ็บป่วยง่าย หากร่างกายปรับตัวไม่ทัน ดังนั้น นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จึงได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกจังหวัดเตรียมพร้อมรับมือกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง และให้กระทรวงสาธารณสุขในฐานะที่ดูแลสุขภาพของประชาชนให้สำนักงานสาธารณสุขทุกจังหวัด เร่งให้ความรู้ประชาชนทุกกลุ่มวัยในการดูแลสุขภาพ เพื่อป้องกันตั้งแต่เนิ่นๆ โดยได้ให้สำนักงานสาธารณสุขทุกจังหวัด เฝ้าระวังโรคที่มักพบบ่อย 2 โรค ได้แก่ ไข้หวัดใหญ่ และ ปอดบวม ซึ่งเป็นโรคที่เกิดขึ้นกับระบบทางเดินหายใจโดยตรง 

          นายวิทยา กล่าวอีกว่า กลุ่มที่มีความเสี่ยงเจ็บป่วยได้ง่ายกว่าคนทั่วไป ได้แก่ เด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหอบหืด โรคปอดเรื้อรัง โรคตับ โรคไต โรคโลหิตจาง เนื่องจากมีภูมิต้านทานโรคต่ำ จะเจ็บป่วยง่าย และเมื่อป่วยแล้ว อาการมักรุนแรงกว่าประชาชนทั่วๆ ไป ดังนั้นจึงขอแนะนำให้ประชาชนหมั่นดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ รักษาร่างกายให้อบอุ่น ถ้าไม่สบายมีอาการคล้ายไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ คือ มีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยเนื้อตัว อ่อนเพลีย เจ็บคอ ไอ ให้นอนพักอยู่บ้าน หาก 2 วันอาการไม่ดีขึ้นหรือมีอาการรุนแรงมากขึ้น สังเกตได้โดยจะมีความปกติ การหายใจลำบากขึ้น เช่น หอบ หายใจเร็ว หายใจลำบาก ขอให้รีบไปรับการรักษาในสถานบริการสาธารณสุขทันที

          นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า จากข้อมูลของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ปี 2554 ทั่วประเทศพบผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ จำนวน 62,112 ราย เสียชีวิต 7 ราย ซึ่งมีอัตราป่วยลดลงจากเดิม และพบผู้ป่วยโรคปอดบวม หรือปอดอักเสบ 179,976 ราย เสียชีวิต 1,201 ราย ซึ่งโรคดังกล่าวพบมากในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว รวมทั้งเกิดขึ้นมากในกลุ่มประชาชนที่อาศัยในพื้นที่อากาศหนาวเย็น โดยเฉพาะบริเวณภาคเหนือมีอัตราป่วยสูงสุดทั้ง 2 โรค 

          นายแพทย์ณรงค์ กล่าวด้วยว่า การดูแลสุขภาพช่วงอากาศเปลี่ยนแปลงมีข้อแนะนำ 8 วิธีดังนี้ 1. รักษา สุขภาพให้แข็งแรง รับประทานอาหารที่มีประโยชน์อย่างเพียงพอ ดื่มน้ำมากๆ ออกกำลังกายสม่ำเสมออย่างน้อยวันละ 30 นาที พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่ทำงานหนักหามรุ่งหามค่ำ 2. ไม่เข้าไปในที่แออัดโดยเฉพาะช่วงที่มีการระบาดของไข้หวัดใหญ่ 3. หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ ดื่มสุรา และยาเสพติดต่างๆ เนื่องจากจะทำให้สุขภาพเสื่อมโทรม ภูมิต้านทานต่ำลง ติดเชื้อได้ง่าย 4. เลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดและไม่ใช้สิ่งของส่วนตัวร่วมกับผู้ที่ป่วยเป็นไข้หวัด เช่น ผ้าเช็ดหน้า แก้วน้ำ จาน 5. ล้างมือฟอกสบู่บ่อยๆ หลังสัมผัสสิ่งของต่างๆ เช่น ราวบันได ลูกบิดประตู ปุ่มลิฟต์ 6. สวมเสื้อผ้าให้อบอุ่นเพียงพอ 7. หากเป็นไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ ควรใช้ผ้าปิดปากและจมูกเวลาไอจาม ไม่คลุกคลีกับผู้อื่น 8. ปรึกษาแพทย์ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขเพื่อรับวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่