ดันผ้าไหมกระนวน'ภูโน'รุกตลาดโลก
ยกระดับผ้าไหมเม็ดอินกระนวน ติดแบรนด์ 'ภูโน' รุกตลาดต่างแดน : โดย...กวินทรา ใจซื่อ
ในพื้นที่ภาคอีสานแทบทุกจังหวัด ชาวบ้านจะใช้เวลาว่างจากการทำนามาทอผ้าไหม แต่มีจุดต่างอยู่ที่ลวดลายและสีสันที่ยังคงเป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น อย่างที่ อ.กระนวน จ.ขอนแก่น จะมีผ้าไหมมัดหมี่ที่หลากหลายลวดลายที่เกิดจากความชำนาญของกลุ่มแม่บ้านในชุมชนหนองกุงใหญ่ อ.กระนวน นั่นเอง มีทั้งมัดหมี่ลวด มัดหมี่ตา และมัดหมี่บักจับ ถือเป็นลายบนผืนผ้าที่ชาวบ้านคิดค้นขึ้นเองจนเป็นเอกลักษณ์ แม้ปัจจุบันคนรุ่นใหม่ให้ความนิยมสวมใส่ผ้าไหมกันน้อยลง เพราะดูแลรักษายากและไม่ทันสมัย แต่ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการผลิตผ้าไหมมัดหมี่ของกลุ่มแม่บ้านในชุมชนหนองกุงใหญ่กำลังผลักดันให้เป็นสินค้าส่งออกไปยังต่างประเทศภายใต้เครื่องหมายการค้า หรือแบรนด์ "ภูโน" หลังจากมีคนไทยนำไปเป็นเครื่องกายในร้านอาหารที่ประเทศญี่ปุ่น
หลอด วิชัยวงศ์ หนึ่งในสมาชิกกลุ่มแม่บ้านในชุมชนหนองกุงใหญ่ วัย 62 ปี บอกว่า เริ่มต้นทอผ้าตั้งแต่เด็ก โดยมีแม่และยายเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ จนสั่งสมประสบการณ์ ได้รับการยอมรับจากชาวบ้านว่ามีฝีมือในการทอผ้าได้ประณีตและสวยงาม โดยใช้เวลาว่างหลังจากทำนามาทอผ้าไว้ใช้ในครัวเรือน การทอผ้าไหมนั้นต้องใช้เวลา ต้องมีความละเอียด ตอนหลังผ้าไหมที่ทอนั้น บางครั้งนำไปขายมีรายได้ไว้ใช้จ่ายในครอบครัวบ้าง
"ที่ชุมชนหนองกุงใหญ่ยังคงนิยมเลี้ยงไหมพันธุ์พื้นเมือง ตัวไหมจึงมีขนาดเล็ก ให้เส้นไหมไม่มาก แต่ก็ทำให้ผ้าไหมมีความโดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว เพราะเส้นไหมที่ได้จะมีขนาดเล็ก เส้นกลม เหนียวนุ่ม และทนทาน เมื่อทอเป็นผืน ผ้าที่ได้จะนิ่มเนียน คงทนเก็บไว้ได้นาน แต่กว่าจะทอได้แต่ละผืนต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3 อาทิตย์ เพราะที่นี่ยังคงใช้วิธีการทอด้วยกี่กระตุกพื้นบ้านแบบดั้งเดิม ไม่มีเครื่องมือช่วยทอ หากมัดหมี่ลวดลายยากก็ต้องใช้เวลาทอเป็นเดือนจึงจะเป็นผืน ราคาขายเพียงผืนละ 1,200-1,500 เท่านั้น อยากให้หน่วยงานภาครัฐเข้ามาส่งเสริมคือจัดหาตลาดซื้อขายผ้าไหมให้แก่ชาวบ้าน” นางหลอด กล่าว
จากจุดอ่อนด้านการตลาดและผลิตภัณฑ์ผ้าไหมยังคงอยู่ในรูปแบบเดิม ทำให้นายอำเภอที่เคยสร้างแบรนด์ดังผักปลอดสารซำสูงจนประสบความสำเร็จ เมื่อย้ายมาเป็นนายอำเภอกระนวน ทำให้ ไกรสร กองฉลาด ได้ศึกษาพื้นที่ อาชีพ สภาพสังคม เศรษฐกิจของชาวบ้าน จึงเกิดแนวคิดในการสร้างความต่างให้แก่ผ้าไหมที่มีอยู่ ด้วยการสร้างจุดขายที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ เน้นการตลาดสมัยใหม่ด้วยการเฟ้นคุณภาพ และอิงตามความต้องการของตลาดระดับโลก เช่น ผ้าไหมจากพันธุ์ไหมพื้นบ้าน ผ้าไหมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การนำผ้าไหมไปใช้ร่วมกับผลิตภัณฑ์แฟชั่นอื่นๆ เช่น กระเป๋าถือผ้าไหม เพื่อดึงดูดความสนใจให้คนทุกกลุ่มทั้งในและต่างประเทศหันมาสนใจผ้าไหมพื้นบ้านกันมากขึ้น
ไกรสร บอกว่า ภูมิปัญญาพื้นบ้านในการเลี้ยงไหมพันธุ์พื้นบ้าน การทอผ้าที่ยังคงรูปแบบดั้งเดิมไม่ต่างจากอดีตเป็นความรู้ที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น เป็นความแตกต่างที่นำมาบวกเข้ากับกระแสตลาดโลก ที่ผู้คนหันมาสนใจความเป็นมาของอดีต ใส่ใจสุขภาพ จึงเห็นว่าควรสร้างแบรนด์หรือเครื่องหมายการค้าให้เป็นเอกลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ จึงสร้างแบรนด์ “ภูโน” ซึ่งเป็นภูเขาที่มีความสำคัญเกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านทั้ง อ.กระนวนและใกล้เคียง ซึ่งภูโนนี้เป็นชื่อภูเขาที่อยู่ในป่าดงมูล มีป่ารกทึบ เป็นแหล่งต้นน้ำห้วยสายบาตร อู่ข้าวอู่น้ำของชาวบ้าน นอกจากนี้การนำชื่อภูเขามาตั้งเป็นแบรนด์ ดูแล้วมีความมั่นคง ยิ่งใหญ่ หนักแน่นเหมือนภูเขา ที่สำคัญคือ พยายามดึงเอกลักษณ์และจุดเด่นของพื้นที่ออกมาให้ได้
หลังจากมีแนวคิดเรื่องการสร้างแบรนด์ให้แก่ผลิตภัณฑ์แล้ว ได้รับคำแนะนำจาก ดร.ศิริกุล เลากัยกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านแบรนด์ให้หาเอกลักษณ์ จุดเด่นของพื้นที่และผลิตภัณฑ์ เพื่อจะนำมาเป็นแนวคิดในการตกผลึกก่อนที่จะออกแบบแบรนด์ จากนั้นทางอำเภอจึงจัดประกวดผ้าเก่าอายุ 50 ปีขึ้นไป พร้อมกับระดมสมองคนเฒ่าคนแก่มาช่วยกันบอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาของผ้าไหมทอมือของ อ.กระนวน การพัฒนาต่อยอดแบรนด์เป็นไปอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งได้ดีไซเนอร์รุ่นใหม่จากเมืองมิลาน ประเทศอิตาลี ที่ชื่อ วรกิจ ประดิษฐผลพานิช มาเก็บข้อมูลนำไปวางแผนสร้างแบรนด์ภูโน จนมาลงเอยที่ดอกทองกวาว หรือที่คนอีสานเรียกว่า ดอกจาน ออกดอกสีส้มแดงช่วงเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี พบเห็นได้ทั่วไปตามท้องไร่ท้องนาในภาคอีสาน เป็นดอกไม้ที่คุ้นตาของชาวอีสาน
“ทุกท่านที่เข้ามาให้คำแนะนำเป็นเครือข่ายคนทำงาน ที่เห็นความสำคัญในการเพิ่มมูลค่าให้แก่ผลิตภัณฑ์พื้นบ้าน และต้องการเข้ามาช่วยรักษาประเพณี ภูมิปัญญาของชาวอีสาน จนสำเร็จเป็นแบรนด์ภูโน ระหว่างนี้มีคำติชมมาอย่างต่อเนื่อง โลโก้นี้ถือเป็นต้นแบบที่จะพัฒนาต่อเนื่องจนกว่าจะลงตัว เพราะไม่อยากรอ การออกแบบแบรนด์ก็ทำไปพร้อมกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ นอกจากจะให้ผ้าไหมเป็นเครื่องนุ่งห่มแล้ว ยังนำไปทำกระเป๋า ผลิตภัณฑ์แฟชั่นอย่างอื่น ถือเป็นการต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ทำจากผ้าไหม เพิ่มทางเลือกให้แก่ลูกค้ามากขึ้น” ไกรสร กล่าว
ตลอด 10 เดือนที่นายอำเภอกระนวนเปิดตัวผ้าไหมพื้นบ้านอย่างต่อเนื่อง มีชาวไทยเปิดร้านอาหารไทยที่ประเทศญี่ปุ่น สั่งซื้อผ้าไหมของ อ.กระนวน ไปใช้เป็นผ้านุ่งของพนักงานในร้าน ในอนาคตหากมีออกแบบผลิตภัณฑ์ที่มีความหลากหลายขึ้น คาดว่าจะมีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศเข้ามาอย่างต่อเนื่องแน่นอน
“ในตลาดโลกให้ความสนใจผ้าทอที่เป็นผืนเดียวในโลก ทอจากฝีมือผู้เชี่ยวชาญล้วนๆ และยังเป็นไหมพันธุ์พื้นบ้านที่ชาวบ้านสืบต่อการเลี้ยงมานานนับร้อยปี ถือเป็นจุดขายที่หลายคนให้ความสนใจ ส่วนมาตรฐานการผลิตผ้าไหมของชาวกระนวนที่จะใช้ชื่อแบรนด์ภูโนนั้น อนาคตจะมีการควบคุมมาตรฐานจากผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งมีทั้งชาวบ้านด้วยกัน นักวิชาการ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คาดว่าจะเปิดตัวแบรนด์ภูโนให้เป็นที่รู้จักเร็วๆนี้” นายอำเภอกระนวน กล่าวอย่างมั่นใจ
หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผ้าไหมแบรนด์ภูโน จะเป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทยที่อาจสร้างชื่อเสียงให้แก่ อ.กระนวน จ.ขอนแก่น และประเทศไทยด้วยในอนาคตอันใกล้นี้
--------------------
(ยกระดับผ้าไหมเม็ดอินกระนวน ติดแบรนด์ 'ภูโน' รุกตลาดต่างแดน : โดย...กวินทรา ใจซื่อ)