
ตำนานสะพานปลาปากพนัง
ตำนานสะพานปลาปากพนัง : คอลัมน์ตำนานแผ่นดิน
พระพุทธเจ้าหลวง (รัชกาลที่ 5) เสด็จประพาสหัวเมืองภาคใต้ แล้วมาประทับอยู่ที่เมืองปากพนัง วันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ.2448 ทรงมีพระราชหัตถเลขาตอนหนึ่งว่า “ไม่นึกว่าเมืองปากพนัง จะใหญ่โตมั่งมีถึงเพียงนี้ บรรดาเมืองท่าในแหลมมลายูฝั่งตะวันออก เห็นจะไม่มีแห่งใดดีเท่าปากพนัง” ปากพนังในยุคนั้น จึงเป็นเมืองใหญ่ การค้าเจริญรุ่งเรืองยิ่งกว่าเมืองนครศรีธรรมราช
ปากพนัง มีพื้นที่ปลายแหลมยื่นออกไปในทะเล มีอ่าวเว้าเข้ามาถึงปากแม่น้ำปากพนัง สมัยโบราณจึงมีเรือสำเภาจีนฮกเกี้ยน นำถ้วยชามกังไสมาขาย แล้วซื้อข้าวสาร รังนก ไม้จันทน์หอม เป็นของดีหายากจาก เซี่ยมล้อก๊ก (ประเทศสยาม) ไปถวายฮ่องเต้ ชาวจีนฮกเกี้ยนกลุ่มหนึ่ง จึงปักหลักค้าขาย ตั้งรกรากอยู่ที่ปากพนังมาสองสามร้อยปี
ช่วงที่ปากพนังรุ่งเรืองสุขขีด มีเรือประมงเข้าออกมาส่งปลา วันละ 2,000 กว่าลำ ปากพนังจึงเป็นเมืองคนรวย คนเมืองคอนต้องขับรถ มากู้เงินไต๋ปากพนังเอาไปทำการค้า ญี่ปุ่นส่งเจ้าหน้าที่มาดูการค้าที่ปากพนัง แล้วให้เงินองค์การสะพานปลา สร้างสะพานปลาขนาดมาตรฐาน พร้อมท่าเทียบเรือขนาดใหญ่ รองรับเรือประมงและเรือขนถ่ายสินค้าทุกชนิด
แต่เมื่อร่องแม่น้ำปากพนังตื้นเขิน เรือประมงส่งปลาไปขายที่สงขลา และท่าเรือมาเลเซียที่ให้ราคาปลาดีกว่า ปากพนังจึงเข้าสู่ยุคถดถอย เหลือแต่ตลาดกุ้งที่ยังเลี้ยงกันมาก ตั้งแต่ปากพนังหัวไทรถึง อ.เชียรใหญ่ สะพานปลาปากพนังมีเรือประมงมาส่งปลา สัปดาห์ละ 2-3 วันเท่านั้น พ่อค้ารับซื้อปลา จึงหันไปซื้ออาหารทะเล จากท่าเรืออื่นแทน
ศุภชัย ดาวัลย์ หัวหน้าสะพานปลานครศรีธรรมราช ได้ขอการสนับสนุนจาก ดร.วิรัช เถื่อนยืนยงค์ ผู้อำนวยองค์การสะพานปลา ทรงพล สวาสดิ์ธรรม รองผู้ว่าฯ นครศรีธรรมราช หาทางปลุกสะพานปลานครศรีธรรมราช ให้ฟื้นคืนชีวิตคึกคักด้วยเรือหาปลาอีกครั้งหนึ่ง ติดตามชมชีวิตปากพนังในรายการ ย้อนตำนานร้านอร่อย ช่องเนชั่นแชนแนล วันศุกร์นี้ 17.30 น.
เทศกาลอาหารทะเล ของดีปากพนัง
ปากพนัง เป็นเมืองสองน้ำ น้ำทะเลหนุนเข้ามาถึงแม่น้ำปากพนัง เกิดเป็นตะกอนแผ่นดินรอบปากอ่าว มีป่าโกงกางขนาดใหญ่ ต้นโกงกางสมบูรณ์ที่สุด แต่เป็นบ่อเกิดของยุงจำนวนมหาศาล ชาวปากพนังจึงคุ้นเคยกับยุงป่าโกงกาง แต่คนกรุงเทพฯ ผิวบางๆ อย่างผม แม้จะทายากันยุงจนหมดขวด ก็ยังถูกยุงกัดจนคันไปทั้งตัว
ศุภชัย ดาวัลย์ เล่าให้ผมฟังว่า ยุงเป็นอาหารอันโอชะของนกนางแอ่น บินมากินยุงแล้วมุดเข้าบ้านโบราณหลังแรก ที่สี่แยกถนนชายน้ำ สร้างรังให้เจ้าของบ้านเก็บขาย รังนกนางแอ่นแพงถึงกิโลกรัมละแสนกว่าบาท จึงมีการสร้างคอนโดนกนางแอ่น มากถึง 200 กว่าหลัง เสียงนกดังระงมไปทั้งเมือง ปากพนังวันนี้จึงมีนกนางแอ่น มากกว่าคนทั้ง จ.นครศรีธรรมราชแล้ว
ริมแม่น้ำปากพนังมี ตลาดน้ำคลองบางวำ พี่สาวชาวมุสลิมนำปลาที่สามีหาได้ ปลากะพง ปลาดุกทะเล ปลาแดง ปลารากกล้วย ปลาเก๋า ปลาฉลามเล็ก ปูทะเล กุ้ง ใส่ถาดวางขายบนสะพาน กั้งทะเล ตัวใหญ่กิโลกรัมละ 120 บาท ถูกจนผมอยากซื้อมาทอดกระเทียมพริกไทยกิน ปลาจ้องม่อง (ปลากระเบนเล็ก) แม่มะลิเอาไปทอดทำสเต๊กอบเนย เนื้อเนียนละเอียดอร่อยมาก
ปลากระบอกปากพนัง เอามาต้มส้มหรือต้มยำ เนื้อหวานเนียนละเอียด ส่วนหนึ่งแม่ค้าจะหมักเกลือเม็ดเป็น ปลาบอกร้า ทอดให้เหลืองกรอบ บีบน้ำมะนาวลงไปเคล้าเนื้อปลา กินกับพริกขี้หนูหอมแดงซอย กลิ่นหอมฟุ้งเดือดร้อนไปทั้งหมู่บ้าน ปลาทูปลาหมึกไข่ เอามาย่างเตาถ่านให้สุกเกรียมนิดๆ ราดน้ำจิ้มซีฟู้ดกินไม่รู้เบื่อ
กุ้งส้มนายหาญ ของดีปากพนัง เอามาทำไข่ตุ๋นก็อร่อย เอามายำรสเลิศไม่มีอะไรเทียบ ครัวอนุรักษ์แหลมตะลุมพุก ให้แม่ครัวใหญ่มาทอดปลากะพงสามรส เนื้อปลากะพงกรอบนุ่ม ไม่มีกลิ่นคาว น้ำพริกกุ้งเสียบ ของดีที่ควรซื้อมาฝากผู้ใหญ่ ตักกินกับข้าวสวยพันดี อร่อยจนลืมหมูหันหูฉลามไปเลย
วันที่ 7-8-9 ธันวาคม 2555 ศุภชัย และพิชัย จะช่วยกันจัด เทศกาลอาหารทะเล ล่องแม่น้ำปากพนัง ผมจะจัดทัวร์ขึ้นเครื่องบิน พาคณะไปไหว้พระบรมธาตุนครฯ ชมพระตำหนักพระเจ้าตากสิน อ.พรหมคีรี อาบน้ำจืดบนเกาะหลวงปู่ทวด ศาลพ่อปู่ลุ่มน้ำปากพนัง อร่อยกับอาหารเมืองใต้ คนละ 1.5 หมื่นบาท จองด่วน โทร.08-1251-9122
.........................................
(ตำนานสะพานปลาปากพนัง : คอลัมน์ตำนานแผ่นดิน)