
ยามเช้าที่สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์
ยามเช้าที่สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์สัมผัสชีวิตในอ้อมโอบของดอกไม้งาม : คอลัมน์ ท่องโลกเกษตร โดย... ดลมนัส กาเจ
ทีมงานท่องโลกเกษตรเริ่มต้นในตัวเมือง จ.เชียงใหม่ หลังอาหารเช้าจากที่พักเราฝ่าเปลวแดดอ่อนยามเช้ามุ่งหน้าสู่สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ หรือที่เรียกกันติดปากว่าโครงการหลวงอินทนนท์ ที่บ้านขุนกลาง ต.บ้านหลวง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ใช้เวลาในการเดินทางทั้งเส้นทางราบและลัดเลาะตามเนินเขาราว 1 ชั่วโมงครึ่ง จึงถึงจุดหมายปลายทาง โดยมีนักประชาสัมพันธ์สาวหน้าคมประจำสถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ "มณฑิรา ภิรมย์ศรี" หรือมิ้ม คอยต้อนรับท่ามกลางอากาศที่เย็นสบายช่วงปลายฝนต้นหนาว
สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ ก่อตั้งเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2522 อยู่ในอ้อมโอบของขุนเขาที่ลาดชัน และทอดแนวยาวเป็นเขาสันปันน้ำแบ่งพื้นที่ออกเป็นสองทิศทาง คือทิศตะวันออกที่ได้ผันน้ำลงสู่แม่น้ำปิง และด้านตะวันตกได้ผันน้ำลงสู่แม่น้ำแจ่ม อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 1,300 เมตร ทำให้อากาศเย็นตลอดปีในยามปกติก มณฑิรา บอกว่า อุณหภูมิเฉลี่ยอยู่ที่ 21 องศาเซลเซียส และอากาศจะหนาวช่วงเดือนพฤศจิกายนและจะหนาวต่ำสุดในเดือนธันวาคม-มกราคม อุณหภูมิจะอยู่ที่ 4 องศาเซลเซียสเท่านั้น ถือเป็นสถานีวิจัยอีกแห่งหนึ่งของมูลนิธิโครงการหลวงที่ดำเนินงานด้านวิจัยค้นคว้าข้อมูลเพื่อเป็นแนวทางที่จะนำเอาผลจากการวิจัยมาส่งเสริมอาชีพเป็นรายได้ของครอบครัวเกษตรกร
ทั่วอาณาของบริเวณที่ตั้งสถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ที่กินพื้นที่กว่า 150 ไร่ เราจะแลเห็นความสวยงามของดอกไม้เมืองหนาวบานสะพรั่ง อาทิ ดาเลีย หรือรักเร่ แมกโนเลีย กุหลาบ แคคตัส เยอบีร่า ไฮเดรนเยีย โพรเทีย เป็นต้น ตรงกลางเป็นสระน้ำที่ถูกเจ้าหงส์ขาว และหงส์ดำหลายคู่ยึดครองเป็นเขตที่อยู่อาศัย และโชว์โฉมต้อนรับผู้มาเยือนปีแล้วปีเล่า หากมองเบื้องไกลรอบๆ จะเห็นสภาพของโรงเรือนที่ปลูกพืชผักเมืองหนาวเรียงรายเป็นแนวยาวแทบสุดลูกตา
หลังจากที่ทักและแนะนำตัวพอหอมปากหอมคอ มณฑิรา พาทีมงานไปชมกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงเกษตร เริ่มที่สวน 80 พรรษา สวนเฉลิมพระเกียร ติ ซึ่งมณฑิราบอกว่า สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2550 เนื่องในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 80 พรรษา ด้านหน้าสวนจะเป็นลานดอกไม้ และน้ำตกที่มีสายน้ำไหลย้อยลงมาอย่างสวยงาม ภายในสวนตกแต่งด้วยกุหลาบพันปี และไม้ดอกไม้ประดับตามฤดูกาล โดยเฉพาะในช่วงนี้ภายในสวนจะถูกตกแต่งด้วยดอกไม้เมืองหนาวนานาชนิดอย่างสวยงาม
ถัดไปเป็นโรงเรือนรวบรวมและจัดแสดงเฟิร์น แหล่งเก็บรวบรวมพันธุ์เฟิร์นหายากและใกล้สูญพันธุ์ที่มีความสำคัญทางด้านเศรษฐกิจและพืชสวน มีพันธุ์เฟิร์นไว้กว่า 50 สกุล ราว 200 ชนิด มีทั้งที่เป็นเฟิร์นที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทยและต่างประเทศที่ใกล้จะสูญพันธุ์ นอกจากนี้ยังมีเฟิร์นลูกผสมอย่างสายพันธุ์ "รัศมีโชติ" ที่มีการผสมระหว่างสายพันธุ์กูดดอยบราซิลกับกูดดอยใบมันที่เป็นเฟิร์นในท้องถิ่น
ออกจากโรงเรือนรวบรวมและจัดแสดงเฟิร์น เข้าโรงเรือนจัดแสดงไม้ดอกไม้ประดับ มีไม้ดอกไม้ประดับชนิดต่างๆ ของมูลนิธิโครงการหลวง เช่น กล้วยไม้ บีโกเนีย หน้าวัว เปลวเทียน เป็นต้น แล้วเราเข้าสู่โรงเรือนรวบรวมและจัดแสดงพืชกินสัตว์ เช่น หม้อข้าวหม้อแกงลิง พิงกุย ซาราซีเนีย ชนิดต่างๆ ที่เหมาะสมกับสภาพอากาศบนพื้นที่สูง
อีกจุดหนึ่งที่น่าสนใจเป็นสวนกุหลาบพันปี รวบรวมพืชสกุล Rhododendron เช่น อาซาเลีย (Azalia) และกุหลาบพันปีชนิดต่างๆ หลายชนิด เป็นพืชการค้าในต่างประเทศและหลายชนิดได้ขยายพันธุ์มาจากต้นที่ขึ้นตามธรรมชาติ เช่น คำแดง หรือคำดอย (Rhododendron arboreum) ที่มีการกระจายพันธุ์อยู่ตามพื้นที่สูงของประเทศไทย เช่น ดอนอินทนนท์ ดอยอ่างขาง เป็นต้น
ออกจากสถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ เราไปชมกิจกรรมด้านการประมงที่ศูนย์วิจัยประมงน้ำจืดดอยอินทนนท์ ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมของสถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ อยู่ห่างกันไม่มากนักที่นี่เป็นมีกิจการประมงที่น่าสนใจคือคือการเลี้ยงปลาเรนโบว์เทราท์ หรือปลาสายรุ้ง มีถิ่นในทวีปอเมริกา แต่มีการเลี้ยงที่ประเทศญี่ปุนด้วย ปัจจุบันสามารถผลิตส่งตลาดและขายให้นักท่องเที่ยวที่ไปสถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ด้วยในราคา กก.ละ 500 บาท ทั้งที่สดและรมควัน
นอกจากนี้ยังมีการเลี้ยงปลาสเตอร์เจียน ที่ทดลองเลี้ยงมาตั้งแต่ปี 2548 โดยกรมประมงมีการนำเข้าไข่ปลาสเตอร์เจียนจากประเทศรัสเซียมาทดลองฝักศูนย์วิจัยประมงน้ำจืดดอยอินทนนท์จำนวนหนึ่ง ซึ่งปรากฏว่ามีอัตรารอดมาได้ถึง 90% และผลจากการทดลองเลี้ยงพบว่าปลาประเภทนี้เติบโตได้ในสภาพของภูมิอากาศบนดอยอินทนนท์ เนื่องจากปลาชนิดนี้อาศัยอยู่ในสภาพพื้นทีที่มีอากาศหนาวไม่เกิน 20 องศาเซลเซียส
พูดถึงปลาสเตอร์ที่ว่านี้ ในประเทศรัสเซียมีอายุกว่า 200 ปี หนักถึง 1.5 ตัน ยาว 5 เมตร แต่โดยทั่วไปจะพบขนาดมีน้ำหนักระหว่าง 75-100 กก. ปลาชนิดนี้เลี้ยงเพื่อนำผลผลิตไข่ ทำเป็นไข่ปลาคาเวียร์ มีราคาแพงมาก ว่ากันว่าตกที่ กก.ละกว่า 2 แสนบาท แต่ที่เลี้ยงในศูนย์วิจัยประมงน้ำจืดดอยอินทนนท์ยังไม่ออกไข่ เพราะต้องเลี้ยงให้มีอายุ 10 ปีก่อน ตอนนี้มีเพียงผลิตปลาเพื่อเป็นตัวเพื่อบริโภคเนื้อขายในราคา กก.ละ 600 บาท
ทั้งหมดเป็นส่วนหนึ่งของการสำรวจเส้นทางเพื่อนำผู้สนใจร่วมเดินทางไปกับโครงการท่องเกษตรบนที่สูงใน จ.เชียงใหม่และแม่ฮ่องสอนกับโต๊ะข่าวเกษตร "คม ชัด ลึก" ระหว่างวันที่ 29 พฤศจิกายน-2 ธันวาคม และจะไปที่สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ด้วย สนใจสอบถามได้ที่ 0-2338-3356-7 รับจำนวนจำกัด
.......................................
(หมายเหตุ ยามเช้าที่สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์สัมผัสชีวิตในอ้อมโอบของดอกไม้งาม : คอลัมน์ ท่องโลกเกษตร โดย... ดลมนัส กาเจ)