
"ไทรอยด์เป็นพิษ" รักษาให้หายขาดได้ (1)
ต่อมไทรอยด์เป็นต่อมที่มีลักษณะคล้ายผีเสื้ออยู่ด้านหน้าหลอดลมใต้กล่องเสียง มีขนาดกว้าง 6 ซม. ยาว 4 ซม. หนา 1-2 ซม. เคลื่อนขึ้นลงตามการกลืน
ทำหน้าที่สร้างฮอร์โมนไทรอยด์ซึ่งออกฤทธิ์ควบคุมการเผาผลาญพลังงาน และการทำงานของระบบต่างๆ ของร่างกาย ทั้งสภาพอารมณ์ จิตใจ การทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติ รวมทั้งการเจริญเติบโต สติปัญญา และพัฒนาการในเด็ก
โรคต่อมไทรอยด์ป็นพิษ
เป็นภาวะที่ร่างกายมีระดับของฮอร์โมนไทรอยด์ในเลือดสูงกว่าปกติ ซึ่งอาจเกิดจาก
- ต่อมไทรอยด์ (Grave’s Disease) หรือก้อนที่ต่อมไทรอยด์ซึ่งเป็นก้อนเดี่ยว (Toxic Adenoma) หรือหลายก้อน (Toxic Multinodular Goiter) สร้างฮอร์โมนออกมามากขึ้น
- การหลั่งฮอร์โมนที่เก็บสะสมไว้ในต่อมไทรอยด์ออกมา จากการอักเสบของต่อมไทรอยด์ (Thyroiditis)
- การได้รับฮอร์โมนไทรอยด์จากแหล่งอื่น เช่น รับประทานยา หรืออาหารที่มีฮอร์โมนไทรอยด์เป็นองค์ประกอบ หรือจากเนื้องอก เช่น เนื้องอกรังไข่ (Struma Ovarii) มะเร็งไทรอยด์บางชนิด
อาการ
เหนื่อยง่าย ใจสั่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ หิวบ่อย น้ำหนักลดแม้ทานอาหารมากขึ้น ขี้ร้อนขี้หงุดหงิด ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ กล้ามเนื้อแขนขาอ่อนแรง ต่อมไทรอยด์อาจมีขนาดโตขึ้น บางรายอาจมีอาการตาโปนขึ้น
กรณีที่เป็นโรคมานาน มีอาการรุนแรง อาจพบภาวะหัวใจวาย สับสน ประสาทหลอนได้ ในผู้สูงอายุอาการมักไม่ชัดเจนอาจพบเพียงน้ำหนักลด อ่อนเพลีย และเบื่ออาหารเท่านั้น
การวินิจฉัยมักได้จากประวัติการตรวจร่างกาย ร่วมกับการตรวจเลือดที่พบระดับฮอร์โมนไทรอยด์สูงขึ้น
การรักษาโดยทั่วไปทำได้ 3 วิธี
1.การรับประทานยา เพื่อลดการสร้างฮอร์โมนไทรอยด์
ผู้ป่วยมักต้องทานยาต่อเนื่องประมาณ 12-18 เดือน วิธีนี้เหมาะกับผู้ป่วยอายุน้อย เป็นโรคมาไม่นาน ต่อมไทรอยด์มีขนาดโตไม่มาก หรือผู้ป่วยที่มีข้อห้ามในการผ่าตัด เช่น มีโรคประจำตัวหลายโรค
2.การรับประทานน้ำแร่รังสีไอโอดีน
เป็นวิธีที่เหมาะกับผู้ป่วยสูงอายุ หรือผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ เป็นโรคมานาน ผู้ป่วยที่กลับมาเป็นซ้ำหลังรับประทานยาครบตามกำหนด ผู้ป่วยที่แพ้ยาต้านไทรอยด์แบบรุนแรง
3.การผ่าตัด
เหมาะกับผู้ป่วยที่ต่อมไทรอยด์มีขนาดโตมาก มีการกดเบียดอวัยวะข้างเคียงจากต่อมไทรอยด์ เช่น กลืนลำบาก หายใจลำบาก หรือผู้ป่วยที่สงสัยอาจมีมะเร็งต่อมไทรอยด์ร่วมด้วย รวมทั้งผู้ป่วยที่มีอาการทางตาจากภาวะไทรอยด์เป็นพิษขั้นรุนแรง (Severe Grave’s Ophthalmopathy)
โรคไทรอยด์เป็นพิษ เป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายขาดได้ โดยผู้ป่วยต้องมาพบแพทย์เพื่อติดตามอาการอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง ไม่ควรหยุดยาหรือปรับขนาดยาเอง เพราะอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงจากยาและทำให้รักษาหายยากขึ้น ในกรณีที่รักษาหายขาดแล้วควรมีการติดตามระดับฮอร์โมนไทรอยด์ในเลือดอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เนื่องจากอาจมีโอกาสกลับเป็นซ้ำหรือเกิดภาวะฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำได้
ภาวะต่อมไทรอยด์อักเสบ จะมีอาการไทรอยด์เป็นพิษเพียงชั่วคราว จึงไม่จำเป็นต้องได้รับยาต้านฮอร์โมน แต่จะรักษาตามอาการ ได้แก่ การรับประทานยาลดอาการใจสั่น กรณีที่มีใจสั่น มือสั่น หรือยาลดอาการปวดถ้ามีอาการปวดบริเวณต่อมไทรอยด์เท่านั้น
ศูนย์เบาหวาน ไทรอยด์ และต่อมไร้ท่อ กรุงเทพ
โรงพยาบาลกรุงเทพ
โทร.0-2755-1129, 0-2755-1130