
ต้นแบบ'เทศกาลกิฟท์ เฟสติวัล มัณฑนศิลป์'
เปิดตำนานต้นแบบเทศกาลกิฟท์ เฟสติวัล มัณฑนศิลป์ : คอลัมน์ แต่งร้านให้ได้ล้าน โดย... อ.เอกพงษ์ ตรีตรง www.ideal1group.com
บรรยากาศช่วงเฉลิมฉลองปลายปี ต้นปี เข้าสู่หน้าหนาว มีเทศกาลใหญ่ๆ มากมาย การหาซื้อของฝากของขวัญ สำหรับการ "ให้" ซึ่งกันและกันมีมาช้านาน ทุกความเชื่อ ทุกๆ สังคม ต่างมีสิทธิการ “ให้” แตกต่างกัน และถือเป็นความสมดุลของมนุษย์ที่อยู่อาศัยด้วยความรักในโลกแห่งนี้ ผลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้นจากการรังสรรค์ของมนุษย์มีเอกลักษณ์แตกต่างตามชุมชน สังคม โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่มีไว้สำหรับการ “ให้”
ของขวัญ ขนม และดนตรี คือตัวแทนแห่งความสุขที่ทุกคนตั้งใจมอบให้กันในบรรยากาศของขวัญที่มีดีไซน์คลุกเคล้ากับขนมที่น่ารับประทาน และดนตรีอันไพเราะ ในความหมายเชิงบวกและการอวยพรซึ่งกันและกัน
การออกแบบสร้างสรรค์ มักมีส่วนอย่างมากที่ทำให้ของขวัญมีเสน่ห์ น่าประทับใจ อุตสาหกรรมประเภทนี้เป็นธุรกิจที่ไม่มีวันสูญหายไปจากโลกนี้ และพร้อมที่จะเติบโตไปกับโลก ตราบใดที่คนในโลกยังรักที่จะ “ให้” กันและกัน
เทศกาล “ของขวัญ ขนม และดนตรี” กิฟท์ เฟสติวัล จากเดิมเมื่อ 30 ปี ที่ผ่านมาเริ่มต้นครั้งแรกที่ลานกิจกรรมกลางแจ้งในบริเวณภายในมหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ คณะมัณฑนศิลป์ได้จัดกิจกรรมแบบนี้ขึ้นมาเป็นครั้งแรก และถือเป็นต้นฉบับในการออกแบบของที่ระลึกที่มีดีไซน์ คลุกเคล้ากับบรรยากาศจัดงานที่มีทั้งขนม ดนตรี และการออกร้านของนักศึกษาด้วยผลิตภัณฑ์แปลกใหม่มีไอเดีย มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว
เทศกาลขนม ของขวัญ และดนตรี หรือ Gift Festival วลีสนุกไพเราะ เสนาะโสตความสุขของนักแสวงหาความคิดริเริ่ม เป็นอันเข้าใจตรงกันว่าหมายถึงเทศกาลงานระดับตำนานที่เรียกกันสั้นๆ ว่า “งานกิฟท์” งานกิฟท์เกิดขึ้นจากเหล่านักศึกษาคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัย วังท่าพระ ที่ทุ่มเทและร่วมใจกันสร้างสรรค์ขึ้น สืบเนื่องกันมายาวนานตั้งแต่ครั้งแรกที่ถูกจัดขึ้นในสมัยหม่อมเจ้ายาใจ จิตรพงศ์ เมื่อครั้งเป็นคณบดี เป็นการนำการเรียนการสอนจากในห้องเรียนและงานบริการวิชาการที่ถูกนำมาจัดแสดงเพื่อเผยแพร่สู่สาธารณชน และยังมีการแสดงดนตรีโดยนักศึกษาคณะมัณฑนศิลป์
มัณฑนศิลป์ที่ในปัจจุบันมีความชำนาญจนสามารถต่อยอดการออกแบบออกเป็น 7 ภาควิชาอันได้แก่ ภาควิชาออกแบบภายใน ภาควิชาออกแบบนิเทศศิลป์ ภาควิชาออกแบบผลิตภัณฑ์ ภาควิชาประยุกต์ศิลป์ศึกษา ภาควิชาออกแบบเครื่องเคลือบดินเผา ภาควิชาออกแบบเครื่องประดับ และภาควิชาออกแบบเครื่องแต่งกาย ทั้งหมดล้วนเป็นต้นน้ำทางความคิดสร้างสรรค์ที่ผลิตบุคลากรที่สร้างคุณูปการให้แก่วงการศิลปะ และการออกแบบทั้งในระดับประเทศและระดับโลกมาแล้วหลายต่อหลายรุ่น
มาจนถึงครั้งนี้ในสมัยท่านคณบดี ผช.ศ.เอกพงษ์ ตรีตรง งานเทศกาลขนม ของขวัญ และดนตรี ครั้งที่ 31 ซึ่งกำลังจะเกิดขึ้นวันที่ 12-16 ธันวาคม 2556 ซึ่งครั้งนี้จะมาพร้อมกับแนวความคิดที่แปลกกว่าทุกปี ที่บรรดาเด็กเด๊ก (“DEC” ชื่อเรียกนักศึกษาคณะมัณฑนศิลป์) ตั้งชื่อว่า ไซโคโลกิฟท์ ซึ่งสามารถอธิบายได้ถึงความไม่ธรรมดาที่นำสไตล์แนวคิดของศิลปะตามแบบฉบับของ “Psychodelic” มาต่อยอด ผสมผสานกับความสนุกแบบสร้างสรรค์ของนักศึกษา
โดยรูปแบบแนวคิด ไซโคโลกิฟท์ อาจสะท้อนให้เห็นถึงความนิยมชมชอบของคนในยุคใหม่ตลอดจนไอเดียของนักออกแบบรุ่นเยาว์ที่อาจสะท้อนให้เห็นว่าความแปลกๆ นอกกรอบ เพี้ยนๆ ในบางโอกาสอาจเป็นส่วนหนึ่งของการออกแบบแห่งโลกอนาคตก็ว่าได้
.......................................
(หมายเหตุ เปิดตำนานต้นแบบเทศกาลกิฟท์ เฟสติวัล มัณฑนศิลป์ : คอลัมน์ แต่งร้านให้ได้ล้าน โดย... อ.เอกพงษ์ ตรีตรง www.ideal1group.com )