
วงการแพทย์เผยขาดแคลนนักเวชนิทัศน์
แพทย์ระบุยังขาดผู้เชี่ยวชาญด้านเวชนิทัศน์อีกมาก เพื่อรองรับวิชาการแพทย์ที่จะเข้ามาหลังเปิดประตูสู่อาเซียนด้วย
วันที่ 22 พ.ย. 2555 ที่ห้องประชุม 89 พรรษาคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้จัดการประชุมวิชาการเรื่อง ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการศึกษาแพทยศาสตร์ ครั้งที่ 2 ขึ้น โดยเป็นความร่วมมือของหลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีการศึกษาแพทยศาสตร์ ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับ สมาคมเวชนิทัศน์แห่งประเทศไทย หลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีการศึกษาแพทยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล และ หลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต สาขาวิชามีเดียทางการแพทย์ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนนบุรี บางขุนเทียน ซึ่งเป็นแหล่งผลิตนักเวชนิทัศน์ออกสู่วงการสาธารณสุข โดยมี ศ.นพ.พิเศก ลุมพิกานนท์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นประธาน
โดย ศ.นพ.ภิเศก กล่าวว่า ที่ผ่านมา คนรู้จักนักเวชนิทัศน์น้อย เสมือนคนอยู่เบื้องหลังทั้งที่ความจริงมีความสำคัญกับวงการแพทย์และวงการสาธารณสุขอย่างยิ่ง เพราะเป็นคนที่คอยผลิตสื่อ ให้กับแพทย์ พยาบาล และ คนที่ทำการรักษา หากมีนักเวชนิทัศน์ที่มีความรู้ความสามารถและสามารถผลิตสื่อด้านการแพทย์ได้ดี จะทำให้การรักษาง่ายขึ้น สะดวกขึ้น รวมทั้งการเรียนการสอนด้านการแพทย์ก็จะดีขึ้นด้วย และปัจจุบันการผลิตบัณฑิตในสาขาวิชานี้ยังมีน้อย โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยขอนแก่นเองเพิ่งเปิดหลักสูตร 4 ปี มาได้แค่ 2 ปีการศึกษาโดยก่อนหน้านั้น ผลิตบัณฑิตในหลักสูตร 2 ปีซึ่งแต่ละปีเปิดรับนักศึกษาแค่ 20 กว่าคนเท่านั้น
"อนาคตในสาขาวิชานี้ อยากจะให้เปิดในระดับบัณฑิตศึกษา หรือ ระดับปริญญาโท และ ปริญญาเอก เพราะมีความจำเป็นและความต้องการในด้านนี้มาก และอยากจะได้นักเวชนิทัศน์ที่มีความรู้เฉพาะทาง เฉพาะด้าน เพื่อพัฒนาวงการสื่อด้านเวชนิทัศน์ให้ก้าวไปไกลมากยิงขึ้น โดยเฉพาะการเปิดประตูสู่อาเซียนนั้น หากมีการไหลเข้ามาของอาชีพแพทย์และพยาบาลนักเวชนิทัศน์ของไทยก็จำเป็นในการผลิตสื่อเพื่อให้เป็นสากลมากยิ่งขึ้น เพราะหากสื่อที่ออกมาไม่สอดคล้องหรือไม่สามารถสื่อสารเข้าใจได้ในวงกว้างก็จะถูกนำไปใช้ประโยชน์ได้ไม่ดีนัก แต่ถ้าหากนักเวชนิทัศน์ของไทยสามารถผลิตสื่อด้านนี้ได้ดีก็จะเพิ่มศักยภาพในการรักษาพยาบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพและก้าวสู่สากลได้มากยิ่งขึ้นด้วย"ศ.นพ.ภิเศก กล่าว
ด้านผศ.ดร.นพพล เผ่าสวัสดิ์ หัวหน้าสถานเทคโนโลยีการศึกษาแพทยศาสตร์ และ ผู้อำนวยการโรงเรียนเวชนิทัศน์ สาขาวิชาเทคโนโลยีการศึกษาแพทยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา ศิริราชพยาบาลถือเป็นโรงเรียนที่เปิดสอนด้านเวชนิทัศน์เป็นแห่งแรกของประเทศไทย และ ปัจจุบันได้ผลิตบัณฑิตออกมาหลายรุ่น แต่ยังมีจำนวนน้อยอยู่เพราะผลิตได้ปีละไม่มากนัก เพราะนักศึกษาที่จะต้องมาเรียนสาขานี้จะต้องคัดสรร เลือกเฟ้นเป็นพิเศษ เพราะคนเรียนจะต้องมีความสามารถด้านศิลปะ การทำสื่อ และเรียนรู้เรื่องพื้นฐานด้านการแพทย์ด้วย เพราะจะได้รู้เนื้อหาและข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นจริงของสาขาวิชาการแพทย์ เพื่อจะได้เป็นผู้ช่วยแพทย์ได้อย่างแท้จริง และอนาคตหากมีการร่วมมือกันระหว่าง 3 สถาบันอย่างต่อเนื่อง โอกาสที่จะมีการเปิดการเรียนการสอนระดับบัณฑิตศึกษาก็จะมีโอกาส แต่ปัญหาในขณะนี้ที่พบคือ มีอาจารย์ที่จบปริญญาเอกด้านเวชนิทัศน์นี้น้อย ทำให้ยังเป็นอุปสรรคสำหรับการเปิดในระดับบัณฑิตศึกษาอยู่
"ส่วนศิษย์เก่าที่จบออกไปหลายรุ่น ได้ไปทำงานทั้งในระบบราชการ และ เอกชน และพบว่ายังมีความต้องการคนที่จบด้านนี้เป็นจำนวนมาก และ ยิ่งเมื่อมีการก้าวสู่ประชาคมอาเซียนนั้น พบว่าในภูมิภาคอาเซียนมีเพียงประเทศไทยเท่านั้นที่ผลิตบัณฑิตด้านเวชนิทัศน์ ประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียนยังไม่มีใครเปิด หากประเทศไทยผลิตบัณฑิตด้านนี้ให้มีคุณภาพ และ บัณฑิตสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ดี รับรองว่าจะเป็นที่ต้องการของประชาคมอาเซียนอย่างมากแน่นอน"ผศ.ดร.นพพล กล่าว
..........................................................................................
( หมายเหตุ : ภาพจาก http://www.gotoknow.org )