ไลฟ์สไตล์

มหัศจรรย์10ชาติพันธุ์แม่สาย

มหัศจรรย์10ชาติพันธุ์แม่สาย

29 พ.ย. 2555

ศิลปวัฒนธรรม : มหัศจรรย์ 10 ชาติพันธุ์แม่สาย

                          การที่กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่เดินทางเข้ามายังประเทศไทย โดยเฉพาะบริเวณอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย เมืองที่ตั้งอยู่เหนือสุดและมีพรมแดนที่ติดต่อและเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านด้วยลำน้ำหลายสาย จึงเป็นการสะดวกที่กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ สามารถเดินทางเข้ามายังประเทศไทยโดยสะดวก ด้วยการอพยพย้ายถิ่นที่อยู่จากแหล่งพำนักเดิมมายังที่ใหม่ในพื้นที่ที่สมบูรณ์กว่าเหมาะแก่การหาเลี้ยงชีพ การอพยพเนื่องจากภัยสงคราม การย้ายถิ่นเนื่องจากการทำงาน การย้ายถิ่นจากเนื่องจากสาเหตุอื่นๆ เช่น การติดตามบุคคลที่นับถือ (พระสงฆ์) เพื่อที่จะได้ใกล้ชิด อย่างเช่น กลุ่มดาระอั้ง บ้านสันต้นปุย ตำบลโป่งงาม เป็นต้น

                          จนในปัจจุบันได้มีการรวบรวมข้อมูลถึงกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในอำเภอแม่สายที่โดดเด่นมีอยู่ 10 ชาติพันธุ์ 3 ตระกูลภาษา ได้แก่ กลุ่มตระกูลภาษาไท ประกอบด้วย ชาวไตย (ไทใหญ่), ชาวไทลื้อ, ชาวไทเขิน,ชาวไทยวน (ไทโยน ไทยโยนก หรือ ล้านนา) และ ชาวไตหย่า กลุ่มตระกูลภาษาจีน-ทิเบต ประกอบด้วย ชาวไทยเชื้อสายจีน ประกอบด้วย จีนฮ่อ จีนคณะชาติ จีนหยูนหนาน, ชาวอาข่า (อีก้อ), ชาวลาหู่ (มูเซอ) และกลุ่มตระกูลภาษาออสโตรเอเชียติก (มอญ-เขมร) ประกอบด้วย ชาวลัวะ และ ชาวดาระอั้ง (ปะหร่อง) และรวมกันหลากหลายเผาพันธุ์ขนานนี้ ขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรมจึงมีแตกต่างกันออกไป นั่นเองจึงเป็นเหตุให้เทศบาลตำบลแม่สาย ร่วมกับศูนย์วิจัยและพัฒนาชาน้ำมันและพืชน้ำมัน จัดงาน "มหัศจรรย์ 10 ชาติพันธุ์แม่สาย" ในระหว่างวันที่ 6-10 ธันวาคมนี้ บริเวณศูนย์วิจัยและพัฒนาชาน้ำมันและพืชน้ำมัน อ.แม่สาย จ.เชียงราย

                          ขวัญใจ ชีวานนท์ ผู้อำนวยโครงการศูนย์วิจัยและพัฒนาชาน้ำมันและพืชน้ำมัน ในฐานะผู้ดูเรื่องในเรื่องการประชาสัมพันธ์ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับงานดังกล่าวว่า งานนี้เพื่อเป็นการสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆในเมืองแม่สาย กับคนในพื้นที่ ตลอดจนประชาชนจากต่างๆ พื้นที่ ให้รู้และเข้าใจในวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมของชนเผ่าต่างๆ เพื่อก่อให้เกิดความสามัคคี การร่วมมือกันในทุกกลุ่ม และยังเพื่อให้เยาวชนรุ่นหลังได้เข้าใจ รับรู้ และสืบทอดสิ่งต่างๆ ที่ทรงคุ้นค่าตลอดไป ตลอดจนเป็นการพัฒนาวิถีต่างๆเหล่านี้ให้สอดคล้องกับสภาพสังคมในปัจจุบัน

                          "อย่างวัฒนธรรมของชาวอาข่า ซึ่งอาข่าแปลตามภาษาของอาข่าได้ว่า อา...เป็นคำขึ้นต้นที่อาข่าใช้เรียกบุคคล ข่า..แปลว่า ไกล-ห่างไกล เมื่อมารวมกันจึงให้ความหมายว่า กลุ่มคนที่อาศัยอยู่บนดอยสูง ซึ่งห่างไกลจากความเจริญ ฉะนั้นวิถีของอาข่าจึงเป็นแบบง่ายๆ ไม่ยึดติดกับอะไรมากไป ชาวอาข่าเป็นชนเผ่าที่รักความสนุกสนาน ชอบการร้องรำทำเพลง แม้กระทั่งเวลาเดินทางไปไร่ ก็มีการร้องเพลงไปด้วย เด็ดใบไม้ข้างทางมาเป่าเป็นเสียงเพลงอันไพเราะ และขณะทำไร่อยู่หนุ่มอาข่าก็ร้องเพลงโต้ตอบกับสาวอาข่า โดยเสียงเพลงที่เปล่งออกมา จะลั่นไปทั่วทั้งหุบเขา นั่นเองจึงทำชนเผ่านี้มีความสนุกสนานอยู่ในตัวเสมอ ส่วนการแต่งกาย ของหนุ่มสาวอาข่าจะมีการประดับประดาอย่างสวยงามด้วยวัสดุอุปกรณ์ที่หาง่ายในท้องถิ่น อย่างเหรียญที่ห้อยอยู่บนเสื้อผ้าเมื่อกระทบกันก็จะมีเสียงที่น่าฟังไพเราะ" ขวัญใจ เล่าถึงวิถีชาวอาข่า

                          โดยภายในงานจะแบ่งกิจกรรมเป็นโซนต่างๆ อย่าง โซนหมู่บ้านชาติพันธุ์ ที่จะจัดแสดงวิถีชีวิต ประเพณี วัฒนธรรม สินค้าหัตถกรรม อาหารชาติพันธุ์ ภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่พักอาศัยของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ จะเน้นสีสันในช่วงกลางวัน ตั้งแต่ เช้าจนถึงตอนเย็น มีการละเล่น งานประเพณีจำลอง การจำหน่ายและสาธิตอาหาร งานหัตถกรรม ภูมิปัญญา ความเชื่อ การแพทย์ สับเปลี่ยนกันในแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ให้มีความตื่นเต้นและบรรยากาศของงานไม่ดูเงียบจนเกินไป

                          โซนอาหารสี่ภาคและสินค้าชุมชน (OTOP) จะมีการจำหน่ายสินค้าทำมือ งานหัตถกรรม อาหารสี่ภาค อาหารพื้นถิ่น ร้านจำหน่ายกาแฟของแม่สาย ร้านค้าของทางโครงการหลวง และ โครงการพระราชดำริ พระดำริ โซนลานขันโตกและเวทีกลางแจ้ง จะเป็นการแสดงแสง สี เสียงอย่างสุดอลังการ ประกอบกับการรับประทานอาหารแบบขันโตก อาหารที่นำมาเสิร์ฟเป็นอาหารพื้นถิ่นและอาหารชนเผ่า และโซนถ่ายภาพ มุมประทับใจ แลนด์มาร์คของงาน งานเดียวรู้จักหลายชาติพันธุ์อย่างนี้...พลาดไม่ได้นะคะ