การออกแบบคือชีวิตและวงจรชีวิตของมนุษย์
การออกแบบคือชีวิตและวงจรชีวิตของมนุษย์ : คอลัมน์ อยู่สบาย โดย... อ.เอกพงษ์ ตรีตรง www.ideal1group.com
การออกแบบที่ประสบความสำเร็จในปัจจุบันจะต้องได้รับการบูรณาการจากหลายศาสตร์ และยิ่งมากศาสตร์มากความรู้ก็ยิ่งส่งเสริมให้การออกแบบมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น การออกแบบที่ดีจึงต้องมีความเป็นเอกภาพแต่ประกอบด้วยกิ่งก้าน สาขา ประสานกันเป็นต้นไม้ใหญ่ ความถนัดด้านใดด้านหนึ่งไปเลยแต่ไม่ใส่ใจอีกด้านจะอยู่ยากและมีปัญหา แม้จะมีความพิเศษเฉพาะทางแต่องค์ประกอบอื่นจะต้องมาเป็นตัวส่งเสริมให้ความพิเศษเหล่านั้น มีความพิเศษมากเข้าไปอีก การบูรณาการของศาสตร์องค์ความรู้จึงมีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสาขาออกแบบ
ในการสร้างสรรค์โครงการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นร้านค้า โรงแรม สำนักงาน สถานที่สาธารณะเพื่อการค้าพาณิชย์ต่างๆ จำเป็นต้องมีการจัดการให้เกิดมิติแห่งการบูรณาการมากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งสาขาออกแบบที่นำมาใช้ในการสร้างสรรค์โครงการเพื่อเกิดความเป็นเอกภาพ ยกตัวอย่างใน 1 โครงการจะต้องประกอบด้วย การออกแบบผังบริเวณภูมิสถาปัตย์ สถาปัตยกรรม การออกแบบภายใน การออกแบบเครื่องเรือน การออกแบบภาพลักษณ์องค์กร โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานกราฟิก ป้าย เครื่องหมาย สัญลักษณ์ต่างๆ การออกแบบเครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ การออกแบบอุปกรณ์อำนวยความสะดวก และผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีในโครงการการออกแบบแสงสว่าง การออกแบบกิจกรรมต่างๆ ให้มีความกลมกลืนภายใต้ธีมเดียวกัน
เพื่อภาพลักษณ์ที่สะท้อนออกมาอย่างเป็นเอกภาพ เสมือนการออกแบบคือชีวิต โดยทุกอย่างที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน ผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในการใช้สอยจำเป็นต้องได้รับการออกแบบแทบทั้งสิ้น การออกแบบจึงถือว่าอยู่ในวิถีชีวิตของมนุษย์ให้มีระบบ ระเบียบ มีความสะดวกสบายและมีสุนทรียภาพ กระบวนการในการออกแบบจะต้องประสานกันโดยแยกย่อยออกได้ตั้งแต่สิ่งที่เล็กที่สุดไปจนถึงสิ่งที่ใหญ่ที่สุด โดยมีมนุษย์เป็นศูนย์กลาง เพราะเป็นผู้ใช้สอยตรง การศึกษาพฤติกรรมของมนุษย์จึงเป็นเรื่องที่สำคัญในการก่อเกิดผลิตภัณฑ์ และโครงการต่างๆ ถึงเริ่มต้นกระบวนการดังนี้
1.การออกแบบภาพลักษณ์องค์กร
จุดเริ่มต้นครั้งแรกที่ต้องจุดประกายขึ้นมาก่อน และถือว่ามีส่วนสำคัญอย่างมาก โดยจากการค้นคว้าหาข้อมูลแล้วแตกประเด็นจากพฤติกรรมองค์กร จุดขายองค์กร แนวทางการตลาดเฉพาะลูกค้าที่มาใช้บริการ สามารถสร้างสรรค์ออกเป็นงานออกแบบภาพลักษณ์ อันประกอบด้วย การออกแบบโลโก้ สัญลักษณ์ กราฟฟิก โบรชัวร์ เสื้อผ้าพนักงาน ฯลฯ ให้เป็นธีมเดียวกัน สัญลักษณ์เดียวกัน
2.การออกแบบพื้นผิว
จริงๆ แล้วถ้าจะเริ่มต้นออกแบบตั้งแต่สิ่งที่เล็กสุดก็เห็นจะเป็นแพทเทิร์นพื้นผิวสัมผัสไปจนถึงลวดลายที่ปรากฏอยู่บนผิวระนาบ การออกแบบที่ลงลึกจึงสะท้อนสู่รายละเอียดเหล่านี้ที่มีความประณีต สามารถบ่งบอกแนวความคิดได้ชัดเจน นักออกแบบหลายคนอาจละเลยมองข้ามการออกแบบในประเด็นนี้ แต่ถ้าเป็นมืออาชีพจะต้องใส่ใจทุกตารางของลวดลาย นวัตกรรมในการออกแบบและการผลิต ตลอดจนพื้นผิวของแต่ละวัสดุ
3.ศิลปะการตกแต่ง
การประยุกต์ศิลป์ เพื่อการตกแต่งเป็นส่วนสำคัญในการออกแบบให้เกิดเสน่ห์ เกิดสุนทรียภาพ เกิดความงดงาม เกิดคุณค่าของอาคาร จะต้องมีงานศิลปะเข้ามาประดับ จัดวางองค์ประกอบ และถ้าสามารถเลือกงานศิลปะหรือออกแบบขึ้นมาเฉพาะโครงการก็ยิ่งช่วยให้โครงการมีมูลค่า มีรสนิยม ศิลปะตกแต่งอาจสะท้อนแนวคิดนักออกแบบ หรือสะท้อนความเป็นตัวตนของโครงการ ศิลปินหลายคนสามารถใช้ทักษะและแนวความคิด เพื่อส่งเสริมพื้นที่ในเชิงบวกได้จนโครงการประสบความสำเร็จมากที่สุด
4.การออกแบบผลิตภัณฑ์
ภายใต้ธีมเดียวกันของโครงการการออกแบบที่สมบูรณ์จะต้องมีความเป็นเอกภาพเชื่อมกันทั้งหมด การออกแบบผลิตภัณฑ์ คือ บทสะท้อนที่สัมผัสได้ ใช้สอยได้และมีพลังต่อธุรกิจที่จะตอบสนองพฤติกรรมผู้บริโภค ผู้ใช้สอยได้เป็นอย่างดี การออกแบบผลิตภัณฑ์จะต้องมีองค์ประกอบสำคัญ เช่น การใช้สอยที่ดีเลิศ รูปแบบที่น่าสนใจ มีสุนทรียภาพที่มีเสน่ห์ดึงดูด สอดคล้องกับรูปแบบของแต่ละธุรกิจ มีนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อตอบสนองการอยู่อาศัยที่สมบูรณ์
5.การออกแบบสภาพแวดล้อมภายในมัณฑนากร คือ ศูนย์กลางของการอยู่อาศัยและใช้สอยในโครงการ เป็นผู้ที่มีความสามารถในการจัดวาง กำหนดพื้นที่ใช้สอยของอาคาร กำหนดรูปแบบและแนวความคิดสำหรับคุณภาพชีวิตของมนุษย์ การออกแบบภายใน และสภาพแวดล้อมรอบตัวภายในอาคาร มีบทบาทมาก เช่น ถ้าเป็นพื้นที่การค้าและสาธารณะ สามารถเป็นตัวแปรในการส่งเสริมความสำเร็จของธุรกิจ ความเชื่อถือองค์กร ตลอดจนความสะดวกสบายคล่องตัวในการใช้พื้นที่ให้มีประสิทธิภาพ
6.การออกแบบสถาปัตยกรรม สถาปนิก คือ อาชีพที่ถือเป็นพี่ใหญ่ในการก่อเกิดโครงการเป็นผู้มีใบอนุญาตควบคุมตามสภาวิชาชีพ สถาปัตยกรรมในอนาคต จะต้องบูรณาการกับทุกศาสตร์และสามารถสร้างปรากฏการณ์ของโครงการได้มากกว่าแค่ตัวอาคาร เช่น ปรากฏการณ์ทางการรับรู้ ปรากฏการณ์ของชุมชน ปรากฏการณ์ของยุคสมัย ปรากฏการณ์แห่งอารยะ เป็นตัวแทนแห่งอารยธรรม ฟังดูยิ่งใหญ่ครับ แต่เป็นอย่างนี้มาตั้งแต่โบราณการแล้วที่สถาปัตยกรรม คือ ตัวแทนแห่งยุค ฉะนั้นการสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมจึงไม่ใช่เรื่องเล็กๆ ที่ขยาย แต่เป็นเรื่องใหญ่ของสังคมนั้นๆ ด้วย
7.ภูมิสถาปัตยกรรม
การจัดภูมิทัศน์ คือ การสร้างสรรค์ให้ภาพลักษณ์ของอาคารมีคุณค่า มีสภาวะน่าสบายเป็นจุดเชื่อมโยงสู่อาคารอย่างกลมกลืน การออกแบบยุคใหม่ ภูมิสถาปัตยกรรมมีความสำคัญมากเพราะการประสานระหว่างภายในอาคารกับสภาพแวดล้อมภายนอกมีความจำเป็นอย่างมากโดยเฉพาะอาคารที่เน้นการประหยัดพลังงาน และอาคารที่ใส่ใจความเป็นธรรมชาติ และเพื่อความเข้าใจในการออกแบบองค์รวมอันมีผลต่อชีวิต ถ้าได้รับแนวทางที่ถูกต้องอย่างครบวงจรอย่างครบวงจรจะได้รับความสำเร็จในเปอร์เซ็นต์ที่สูงอย่างมาก นักลงทุนรุ่นใหม่ควรปรับทัศนคติในการลงทุนเพื่อเข้าสู่ยุคแห่งการสร้างสรรค์แนวทางเดิมๆที่ละเลยการออกแบบอาจเข้าสู่ความล้มเหลว ขาดพลัง เพราะยุคแห่งอารยชนต่อจากนี้การออกแบบและความคิดสร้างสรรค์คือแรงขับเคลื่อนของสังคมครับ ติดต่อเข้าปรึกษาทีมงานมัณฑนศิลป์ ได้ที่โทรศัพท์ 0-2984-0091-2 เรามีคำตอบให้ทุกธุรกิจครับ
.......................................
(หมายเหตุ การออกแบบคือชีวิตและวงจรชีวิตของมนุษย์ : คอลัมน์ อยู่สบาย โดย... อ.เอกพงษ์ ตรีตรง www.ideal1group.com )