ชาวเน็ตต้าน!ทุบตึก'ศาลฎีกา'
พลังโซเชียลมีเดีย ฮือต้านทุบอาคารศาลฎีกา ชี้ทำลายสัญลักษณ์ประวัติศาสตร์ที่ไทยปลดแอก "เอกราชทางการศาล" ปี 2481 ขณะที่เลขาฯศาลยันคุยกรมศิลป์แล้ว - รื้อแค่บางส่วน
19 ธ.ค. 55 หลังจากเรื่องการรื้อศาลฎีกา ฝั่งตรงข้ามสนามหลวง ถนนราชดำเนินใน กรุงเทพฯ เพื่อสร้างขึ้นใหม่เป็นประเด็นความขัดแย้งยืดเยื้อมาหลายปี ความคืบหน้าล่าสุดกลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมาอีกครั้งในสังคมโซเชียลมีเดีย ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลยุติโครงการดังกล่าว
ผู้ใช้ชื่อ "Chatri Prakitnonthakan" ได้เขียนบันทึกผ่านเฟซบุ๊กไว้เมื่อวันที่ 15 ธันวาคมที่ผ่านมา ในหัวข้อ "เหตุผลที่ควรระงับการรื้อกลุ่มอาคารศาลฎีกา (โดยทันที)" เนื้อหาส่วนหนึ่งระบุว่า ขณะที่ทุกท่านกำลังอ่านข้อความนี้อยู่ กลุ่มอาคารศาลฎีกา กำลังถูกรื้อถอนทำลายลงอย่างเงียบๆ เพื่อสร้างเป็นอาคารศาลฎีการูปทรงสถาปัตยกรรมไทยประเพณีขนาดใหญ่ขึ้นแทนที่
กลุ่มอาคารชุดนี้เริ่มสร้างในปี 2482 (สมัยรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม) เพื่อเป็นอนุสรณสถานในการระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ที่ประเทศไทยได้รับ “เอกราชทางการศาล” คืนอย่างสมบูรณ์ในปี 2481 นับจากที่ต้องสูญเสียไปตั้งแต่เมื่อครั้งทำสนธิสัญญาเบาริ่งในสมัยรัชกาลที่ 4 นอกจากนี้ตัวอาคารยังถูกออกแบบก่อสร้างขึ้นด้วยรูปแบบทางสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ ที่สะท้อนแนวคิดและอุดมคติอย่างใหม่ของสังคมไทยในยุคประชาธิปไตยตามนิยามของ “คณะราษฎร” ซึ่งหลงเหลืออยู่ไม่มากนักในปัจจุบัน
กล่าวโดยสรุป กลุ่มอาคารศาลฎีกา มิได้มีสถานะเป็นเพียงแค่ตึกอาคารราชการที่เอาไว้ให้เจ้าหน้าที่ศาลนั่งทำงานเพียงอย่างเดียว แต่เป็นสถาปัตยกรรมที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์สังคมและการเมืองสมัยใหม่ของไทย และมีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์พัฒนาการทางศิลปะและสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ในประเทศไทย
จากความสำคัญดังกล่าว สมาคมสถาปนิกสยาม จึงประกาศมอบรางวัลอาคารควรค่าแก่การอนุรักษ์ เมื่อปี 2550 และรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่นในปี 2552 ส่วนกรมศิลปากรยังได้มีหนังสือยืนยันไปยังศาลเมื่อปี 2552 ว่า กลุ่มอาคารศาลฎีกาเป็นโบราณสถานตามนิยามที่กฎหมายกำหนด หากรื้อถอนหรือเปลี่ยนแปลงจำเป็นจะต้องได้รับการอนุมัติจากกรมศิลปากร
อย่างไรก็ตาม เมื่อต้นเดือนธันวาคม 2555 ศาลฎีกาได้เริ่มดำเนินการรื้อถอนอาคารในส่วนด้านที่ติดกับคลองคูเมืองเดิม โดยเริ่มจากการรื้อถอนภายใน และจากการสอบถามจากช่างที่กำลังรื้อถอนอาคารอยู่ ได้ทราบว่า โครงการรื้ออาคารทั้งหมดในส่วนนี้มีกำหนดแล้วเสร็จภายใน 4 เดือน (หรือประมาณเดือนมีนาคม-เมษายน 2556)
"Chatri Prakitnonthakan" ระบุอีกว่า การรื้อถอนและทำลายกลุ่มอาคารศาลฎีกาครั้งนี้ จะมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญอย่างน้อย 5 ประการ คือ เป็นการทำลายอนุสรณสถานแห่งความทรงจำทางประวัติศาสตร์ว่าด้วยการได้เอกราชสมบูรณ์ทางการศาลของประเทศไทย ซึ่งถือว่าเป็นถาวรวัตถุเพียงชิ้นเดียวที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองจุดเปลี่ยนทางประวัติศาสตร์การเมือง และสังคมที่สำคัญยิ่งของประเทศไทยในครั้งนั้น เป็นการทำลายมรดกทางศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมในยุคคณะราษฎร ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อแสดงออกถึงอุดมคติใหม่ทางการเมืองว่าด้วยประชาธิปไตยในยุคหลังปฏิวัติ 2475 เป็นการทำลายมรดกสถาปัตยกรรมแบบสมัยใหม่
ส่วนกลุ่มอาคารศาลฎีกาที่จะสร้างขึ้นแทน มีความสูงมากถึง 32 เมตร สูงเกินที่กฎหมายกำหนด 2 เท่า (กฎหมายกำหนดให้อาคารที่สร้างขึ้นใหม่ในบริเวณกรุงรัตนโกสินทร์ชั้นใน ต้องสูงไม่เกิน 16 เมตร) และทำลายทัศนียภาพของโบราณสถานในพื้นที่กรุงรัตนโกสินทร์อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
แม้ว่าจะได้รับการอนุมัติเป็นกรณีพิเศษจากมติคณะรัฐมนตรีแล้ว แต่การยืนยันที่จะสร้างอาคารที่สูงเกินกว่ามาตรฐานที่หน่วยงานอื่นๆ ถือปฏิบัติกันอย่างเคร่งครัดมาตลอดเกือบ 30 ปี ย่อมเท่ากับเป็นการกระทำในลักษณะสองมาตรฐาน อันจะนำมาสู่ปัญหาว่าด้วยความชอบธรรมของกฎหมายฉบับนี้ในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยงานที่ละเมิดกฎเกณฑ์ดังกล่าวกลับกลายเป็นศาลเอง ควรอย่างยิ่งที่จะต้องเป็นผู้นำในการรักษากฎเกณฑ์และมาตรฐานทางกฎหมาย
สุดท้ายนี้ ขอเรียกร้องไปยังผู้ที่เกี่ยวข้องกับการรื้อถอนกลุ่มอาคารศาลฎีกาในครั้งนี้ ได้โปรดพิจารณาระงับการรื้อถอนดังกล่าว และหันมาพิจารณาทางเลือกอื่นๆ ในการปรับปรุงและซ่อมแซมอาคารแทน ซึ่งปัจจุบันมีวิธีการและเทคโนโลยีมากมายซึ่งสามารถตอบสนองความต้องการได้ดีไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการรื้อสร้างใหม่แต่อย่างใด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บันทึกของ "Chatri Prakitnonthakan" ถูกแชร์ไปในเครือข่ายโซเชียลมีเดียอย่างแพร่หลาย เช่น "Rattana Kosin" โพสต์รูปภาพไปยังกระดานข้อความของเครือข่ายการท่องเที่ยวภาคประชาสังคม "มรดกชาติ มีความเสี่ยงสูง จากการบริหารงาน โดยการรู้เท่าไม่ถึงการณ์..."
ขณะที่ นายวิรัช ชินวินิจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ให้สัมภาษณ์ "สำนักข่าวเนชั่น" ว่า ความจริงการสร้างอาคารใหม่มีแผนตั้งแต่ปี 2534 และร่างแบบสถาปัตยกรรม รวมถึงแก้ไขหลายครั้ง แต่เพิ่งจะได้มาดำเนินการ ถือว่าล่าช้าจากแผนที่ตั้งใจไว้ 20 ปี ยืนยันว่าการสร้างอาคารใหม่ของศาลฎีกา ยังคงสถาปัตยกรรมความเป็นไทย ให้สอดรับกับบริเวณพระบรมมหาราชวัง ขณะนี้การทุบอาคารเก่าจะเป็นด้านคลองหลอด และเป็นอาคารด้านหลัง โดยจะคงอาคารศาลฎีกาโบราณด้านหลังอนุสาวรีย์พระรูปกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์เอาไว้
"ยืนยันว่าการสร้างอาคารใหม่ไม่ได้ทำโดยพลการ แต่ได้หารือทั้งจากกระทรวงวัฒนธรรม และกรมศิลปากร ไว้แล้ว เพราะศาลฎีกาต้องถือว่าคู่บ้านคู่เมือง เราต้องรอบคอบอยู่แล้ว" นายวิรัชกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า ขณะนี้ยังไม่ได้เริ่มทุบอาคาร แต่เริ่มมีการปรับพื้นที่แล้ว