ไลฟ์สไตล์

ห่วงผู้บริโภคตายฟรีใช้รถเสริม

ห่วงผู้บริโภคตายฟรีใช้รถเสริม

20 ธ.ค. 2555

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ห่วงประชาชน 'หลงใช้บริการรถเสริม' เดินทางกลับบ้านต่างจังหวัด เตือนหากเกิดอุบัติเหตุ 'ตายฟรี' เนื่องจากไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับดูแล

               วันที่ 20 ธ.ค. 2555 ช่วงเทศกาลปีใหม่มีวันหยุดติดต่อกันหลายวัน ทำให้ประชาชนที่มาทำงานในเมืองนิยมเดินทางกลับภูมิลำเนาในต่างจังหวัด เป็นเหตุให้ รถโดยสารธารณะ บขส.ไม่เพียงพอต่อความต้องของประชาชน จึงสบโอกาสให้ผู้ประกอบการเดินรถไม่ประจำทาง ทั้งรถทัวร์ รถบัส และรถตู้ นำรถที่มีอยู่มาให้บริการเป็นรถเสริม โดยแฝงตัวเข้ามาขายตั๋วภายในสถานีขนส่ง ซึ่งหากไม่สังเกตและสอบถามข้อมูลให้ชัดเจน ก็จะหลงกลซื้อตั๋วรถโดยคิดว่าเป็นรถโดยสารสาธารณะประจำทางถูกต้องตามกฎหมาย แต่หากโชคร้ายเกิดอุบัติเหตุระหว่างโดยสาร ผู้โดยสารจะไม่สามารถเรียกค่าชดเชยจากรัฐได้ อีกทั้งจะต้องฟ้องร้องเงินชดเชยจากผู้ประกอบการด้วยตนเองนั้น

               มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค(มพบ.) ออกโรงเตือนประชาชน ระมัดระวังในการเดินทางกลับภูมิลำเนาช่วงเทศกาลปีใหม่ ด้วยรถเสริม นางสาวสวนีย์ ฉ่ำเฉลียว เจ้าหน้าที่ส่วนงานคดี ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยว่า 'จากการศึกษาและการรับเรื่องร้องเรียน ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ตลอดปี 2555 เกี่ยวกับการเดินทางของประชาชนในช่วงเทศกาล โดยเฉพาะปีใหม่และสงกรานต์ ที่มีวันหยุดยาวติดต่อกันหลายวัน ประชาชนคนทำงานที่มีบ้านอยู่ต่างจังหวัด และมักเดินทางกลับภูมิลำเนา ทำให้รถ บขส.ที่มีให้บริการอยู่อย่างจำกัด ไม่เพียงพอต่อความต้องการเดินทาง กลุ่มผู้ประกอบการรถทัศนาจร จึงมักใช้โอกาสนี้สวมรอยเขามาให้บริการรถเสริม ซึ่งในสมัยก่อนเราจะพบเห็นแต่รถบัสและรถทัวร์ปรับอากาศเพียงเท่านั้น แต่ในปัจจุบันพบว่ามีการนำรถตู้มาเป็นรถเสริมมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายอย่างชัดเจน'

               นางสาวสวนีย์ กล่าวต่อว่า 'เมื่อช่วงต้นปี 2555 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้รับการร้องเรียนจากประชาชน ที่ได้รับความเสียหายจากการโดยสารรถเสริมในช่วงเทศกาลปีใหม่ โดยผู้ที่เข้ามาร้องเรียนเป็นบิดาของผู้เสียชีวิต จากอุบัติเหตุรถตู้สายนครสวรรค์ - เชียงราย เพราะคนขับหลับใน เนื่องจากขับคนเดียวชนกับต้นไม้ที่ จ.พะเยา ทำให้มีผู้เสียชีวิตทันที 2 ราย และบาดเจ็บ 10 กว่าคน ผู้เสียหายเล่าให้ฟังว่า ตอนไปซื้อตั๋วรถก็ซื้อที่ช่องขายตั๋วรถบัสประจำทาง แต่พอซื้อเสร็จและเดินไปขึ้นรถกลับเป็นรถตู้ และเป็นรถตู้ส่วนบุคคลด้วย ซึ่งหลังจากมูลนิธิรับเรื่องร้องเรียนแล้ว ก็ได้ส่งเรื่องฟ้องศาลอาญาจนคดีสิ้นสุด แต่ก็จะเดินหน้าฟ้องศางแพ่งต่อไป'

               นางสาวสวนีย์ กล่าวอีกว่า 'จากกรณีข้างต้นเป็นที่หน้าสังเกตว่า คนขายตั๋วรถตู้ซึ่งไม่ได้เป็น พนักงานของบริษัทรถบัส บขส. แต่อย่างใด แต่กลับสามารถเข้ามาขายตั๋วรถ ในสถานีขนส่งผู้โดยสารได้อย่างง่ายดาย นอกจากนี้การสวมรอยขายตั๋วรถเสริมก็ยังมีอีกลักษณะ คือ พนักงานรถเสริมจะมายืนขายตั๋ว หน้าช่องขายตั๋วรถเอกชนร่วมบริการ บขส. โดยพยายามใช้คำพูดหว่านล้อมประชาชน ให้เข้าใจผิดคิดว่าตนนั้นมายืนบริการขาย เพื่อเพิ่มความสะดวกรวดเร็วในการซื้อตั๋ว จึงทำให้คนส่วนมากหลงเชื่อและซื้อตั๋วรถไปในที่สุด แต่พอถึงเวลาขึ้นรถก็จะเดินนำผู้โดยสารออกไปขึ้นรถนอกสถานีขนส่ง โดยอ้างว่าจะได้ไม่ต้องเสียเวลาวนรถออกมาซึ่งต้องใช้เวลานาน'

               'ภาพ คนขับรถเสริมเดินนำผู้โดยสารขึ้นรถนอกสถานีขนส่ง เกิดขึ้นบ่อยครั้งในช่วงเทศกาล และใช่ว่าเจ้าหน้าที่ของสถานีขนส่งจะไม่รู้เรื่อง แต่กลับปล่อยให้มีการกระทำลักษณะนี้เรื่อยมา จึงถือเป็นความไม่ปลอดภัยในการเดินทางของประชาชน ตัวอย่างที่ผ่านมามีผู้ร้องเรียนเข้ามาว่า โดนหลอกให้ซื้อตั๋วรถเสริมต้องเดินมาขึ้นรถนอกหมดชิต เป็นรถลายการ์ตูน และพอนั้งมาถึงโคราชรถเกิดอุบัติเหตุมีผู้เสียชีวิตด้วย เราก็เรียกเข้ามาเจรจาปรากฏว่า รถคันดังกล่าวเป็นผู้ประกอบการที่มีรถแค่คันเดียว วิ่งรับจ้างทั่วไปพอเกิดอุบัติเหตุก็ไม่สามารถจ่ายค่าชดเชยได้ ขณะนี้ผ่านมา 2 ปี ผู้เสียหายได้รับเงินชดเชยแค่ประกันเบื้องต้นเท่านั้น ซึ่งการฟ้องดดีก็ยังเดินหน้าต่อไป' นางสาวสวนีย์ กล่าว

                นางสาวสวนีย์ กล่าวด้วยว่า มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ติดต่อสอบถามไปยัง บขส.เกี่ยวกับการรับผิดชอบ ที่ปล่อยให้มีผู้ประกอบการรถเสริม เข้ามาสวมรอยให้บริการในช่วงเทศกาล แต่กลับได้รับคำตอบว่ากรณีลักษะนี้ ไม่เกี่ยวข้องและอยู่นอกเหนือความรับผิดชอบของทาง บขส. เพราะรถดังกล่าวจอดอยู่ภายนอกสถานีขนส่ง ประกอบกับไม่ได้เป็นรถที่จดทะเบียนให้บริการประจำทาง จึงไม่สามารถไม่ไล่เบี้ยกับเจ้าของรถได้


สำรวจเส้นทางรถตู้ผิด กม. วิ่งระหว่างจังหวัด

                ขณะเดียวกันจากการสำรวจของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค พบว่าสถานการณ์รถเสริมสวมรอยให้บริการ มีแนวโน้มความรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากมีการปรับเปลี่ยนจากรถโดยสารขนาดใหญ่มาเป็นรถตู้ นางสาวสวนีย์ กล่าวว่า เนื่องจากรถตู้มีขนาดเล็กจึงสามารถขับเข้ามาจอดรับผู้โดยสารได้ถึงใจกลางเมือง ทำให้ประชาชนบางส่วนนิยมใช้บริการ เพราะเดินทางสะดวก ไม่ต้องนั่งรถไปถึงสถานีขนส่งซึ่งอยู่ค่อนข้างไกล ซึ่งถือว่าเป็นการกระทำที่ขัดกับกฎระเบียบ เกี่ยวกับสถานที่จอดรับส่งผู้โดยสาร เพราะรถสาธารณะที่ให้บริการระหว่างจังหวัด จะต้องจอดรับส่งผู้โดยสารที่สถานีขนส่งเท่านั้น

               ทั้งนี้เส้นทางที่มีการเปิดให้บริการรถตู้เสริมผิดกฎหมาย จอดรับส่งที่อนุเสาวรีย์ฯ เนื่องจากเส้นทางดังกล่าวยังไม่ได้รับอนุญาตให้มีรถตู้วิ่งบริการประชาชน คือ สายกรุงเทพฯ - พิษณุโลก ระยะทาง 377 กม. , สายกรุงเทพฯ - ชัยภูมิ ระยะทาง 342 กม. , สายกรุงเทพฯ - สุรินทร์ ระยะทาง 426 กม. , สายกรุงเทพฯ - ประจวบคีรีขันธ์ ระยะทางประมาณ 280 กม. , ซึ่งในเส้นทาง 3 เส้นทางข้างต้นนั้น ไกลเกินกว่าที่กฎระเบียบที่กำหนด ให้รถตู้วิ่งบริการได้ในระยะไม่เกิน 300 กม.

               'แม้ว่าเส้นทาง กรุงเทพฯ - นครสวรรค์  ระยะทางประมาณ 240 กม. และ กรุงเทพฯ - พัทยา ระยะทาง 160 กม. จะได้รับอนุญาตให้วิ่งบริการประชาชนได้ แต่การมาจอดรับส่งผู้โดยสารที่อนุเสาวรีย์ฯ ก็ถือว่ามีความผิด ตามกฎระเบียบจุดจอดรถอยู่ดี'  นางสาวสวนีย์ กล่าว