ไลฟ์สไตล์

'ศาล'แจง!ปมสร้างอาคารใหม่

'ศาล'แจง!ปมสร้างอาคารใหม่

08 ม.ค. 2556

โฆษกศาลยุติธรรม แถลงปมก่อสร้างอาคารศาลฎีกา หวังคลายข้อสงสัยสังคม ย้อนถามกรมศิลปากรหากคิดใช้สิทธิดำเนินคดี ควรรู้อยู่ว่าอดีตอธิบดีเคยมีข้อตกลงลายลักษณ์อักษรแล้ว

                           8 ม.ค. 56  นายสิทธิศักดิ์ วนะชกิจ โฆษกศาลยุติธรรม แถลงสรุปการก่อสร้างอาคารศาลฎีกาที่เป็นข้อสงสัยของสังคมในปัจจุบัน ว่า ที่ต้องมีการให้ข้อมูลต่อสาธารณชนอีกครั้งหนึ่งในวันนี้เพราะว่า มีความพยายามของบุคคลบางคนที่จะบิดเบือนประวัติศาสตร์การศาลของไทย และประวัติศาสตร์ของศาลยุติธรรมให้สังคมสับสน คลาดเคลื่อน ประเด็นหนึ่งมีบุคคลบางกลุ่มพยายามตอกย้ำชักจูงให้เห็นข้อเท็จจริงแค่เพียงมุมมองบางด้าน โดยเฉพาะการสื่อสารให้สังคมเข้าใจว่า รูปแบบสถาปัตยกรรมของ อาคารศาลยุติธรรม ซึ่งอยู่ด้านหลังพระอนุสาวรีย์กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์นั้น เป็นจุดก่อให้เกิดเอกราชทางการศาลโดยสมบูรณ์ ซึ่งความจริงไม่ใช่เป็นเช่นนั้นเลย อาคารศาลยุติธรรมหลังนี้เป็นเพียงที่ระลึกเมื่อประเทศไทยได้รับเอกราชทางการศาลโดยสมบูรณ์ เมื่อ 3 เม.ย. 2482 ขณะที่เอกราชทางการศาลมีวิวัฒนาการมาจากการปลดเปลื้องโดยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 5 ที่ได้มีการประกาศใช้ประมวลกฎหมายลักษณะอาญา รศ.127 ขึ้น และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ฯ รัชกาลที่ 6 ที่ได้มีการประกาศใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 1-3 ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2466 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2468 และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 7 ที่เป็นการเติมเต็มการทำงานของคณะผู้พิพากษาให้มีความอิสระในการพิจารณาและพิพากษาคดี นอกจากนั้นเอกราชทางการศาลได้มาเพราะศาลเองที่สามารถแก้วิกฤติของสังคมไทยในเรื่องของศาล ประการสำคัญที่สุด คือ การยกเลิกกฎหมายเก่าที่มีลักษณะจารีตนครบาลและสร้างบรรทัดฐานใหม่เกี่ยวกับข้าราชการตุลาการให้มีอิสระมีความสุจริตในการพิจารณาและพิพากษาคดีอันเป็นการปฏิรูปการศาลครั้งใหญ่ต่อเนื่องมาเป็นเวลาถึง 50 ปี ดังนั้นเอกราชทางการศาลจึงไม่ได้มาจากตัวอาคาร แต่อาคารหลังนี้เป็นเพียงที่ระลึกเมื่อประเทศไทยได้รับเอกราชทางการศาลเท่านั้น

                           นายสิทธิศักดิ์ กล่าวย้ำอีกว่า การก่อสร้างอาคารศาลฎีกาครั้งนี้ ศาลยุติธรรมมีข้อตกลงโดยสมบูรณ์เป็นลายลักษณ์อักษรให้เหลือ อาคารประธานหรืออาคารหลักเพียง 1 หลัง คือ อาคารด้านหลังอนุสาวรีย์กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ พระบิดาแห่งกฎหมายไทยไว้ในเนื้อที่ประมาณ 5 ไร่ ส่วนที่มาของการก่อสร้างศาลฎีกาในครั้งนี้ขอย้ำว่าที่มาในการก่อสร้างนั้นชอบด้วยกฎหมายและจารีตประเพณีในฐานะที่เป็นสถาบันที่ปฏิบัติหน้าที่ในพระปรมาภิไธย จนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ทรงวางศิลาฤกษ์ที่ทำการอาคารศาลฎีกาเมื่อวันที่ 25 มี.ค. 35 แต่การดำเนินการของฝ่ายศาลยุติธรรมอาจจะมีข้อชะงักงัน ในปี 2537 เนื่องจากประธานศาลฎีกาในขณะนั้นยังไม่เห็นด้วยที่จะให้มีการก่อสร้างอาคารศาลฎีกา เพราะเป็นภาระงบประมาณของประเทศ ต่อมา 8 ธ.ค. 49 เมื่อประเทศชาติมีงบประมาณที่สมบูรณ์เพียงพอโครงการสร้างศาลฎีกาก็ได้รื้อฟื้นขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งที่เรียกว่า โครงการเฉลิมพระเกียรติในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 ซึ่งคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้สานต่อโครงการก่อสร้างอาคารศาลฎีกาและให้โครงการสร้างศาลฎีกาเป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติฯ ด้วย

                           "การก่อสร้างศาลฎีกาโครงการนี้ ไม่ใช่เป็นการทำลายรากฐานด้านสถาปัตยกรรมของศาลยุติธรรม ส่วนเรื่องความสูงของอาคารศาลฎีกายืนยันว่า อาคารโครงการสร้างศาลฎีกาครั้งนี้มีความสูงไม่เกินที่กรมศิลปากรกำหนดอย่างแน่นอน โดยกรมศิลปากรแจ้งมาเมื่อวันที่ 23 พ.ค. 33 ว่าอาคารกลุ่มอาคารในพระบรมมหาราชวังและพระศรีรัตนศาสดารามมีความสูงเฉลี่ยไม่เกิน 32 เมตร อาคารศาลยุติธรรมหลังนี้จึงสูงไม่เกินหลักการที่ได้รับมาจากกรมศิลปากร"

                           นายสิทธิศักดิ์ กล่าวอีกว่า เมื่อมีโครงการก่อสร้างอาคารศาลฎีกา ศาลยุติธรรมเปิดกว้าง มีการเจรจากับทุกฝ่าย ทุกกลุ่ม จึงเป็นการทอดเวลาการก่อสร้างออกมาจนได้ข้อยุติเป็นลายลักษณ์อักษรให้การก่อสร้างครั้งนี้คงเหลืออาคารหลังพระรูปพระอนุสาวรีย์กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ไว้ 1 หลัง ที่เป็นข้อยุติที่เป็นลายลักษณ์อักษร ระหว่างศาลยุติธรรมกับกรมศิลปากร ต้องยอมรับว่ามีหน่วยงานบางหน่วย บุคคลบางกลุ่มที่ศาลไม่สามารถจะเจรจาด้วยได้ เพราะได้มีการตรวจสอบแล้วบางกลุ่มมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่งที่คนไทยไม่พึงกระทำ ศาลยุติธรรมจึงจำเป็นต้องงดการเจรจากับกลุ่มบุคคลกลุ่มนั้น

                           "ท้ายที่สุดมีข้อถามเกิดขึ้นมาว่า หากกรมศิลปากรจะดำเนินคดีกับใครก็ตามจะดำเนินการได้หรือไม่ ข้อนี้ถือหลักการว่าผู้ที่ใช้สิทธิโดยสุจริตสามารถดำเนินการได้ เพียงแต่ศาลยุติธรรม หวังว่าการใช้สิทธิโดยรู้อยู่แล้วว่ามีข้อตกลงกัน หรือรู้อยู่แล้วว่าอธิบดีกรมศิลปากรคนก่อน เข้ามาร่วมงานโครงการนี้ตลอด บางท่านได้ใช้งบประมาณของศาลไปศึกษาดูงานในศาลฎีกาต่างประเทศถึง 4 ศาล เพื่อมาออกแบบศาลฎีกาในสถานที่ปัจจุบัน พฤติกรรมเช่นนี้จะอธิบายต่อสาธารณชนว่าอย่างไร" โฆษกศาลยุติธรรมกล่าวอีกว่า ขอเรียนว่าศาลยุติธรรมไม่พยายามที่จะแตะต้องความเป็นโบราณสถานหรือข้อวินิจฉัยว่าเป็นโบราณสถานหรือไม่ ก็เพราะเห็นว่ากรมศิลปากรแม้จะดูแลเรื่องโบราณสถาน แต่ก็ถือข้อกฎหมายเพียงเบื้องต้น หน่วยงาน สถาบันที่มีอำนาจชี้ขาดในเรื่องนี้คือศาลยุติธรรมหรือศาลอื่นตามประเด็น

                           "ขอตั้งคำถามบางคำถามที่สำคัญว่า หากอาคารหลังที่โต้แย้งกันเป็นโบราณสถานจริงแล้ว เพราะเหตุใดอธิบดีกรมศิลปากรท่านต่างๆ ก่อนหน้านี้จึงเข้ามาร่วมงานให้ข้อสังเกต ให้ข้อเสนอแนะในการก่อสร้างโครงการศาลฎีกา และหากเห็นว่าเป็นโบราณสถานจริงแล้วเพระเหตุใดกรมศิลปากรจึงมีข้อตกลงอย่างเป็นทางการเป็นลายลักษณ์อักษรกับศาลยุติธรรมให้มีการรื้อถอนอาคารที่พิพาทกันแล้วก่อสร้างในบริเวณอาคารที่รื้อถอนและเดินหน้าโครงการนี้ได้เมื่อวันที่ 10 พ.ค. 54 และเหตุใดในการอนุมัติงบประมาณก่อสร้างศาลฎีกาในบริเวณที่ทำการเดิม ซึ่งหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยงานต้องให้ความเห็นประกอบโดยเฉพาะกรมศิลปากร กรมโยธาธิการและผังเมือง กรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในปี 2550 จึงไม่มีใครคัดค้านโต้แย้งเรื่องความเป็นโบราณสถาน"

                           นายสิทธิศักดิ์ กล่าวอีกว่า ตามหนังสือจดหมายเหตุ การอนุรักษ์กรุงรัตนโกสินทร์ เรื่องสมโภชน์ กรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี พ.ศ. 2535 ซึ่งจัดทำโดยคณะกรรมการจัดงานสมโภชน์กรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี ที่มีผู้แทนกรมศิลปากรเป็นอนุกรรมการ ผู้อำนวยการกองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ มีการระบุว่าสถานที่สำคัญๆ ในบริเวณเกาะกรุงรัตนโกสินทร์ชั้นใน ที่ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน เช่น เสาชิงช้า ศาลหลักเมือง สนามหลวง กรมโยธาธิการ ตึกแถวแพร่งนรา สะพานเจริญศรี 34 สะพานมอญ คลองหลอด คลองคูเมืองเดิม และสถานที่อื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งอาคารหลายแห่งล้วนอยู่ใกล้อาคารที่ทำการศาลฎีกาที่มีข้อพิพาทในขณะนี้ แต่อาคารศาลฎีกากลับไม่อยู่ในทะเบียนที่เข้าข่ายโบราณสถานที่จะต้องอนุรักษ์ตามบัญชีโบราณสถานของกรมศิลปากรตามหนังสือจดหมายเหตุดังกล่าวแต่ประการใด แล้วจะให้ศาลยุติธรรมผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและประชาชนสามารถเข้าใจได้ถูกต้องอย่างไร

                           ประการสุดท้ายที่มีข้อกังวลจากบางท่านว่า โครงการก่อสร้างอาคารศาลฎีกาเฉลิมพระเกียรติใช้เงินภาษีประชาชนมากน้อยเพียงใด ขอเรียนว่าเงินงบประมาณทั้งหมดที่ได้รับมาจากสภาฯ ประมาณ 3,700 ล้านบาทเป็นเงินงบประมาณแผ่นดิน แต่เพราะความโปร่งใสซื่อสัตย์สุจริตในการทำงานของฝ่ายศาลยุติธรรมการประมูลงานครั้งนี้บริษัท ชิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้รับเหมาจึงประมูลงานได้ในราคาเพียง 2,525 ล้านบาท จึงเป็นการประหยัดงบประมาณถึง 1,200 ล้านบาท ส่วนแบบพิมพ์เขียวนั้นเนื่องจากมีข้อตกลงระหว่างศาลยุติธรรมกับกรมศิลปากรว่าการสร้างอาคารศาลฎีกาหลังใหม่ครั้งนี้ไม่ได้สร้างเต็มพื้นที่ เพราะมีการกันให้เหลือเนื้อที่ประมาณ 5 ไร่ คืออาคารศาลยุติธรรมด้านหลังพระอนุสาวรีย์พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์อีกหนึ่งหลัง จึงมีความจำเป็นที่ฝ่ายศาลยุติธรรมต้องปรับแบบอาคารและพื้นที่ใช้สอยให้เสร็จสิ้นก่อน เมื่อดำเนินการเสร็จแล้วจึงสามารถดูแบบดังกล่าวได้ ในวันนี้ศาลยุติธรรมได้แสดงต้นแบบอาคารศาลฎีกาเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้ามาเยี่ยมชมได้โดยตลอด ซึ่งศาลยุติธรรมทำงานโดยเปิดเผยตรวจสอบได้โดยเป็นหลักการที่สำคัญในการทำงาน ดังนั้นวันนี้หากประชาชนคนใดสนใจก็สามารถเข้าไปดูต้นแบบอาคารศาลฎีกา (Model) ได้ที่ศาลฎีกา