นกขุนแผน
นกขุนแผน : คอลัมน์นกป่าสัปดาห์ละตัว
นกกางเขนบ้าน (Oriental Magpie Robin) ซึ่งเป็นนกประจำสัปดาห์ที่แล้วนั้นมีที่มาของชื่อสามัญจาก Common Magpie หรือนกสาลิกาปากดำ ซึ่งคำว่า Magpie (อ่านว่า “แม็ก-พาย”) นั้นโดยรวมๆ ใช้เรียกนกในกลุ่มอีกาที่ขนาดตัวย่อมลงมาหน่อย และมีหางยาว แต่ “แม็กพาย” ไม่ได้มีแค่นกตัวสีขาว-ดำเหมือนเจ้าสาลิกาปากดำ หลายชนิดมีสีสันสะดุดตา โดยเฉพาะกลุ่มของนกสาลิกาเขียวและนกขุนแผน (Green and Blue Magpies) หากยังจำกันได้ คอลัมน์เมื่อสองสัปดาห์ที่แล้วก็ได้แนะนำให้ผู้อ่านรู้จัก “นกขุนแผน” ไปแล้วชื่อว่า นกขุนแผนอกสีส้ม (Orange-breasted Trogon)
“นกขุนแผน” เป็นชื่อที่ใช้กับนกสองกลุ่มที่ไม่ได้เป็นญาติกันและหน้าตาก็ไม่ใกล้เคียงกันเลย เพื่อหลีกเลี่ยงความสับสน บางตำราก็ใช้ชื่อที่ยาวกว่าอย่าง “นกขุนช้างขุนแผน” สำหรับ Trogon ส่วนชื่อพระเอกวรรณคดีผู้รวยเสน่ห์ถูกผูกขาดกับ Red-billed Blue Magpie แม้จะมีอีกชื่อว่า “นกสาลิกาดง” แต่ชื่อนี้ก็ไม่เหมาะสมนัก เพราะมันอยู่ตามป่าโปร่ง ในขณะที่นกสาลิกาเขียวสองชนิดนั้นพบในป่าดงดิบ
นกขุนแผนมีลำตัวด้านบนสีฟ้าเข้มและปากแดงตามชื่ออังกฤษ หัวสีดำ ท้ายทอยมีแถบสีขาว ขาสีแดง มีหางยาวกว่าความยาวของลำตัว ปลายขนปีกและหางมีแต้มสีขาว-ดำ สีสันของมันอาจทำให้ยากที่จะเชื่อว่าอยู่ในวงศ์อีกา (จริงๆแล้วนอกจากกลุ่มของอีกา นกอื่นๆ ในวงศ์นี้ล้วนมีสีสันสวยงามกันแทบทั้งนั้น) แต่ลักษณะปากที่ค่อนข้างหนาและยาวคล้ายอีกาบ่งชี้ว่าสามารถกินอาหารได้หลายประเภท นอกจากนี้นกขุนแผนยังเป็นสัตว์สังคม ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูงขนาดย่อม นกวัยเด็กมีสีสันโดยรวมตุ่นกว่า ปากและขามีสีไม่แดงสด และหางไม่ยาวมาก
วงศ์อีกาเป็นนกกลุ่มที่มีไหวพริบและการเรียนรู้เป็นเลิศที่สุด นกขุนแผนเองก็ขึ้นชื่อเรื่องการเป็น “จอมฉวยโอกาส” มักแอบไปที่รังนกอื่นเพื่อกินไข่และลูกนก ชอบป้วนเปี้ยนบริเวณห้องครัวตามแหล่งท่องเที่ยวในป่าเพื่อรอกินเศษอาหารเหลือทิ้ง ในบางท้องที่นกขุนแผนปรับตัวให้อยู่ร่วมกับสัตว์กีบ เช่น หมูป่า กวาง เนื้อทราย โดยสัตว์เหล่านี้จะปล่อยให้เจ้านกขุนแผนสำรวจร่างกายเพื่อจิกกินแมลงที่เป็นปรสิต
นกขุนแผนเป็นนกประจำถิ่นอาศัยอยู่ตามป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง และชายป่าที่ติดกับทุ่งหญ้า พบได้ไม่ยากในถิ่นอาศัยที่เหมาะสมทั่วประเทศ ยกเว้นภาคใต้และที่ราบภาคกลาง ประชากรบางส่วนน่าจะมาจากนกปล่อยซึ่งภายหลังสามารถปรับตัวในแพร่พันธุ์ในธรรมชาติได้ เช่น ที่พุทธมณฑล จ.นครปฐม
....................................
(นกขุนแผน : คอลัมน์นกป่าสัปดาห์ละตัว)