นกชายเลนบึง
นกชายเลนบึง : คอลัมน์นกป่าสัปดาห์ละตัว
กิจกรรมนับนกน้ำ (Asian Waterbird Census) เพิ่งผ่านพ้นไปหมาดๆ เมื่อสิ้นสุดเดือนมกราคม วันอาทิตย์ที่ 3 กุมภาพันธ์นี้ก็ตรงกับ “เทศกาลอนุรักษ์นกชายเลน ครั้งที่ 13” ซึ่งจัดขึ้นโดยชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติโคกขาม ที่แหล่งดูนกชายเลนหมู่ 3 ต.โคกขาม จ.สมุทรสาคร นาเกลือบริเวณนี้เองที่เป็นแหล่งพักพิงในช่วงฤดูหนาวของนกชายเลนปากช้อน (Spoon-billed Sandpiper) ซึ่งเหลือแค่ไม่กี่ร้อยตัวเท่านั้นในโลก
โคกขาม เป็นแหล่งอาศัยที่สำคัญมากของนกชายเลนหลายชนิด นาตากที่เป็นดินเลนแฉะๆ เราจะพบนกสติ๊นท์คอแดง (Red-necked Stint) นกหัวโตทรายเล็ก (Lesser Sand Plover) ได้อย่างชุกชุม ในนาที่น้ำลึกมาหน่อย ชนิดที่พบมากที่สุดจะเป็นนกชายเลนปากโค้ง (Curlew Sandpiper) ส่วนในบริเวณน้ำลึก จะเป็น นกชายเลนบึง (Marsh Sandpiper) ที่มีขายาวสะโอดสะอง ทุกชนิดที่กล่าวข้างต้นล้วนอาศัยอยู่ในที่ราบลุ่มใกล้ชายฝั่งทะเล มีเพียงนกชายเลนบึงเท่านั้นที่พบกระจัดกระจายอยู่ตามบึงน้ำจืดทั่วประเทศ
นกชายเลนบึง จัดอยู่ในสกุล Tringa เป็นกลุ่มนกชายเลนที่มีปากยาวตรงและขาค่อนข้างยาว ขนาดกลางจนถึงค่อนข้างใหญ่ บางครั้งเรียกรวมๆ ว่า shanks (มาจาก Redshanks และ Greenshanks ซึ่งหมายถึงนกทะเลขาแดงและนกทะเลขาเขียว) นกสกุลนี้มีเชื้อสายใกล้ชิดกับนกเด้าดิน (Common Sandpiper) นกชายเลนปากแอ่น (Terek Sandpiper) และนกลอยทะเล (Phalaropes) นกชายเลนบึงเองก็มีพฤติกรรมว่ายน้ำหากินให้เห็นบ่อยๆ ปากที่บางเป็นพิเศษของมันช่วยให้มันจับสัตว์น้ำขนาดเล็กมากกินได้
ลักษณะปากของนกชายเลนบึงบางกว่านกชายเลนชนิดอื่นๆ ชัดเจน มีปลายปากแหลมคล้ายนกตีนเทียน (Black-winged Stilt) แต่ขนาดเล็กกว่ามาก มีหลังสีเทา และขายาวสีเขียวตุ่นๆ ทำให้หลายคนมักจำแนกชนิดผิดเป็นนกทะเลขาเขียว (Common Greenshank) ที่มีปากหนากว่าและงอนขึ้นเล็กน้อย ไม่แหลมตรงเป็นไม้จิ้มฟันเหมือนนกชายเลนบึง นอกจากนี้ยังมีขนาดตัวใหญ่กว่า ชุดขนฤดูผสมพันธุ์จะมีลายแต้มสีดำกระจายอยู่ตามด้านบนของลำตัว
นกชายเลนบึง เป็นนกอพยพนอกฤดูผสมพันธุ์ที่พบง่ายตามแหล่งน้ำทั่วประเทศ พบชุกชุมในถิ่นอาศัยที่เหมาะสม นกชนิดนี้ทำรังวางไข่ทางตอนเหนือของยุโรปตะวันออกไปจนถึงไซบีเรีย ในฤดูหนาวจะอพยพ ลงมาอาศัยในแอฟริกา ตอนใต้ของเอเชีย ไปจนถึงออสเตรเลีย
........................................
(นกชายเลนบึง : คอลัมน์นกป่าสัปดาห์ละตัว)