เมืองเก่าเล่าตำนาน ยลสืบสานอารยธรรม
ศิลปวัฒนธรรม : เมืองเก่า เล่าตำนาน ยลสืบสานอารยธรรม : เรื่อง/ภาพ : รุ่งวชิรา ทับทิมทอง
จังหวัดภูเก็ตนับเป็นเมืองสวรรค์ของคนทั่วโลก เมื่อไหร่ก็ตามที่ได้มาเยือน เป็นต้องหลงใหลมนต์เสน่ห์ความงดงามของธรรมชาติที่สรรค์สร้างให้มนุษย์เชยชม สมคำร่ำลือ “ไข่มุกอันดามัน สวรรค์เมืองใต้ หาดทรายสีทอง สองวีรสตรี บารมีหลวงพ่อแช่ม” และนับเป็นโอกาสที่ดีเมื่อคณะผู้บริหารเทศบาลนครภูเก็ต ร่วมกับสายการบินแอร์เอเชีย ชวนสื่อลงใต้ ชมเมืองเก่าภูเก็ต เพื่อย้อนราลึกอดีตที่งดงามพร้อมเรียนรู้สถาปัตยกรรมในเมืองเก่าภูเก็ต อันเป็นอัตลักษณ์ที่แสดงถึงวัฒนธรรมท้องถิ่น สะท้อนตัวตน คงจิตวิญญาณของเจ้าบ้านอย่างไม่เปลี่ยนแปลง
สถาปัตยกรรมชิโนโปรตุกีส ถูกก่อสร้างขึ้นบนถนนถลาง ซอยรมณีย์ (ถนนสายประวัติศาสตร์อันเก่าแก่ มีอาคารตึกแถวเก่ามากที่สุด รวมทั้งสิ้น 141 คูหา) ถนนดีบุก ถนนกระบี่ ถนนพังงา ถนนเยาวราช รวมไปถึงบริเวณถนนใกล้เคียง ในยุคความรุ่งเรืองถึงขีดสุดของภูเก็ต ในสมัยพระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี หรือ คอซิมบี้ ณ ระนอง สมุหเทศาภิบาล สำเร็จราชการมณฑลภูเก็ต ในสมัยรัชกาลที่ 5 อันเป็นช่วงการล่าอาณานิคมของประเทศตะวันตก และการค้าแร่ดีบุกเฟื่องฟู โดยในยุคสมัยนั้นภูเก็ตเป็นเมืองที่มีชาวต่างชาติ ทั้งจีน อินเดีย อาหรับ มาเลย์ อีกทั้งยุโรปเข้ามาทาการค้า พร้อมกับอยู่อาศัย เช่นเดียวกับเมืองท่าอื่นๆ ในแหลมมาลายูจึงเห็นว่าการออกแบบอาคารนั้น จะมีลักษณะของสถาปัตยกรรมที่ได้รับอิทธิพลจากนานาชาติไปด้วย
ลักษณะสถาปัตยกรรมในเมืองเก่าภูเก็ต แบ่งเป็น 3 ยุค ได้แก่ ยุคแรก อาคารในยุคนี้มักเป็นอาคารแบบตึกแถว หรือ เตี้ยมฉู่ ลักษณะเด่น คือ มีช่องทางเดินต่อเนื่องกันโดยตลอด คุณประโยชน์ คือ ป้องกันแดดฝน ตัวอาคารการก่อสร้างเป็นปูนและดินสอพองโครงหลังคาคลุม หรือที่เรียกว่า อาเขต ภาษาถิ่นเรียก หง่อคาขี่ แปลว่า ทางเดินกว้าง 5 ฟุตจีน และด้วยศิลปะจีนและอินเดีย ประจวบกับลวดลายที่คล้ายลวดลายของไทย ทำให้มีความสวยงามแปลกตาเป็นอย่างยิ่ง ทว่าปัจจุบันอาคารแบบนี้เหลืออยู่น้อย ยุคที่สอง เป็นการสถาปัตยกรรมที่ได้นิยมในยุโรปช่วงนั้น คือ นีโอคลาสสิกและเรเนอร์ซองส์ มาสร้างสรรค์ผสมผสานการออกแบบอาคารราชการ มีลักษณะก่ออิฐถือปูน ทาพนังให้หนาเพื่อรับน้ำหนัก อีกทั้งคฤหาสน์แบบฝรั่งที่เรียกว่า อั่งม้อหลาว มีการตกแต่งแบบคลาสสิก สังเกตุได้จากหน้าต่างจะยาวถึงพื้น มีบานเกล็ดไม้ปรับได้ แบ่งเป็นสามช่วงช่องแสงเหนือหน้าต่างโค้ง ส่วนผนังตกแต่งเป็นรูปสัตว์หรือดอกไม้ แสดงให้เห็นถึงความเป็นสิริมงคล
ถึงยุคที่สาม เป็นช่วงหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พร้อมกับการเข้ามาของสถาปัตยกรรมแบบสมัยใหม่ หรือ แบบโมเดิร์น เป็นการก่อสร้างแบบคอนกรีตเสริมเหล็ก จะเห็นได้ว่าอาคารยุคนี้จะเปลี่ยนรูปแบบหน้าต่างให้เป็นทรงเรขาคณิต ทั้งวงกลม สี่เหลี่ยม มีการใช้กระจกสีประดับตกแต่งในช่วงแรกโดยการผสมผสานระหว่างรูปแบบอาร์ต เดโค กับ นิโอคลาสสิก เป็นการใช้ลวดลายหน้าต่างแบบกรีกหรือโรมันคลาสสิก แต่ในช่วงหลังมีการทำระเบียงให้ยื่นออกจากชั้นบน เสริมการตกแต่งด้วยรูปทรงเรขาคณิตเป็นหลัก
นายกเทศมนตรีนครภูเก็ต สมใจ สุวรรณศุภพนา เล่าถึงความตั้งใจในการผลักดันเมืองเก่าภูเก็ตให้เป็นร่องรอยแห่งอารยธรรม สืบต่อให้คนรุ่นลูก รุ่นหลาน ได้เห็นความเป็นมาของอดีตที่งดงาม ทั้งสถาปัตยกรรม การแต่งกาย อาหารการกิน ของคนพื้นเมืองภูเก็ตว่าใช้ชีวิตบนความหลากหลายเชื้อชาติได้อย่างไร ถึงสามารถมีความรักและความสามัคคีเป็นหนึ่งเดียวกันได้มาจวบจนถึงปัจจุบัน
“การอยู่ร่วมกันของคนในสมัยก่อนนั้นจะเป็นแบบพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน นอกเหนือจากภูเก็ตจะมีเสน่ห์ทางด้านสถาปัตยกรรมชิโน-โปรตุกีสแล้วยังมีเสน่ห์ในเชิงความหลากหลายทางวัฒนธรรม ทั้งไทย ฮินดู อินเดีย มุสลิม จีน เป็นต้น จะเห็นได้ว่าการใช้ชีวิตภายใต้วิถีความหลากหลายทางเชื้อชาติสามารถผสมผสานกันอย่างลงตัว กลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวกัน สิ่งที่จะสามารถบ่งบอกความเป็นร่องรอยแห่งอารยะธรรม ที่สาคัญนั้นก็คือ สิ่งปลูกสร้าง อาคาร บ้านเรือน ซึ่งตั้งอยู่บนถนนเหล่านี้กว่า 170 ไร่ ฉะนั้นการที่จะคงอยู่ในความเป็นอารยธรรม สิ่งสาคัญ คือ ความรัก ความภาคภูมิใจที่คือจุดแข็ง การสืบสานฟื้นฟูอดีต เชิดชูปัจจุบัน อะไรที่เคยหายไปวันนี้ต้องกลับมา ทั้งนี้เมื่อนักท่องเที่ยวเดินทางมาก็อยากให้ได้สัมผัสกับประเพณีวัฒนธรรมของชาวภูเก็ตโดยแท้จริง” นายกเทศมนตรีนครภูเก็ตกล่าวทิ้งท้ายกลิ่นไอวัฒนธรรม