'จระเข้'สัตว์คุ้มครองใกล้สูญพันธุ์
ผนึกอนุรักษ์ 'จระเข้' ในธรรมชาติ สานฝันสัตว์คุ้มครองใกล้สูญพันธุ์ : โดย...สุรัตน์ อัตตะ
ผลกระทบจากการไล่ล่าจระเข้ในธรรมชาติ เพื่อประโยชน์ในเชิงการค้าส่งผลให้จำนวนจระเข้ลดลงทุกปี ด้วยเหตุนี้จึงทำให้กรมประมงร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลและสมาคมส่งเสริมการอนุรักษ์และเพาะเลี้ยงจระเข้แห่งประเทศไทย จึงได้จัดโครงการ "อนุรักษ์จระเข้ในธรรมชาติ" เพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรจระเข้ ซึ่งเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองที่ใกล้สูญพันธุ์ให้คงอยู่ในประเทศไทยตลอดไป
จากข้อมูลกรมประมงพบว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีฟาร์มเพาะเลี้ยงจระเข้ประมาณ 800 กว่าฟาร์ม ผลิตจระเข้น้ำจืดปีละประมาณ 2 แสนกว่าตัว และจระเข้น้ำเค็มปีละ 2 หมื่นตัว สำหรับจระเข้ในธรรมชาติคาดว่า มีอยู่ไม่ถึง 200 ตัว พบได้ในแหล่งที่อยู่อาศัยที่ได้รับการคุ้มครอง เช่น บึงบอระเพ็ด อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน อุทยานแห่งชาติปางสีดา เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอ่างฤาไน
วิมล จันทรโรทัย อธิบดีกรมประมงเผยข้อมูลระหว่างการแถลงข่าวความร่วมมือของหน่วยงานในโครงการอนุรักษ์จระเข้ในธรรมชาติ โดยระบุอีกว่าโครงการดังกล่าวจะเป็นการทำงานแบบบูรณาการร่วมกันหลายๆ ด้าน ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในเรื่องการสำรวจแหล่งที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม การตรวจระบุพันธุกรรมจระเข้น้ำจืดพันธุ์ไทย การตรวจวินิจฉัยโรคติดเชื้อที่สำคัญ การส่งเสริมและรณรงค์ให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์จระเข้น้ำจืดพันธุ์ไทย สำรวจความคิดเห็นของชุมชนรอบพื้นที่อนุรักษ์ ตลอดจนประเมินผลการติดตามการอยู่รอดและการเปลี่ยนแปลงของประชากรจระเข้น้ำจืดพันธุ์ไทยที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติมีการคัดเลือกสายพันธุ์แท้และปลอดโรค ติดเครื่องมือสื่อสารติดตามตัวเพื่อให้เฝ้าระวังและศึกษาพฤติกรรมของจระเข้ต่อไป
"โครงการนี้จะมีระยะเวลา 2 ปี โดยจะเริ่มปล่อยจระเข้สู่ธรรมชาติได้ในเดือนตุลาคมนี้ นำร่องที่อุทยานปางสีดา จ.สระแก้ว และอุทยานแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ก่อน ส่วนในบึงบอระเพ็ดจะไม่ปล่อย เพราะจระเข้น้ำจืดอาศัยจำนวนมากอยู่แล้ว" อธิบดีกรมประมงกล่าว
ขณะที่ ธีรภัทร ประยูรสิทธิ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ยอมรับว่าสำหรับการอนุรักษ์จระเข้ในเขตพื้นที่ธรรมชาติของประเทศไทยเริ่มในปี 2548 โดยได้มีการจัดโครงการคืนจระเข้สู่ผืนป่าปางสีดาเป็นโครงการแรก ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการติดตามผลการดำเนินงาน แต่ก็มีบางส่วนเป็นจระเข้ที่มีคนมาปล่อยไว้ในเขตอุทยานเช่นกัน ซึ่งเข้าใจว่ามีบุคคลบางกลุ่มที่มีความเชื่อในเรื่องโชคลาง หรือแก้บน ทำบุญ นำมาปล่อยเพื่อแก้บน นอกจากจระเข้แล้วยังมีสัตว์ชนิดอื่น ซึ่งถือเป็นสัตว์ต่างถิ่นหรือเอเลี่ยนสปีชีส์ เช่น กิ้งก่าอีกัวน่า งูหลามทอง เป็นต้น ที่ไม่ได้มีในธรรมชาติ ถูกนำมาปล่อยในอุทยาน
"ขณะนี้จระเข้ในธรรมชาติเหลือไม่มากแล้ว เช่น ที่อุทยานแก่งกระจานน่าจะมี 5 ตัว ปางสีดา 2 ตัว อ่างฤาไน 1 ตัว บึงบอระเพ็ด 50 ตัว ส่วนจระเข้ในอุทยานเขาใหญ่ ที่มีอยู่ 2 ตัวนั้น ชัดเจนแล้วว่าเป็นจระเข้ที่มีคนนำมาปล่อยเพื่อแก้บน แต่ยังไม่ได้มีการพิสูจน์อย่างแน่ชัดว่าเป็นสายพันธุ์ใด"
รองอธิบดีกรมอุทยานยังกล่าวถึงสถานการณ์จระเข้สายพันธุ์ไทย (C.siamensis) ในพื้นที่ธรรมชาติว่าขณะนี้ยังไม่ถึงขั้นวิกฤติ หลังจากมีโครงการวิจัยอนุรักษ์และปล่อยจระเข้คืนธรรมชาติครั้งแรกในปี 2548 โดยได้รับความร่วมมือกับผู้ประกอบการเพาะเลี้ยงจระเข้ กรมประมง และมหาวิทยาลัยมหิดล คาดว่าปัจจุบันมีประชากรจระเข้ในธรรมชาติเพิ่มขึ้นเป็น 200 ตัวกระจายอยู่ในเขตพื้นที่อนุรักษ์ต่างๆ เช่นอุทยานแห่งชาติปางสีดา 20 ตัว อุทยานแห่งชาติเขาอ่างฤาไน 1-2 ตัว อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน 5 ตัว และเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงบอระเพ็ดราว 50 ตัว เป็นต้น
จากผลสำเร็จของโครงการในระยะแรกเมื่อปี 2548 มาสู่โครงการระยะที่ 2 พร้อมมีการประเมินแหล่งอาศัยที่เหมาะสม โดยเฉพาะวังจระเข้บริเวณต้นแม่น้ำเพชรบุรีเพื่อเตรียมปล่อยจระเข้คืนธรรมชาติในอีก 8 เดือนถึง 1 ปีข้างหน้า โดยจระเข้ที่นำไปปล่อยต้องผ่านการตรวจพันธุกรรมว่าเป็นสายพันธุ์ไทยแท้ และต้องติดวิทยุเพื่อศึกษาพฤติกรรมการเคลื่อนที่และการใช้พื้นที่ ซึ่งครั้งนี้ถือเป็นการศึกษาทางชีววิทยาของจระเข้อย่างครบวงจรเป็นครั้งแรกอีกด้วย
--------------------
(ผนึกอนุรักษ์ 'จระเข้' ในธรรมชาติ สานฝันสัตว์คุ้มครองใกล้สูญพันธุ์ : โดย...สุรัตน์ อัตตะ)