ไลฟ์สไตล์

ถักทอเสื่อกก'ลวดลายขิด'งานขายฝีมือ

ถักทอเสื่อกก'ลวดลายขิด'งานขายฝีมือ

13 มี.ค. 2556

ถักทอเสื่อกก 'ลวดลายขิด' งานขายฝีมือ-เพิ่มค่าผลิตภัณฑ์ : โดย...กวินทรา ใจซื่อ

                         การทอเสื่อเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านในชนบทที่ใช้เวลาว่างจากการทำไร่ทำนามาถักทอ บางส่วนทอเก็บไว้เพื่อทำบุญช่วงเทศกาลประเพณี โดยวัตถุดิบที่ใช้คือต้นกกที่ชาวบ้านปลูกเอง จึงหาได้ง่ายในท้องถิ่น นางละมัย เทพแก้ว ชาวบ้าน ต.บัวเงิน อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น เป็นอีกผู้หนึ่งที่ใช้เวลาว่างทอเสื่อเป็นอาชีพเสริมสร้างงาน สร้างรายได้ให้ครอบครัว

                         กว่า 3 ปีที่ละมัยป่วยด้วยโรคกระดูกเสื่อมต้องผ่าตัดหลัง ส่งผลให้ทำงานหนักไม่ได้ จึงหันมาใช้เวลาว่างด้วยการทอเสื่อ จากลวดลายแบบเดิมที่เห็นกันจนชินตา เธอสร้างความต่างเพิ่มมูลค่าให้เสื่อทอพื้นบ้านด้วยทอเป็นเสื่อลายขิด ที่ประณีต สวยงามทำให้ผลงานได้รับความสนใจจากผู้ที่พบเห็นเป็นอย่างมาก

                         “รู้สึกเบื่อที่จะอยู่กับบ้านเฉยๆ จึงเริ่มปลูกต้นกกที่หลังบ้าน เอามาถักทอเป็นเสื่อ ซึ่งพี่ทำเป็นมาตั้งแต่สมัยเป็นเด็ก ตอนแรกก็ทอลวดลายแบบเดิมๆ เห็นว่าทุกบ้านก็ทำกันแบบนี้ จึงซื้อไม้ฟีมนำมาทดลองทอลายขิดเพื่อให้เกิดความต่างจากลวดลายเดิมที่ทออยู่”

                         ลวดลายขิดมีทั้งดอกลายน้อย ลายสมอคู่ และลายแพรวา ที่ละมัยค่อยๆ ถักทอจนเป็นผืนสวยงาม การทอเสื่อกกมีวัสดุอุปกรณ์ที่ต้องเตรียมคือ กี่ ไม้คันฟืม ด้ายฟืม ไม้พังกก เชือกไนลอน 2 เส้น กก และไม้สำหรับสอดเส้นกก

                         “แรกๆ ที่ทดลองทอลายขิดทำไม่ยาก วิธีทอง่ายพลิกไม้หงาย คว่ำ สลับกันเหมือนการทอตามลวดลายธรรมดา แต่ต้องละเอียดในการดูลวดลาย เสื่อที่ทออยู่มี 2 ขนาด คือกว้าง 5 คืบ และ 10  คืบ ส่วนความยาวนั้น 10 คืบ ส่วนใหญ่จะทอไว้ใช้ในครอบครัว มีคนมาทำบุญที่วัดแล้วเห็นเสื่อที่ทอไปถวายวัดสนใจขอซื้อไปใช้ จึงคิดว่าน่าจะสามารถนำมาทำเป็นอาชีพเสริมได้ จึงทอมาเรื่อยใครชอบใจมาซื้อหาก็มาที่บ้าน”

                         ส่วนระยะเวลาในการทอ 1 ผืนต้องใช้เวลาประมาณ 10 วัน ขึ้นกับการเตรียมเส้นกก ขนาด และลวดลาย ปัญหาสำหรับการผลิตเสื่อทอคือการหาตลาด ละมัยบอกว่ายังไม่มีตลาดวางขายสินค้าที่แน่นอน มีเพียงลูกค้าขาจรเท่านั้น ขณะที่องค์การบริหารส่วนตำบลบัวเงิน จ.ขอนแก่น เตรียมสนับสนุนให้ชาวบ้านรวมกลุ่มอาชีพ หวังต่อยอดภูมิปัญญาในการสร้างงาน สร้างรายได้ให้ชาวบ้านช่วงที่ว่างเว้นจากการทำการเกษตรด้วย ส่วนราคาขายอยู่ที่ผืนละ 200-900 บาท แล้วแต่ขนาด และความยากง่ายของลวดลายที่นำมาทอ

                         “การทอลายขัดแบบเดิมไม่ได้รับความสนใจจากผู้ซื้อมากนัก เพราะเป็นลวดลายที่เราเห็นกันจนชินตา การพัฒนาลวดลายมาทอลายขิดเพราะคิดว่าเป็นการต่อยอดงานฝีมือไปอีกขั้นหนึ่ง วัตถุดิบอย่างต้นกก ชาวบ้านก็ปลูกกันทุกหลังคาเรือน ส่วนภูมิปัญญาการทอเสื่อเราก็ทำเป็นประจำจนเกิดความชำนาญ การทอเสื่อกกลายขิดจึงเป็นการสร้างความสวยงาม แปลกใหม่ และน่าใช้ให้กับผลิตภัณฑ์มากขึ้น ที่สำคัญชาวบ้านจะได้เรียนรู้พัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลายเพิ่มทางเลือกให้ลูกค้ามากขึ้น" ละมัย แจง

                         พร้อมยอมรับว่า สิ่งที่ต้องการการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐคือการให้แนวทางในการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ในแบบต่างๆ เช่น ที่รองจาน รองแก้ว และกระเป๋า เป็นต้น เพื่อให้ชาวบ้านนำไปเป็นแนวทางสร้างสรรค์ผลงาน อีกทั้ง การเข้ามาสนับสนุนเรื่องการรวมกลุ่ม การหาตลาด และการบริหารจัดการในด้านอื่นๆ ให้เป็นรูปธรรม เพื่อที่ชาวบ้านจะได้มีอาชีพที่ทำได้ในชุมชน

                         อย่างไรก็ตาม แม้จะยังไม่มีตลาดวางขายที่แน่นอน หากลูกค้าที่ชื่นชอบสินค้าทำมืออย่างเสื่อทอลายขิดก็สามารถเลือกซื้อหากับชาวบ้านได้โดยไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง ซึ่งในทุกหมู่บ้าน ต.บัวเงิน อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น ทอเสื่อเป็นวิถีชีวิตสามารถไปเลือกชมซื้อหาได้ ในอนาคตหากหน่วยงานภาครัฐเข้ามาสนับสนุนอย่างจริงจังตลาดเสื่อลายขิดยังไปได้อีกไกล

 

 

--------------------

(ถักทอเสื่อกก 'ลวดลายขิด' งานขายฝีมือ-เพิ่มค่าผลิตภัณฑ์ : โดย...กวินทรา ใจซื่อ)