นกกระสานวล
นกกระสานวล : คอลัมน์นกป่าสัปดาห์ละตัว
คนทั่วไปมักเรียกนกน้ำขนาดใหญ่ที่มีคอและขายาวที่เดินหากินตามแหล่งน้ำรวมๆ ว่า “นกกระยาง” บ้าง “นกกระสา” บ้าง คำว่า “นกกระสา” มักใช้กับชนิดที่มีขนาดใหญ่กว่า “นกกระยาง” ว่ากันตามหลักแล้ว “นกกระสา” หมายถึง Stork มีโคนปากหนา จงอยปากใหญ่โต เรามักเห็นพวกมันยืดคอกางปีกร่อนลมบนฟ้า ในขณะที่ “นกกระยาง” หรือนกยาง (ชื่อแบบเป็นทางการ) นั้นจะหดคอขณะบินและมีจงอยปากเรียวเล็กกว่า
อย่างไรก็ตาม นกยางมีความหลากหลายทางชนิดพันธุ์มากกว่านกกระสา มีตั้งแต่ขนาดตัวไม่ใหญ่ไปกว่านกพิราบไปจนถึงตัวที่สูงเกินหนึ่งเมตร เรียกรวมๆว่า Heron แต่ก็มีชื่อแยกย่อยลงไป เช่น Bittern หมายถึงนกยางไฟ และ Egret ใช้กับนกยางที่ตัวสีขาว แต่นกยางที่มีขนาดใหญ่ซึ่งไม่ได้มีลำตัวสีขาวนั้นถูกเรียกนำหน้าว่า “นกกระสา” ด้วย ชนิดที่รู้จักกันดีคือ นกกระสานวล (Grey Heron) และนกกระสาแดง (Purple Heron)
ด้วยความที่มีขนาดใหญ่ไล่เลี่ยกับนกกระสาแท้ (Storks) ทั้งสองชนิดจึงตกเป็นเป้ากระสุนปืนจนจำนวนลดลงมากในอดีต ก่อนที่ประชากรจะเริ่มฟื้นตัวขึ้นมาบ้างหลังจากถูกจัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองใน พ.ศ.2535 และจิตสำนึกของสังคมเรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติเพิ่มมากขึ้น ปัจจุบันเราพบนกกระสาแดงทำรังวางไข่ตามพื้นที่ชุ่มน้ำทั่วไปร่วมกับนกน้ำชนิดอื่นๆได้ไม่ยาก แต่นกกระสานวลที่พบได้บ่อยๆ ในประเทศไทยเหลือเพียงนกที่อพยพมาจากเขตหนาวเท่านั้น ส่วนใหญ่ที่พบเป็นนกที่ยังโตไม่เต็มวัย อพยพมาอยู่ตามบึงขนาดใหญ่และชายฝั่งทะเล
นกกระสานวลเป็นนกยางขนาดใหญ่และคอยาว ลำตัวสีเทา มีแถบสีดำที่กระหม่อมพาดยาวต่อเนื่องเป็นขนเปียที่ท้ายทอย คอมีลายขีดสีดำเรียงเป็นแถว หัวและลำตัวด้านล่างสีขาวนวล ขนปีกสีดำขลับนั้นเห็นได้ชัดขณะบิน จงอยปากจะมีสีเหลืองสดขึ้นในชุดขนฤดูผสมพันธุ์ นกโตไม่เต็มวัยมีขนสีดำจางกว่าและมีสีขาวน้อยกว่า นอกจากนี้จงอยปากบนก็มีสีเทาหม่นๆ ตัดกับปากล่างสีเหลือง
มันมีแหล่งกระจายพันธุ์กว้างขวางมาก พบได้ทั่วไปในทวีปยุโรป แอฟริกา และเอเชีย ขณะหากินมักเดินท่องในน้ำช้าๆ หรือยืนอยู่นิ่งๆ รอจับเหยื่อ อาหารส่วนใหญ่คือสัตว์น้ำ แต่ก็มีรายงานว่าจับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมและนกขนาดตัวพอๆ กับนกพิราบมากดน้ำจนแน่นิ่ง ก่อนที่จะกลืนลงกระเพาะผ่านลำคอที่ผอมแต่ยืดหยุ่นของมันด้วย !
..............................................
(นกกระสานวล : คอลัมน์นกป่าสัปดาห์ละตัว)