ไลฟ์สไตล์

หนังสือที่เธอถือมา : กัมพูชาที่รัก

หนังสือที่เธอถือมา : กัมพูชาที่รัก

07 เม.ย. 2556

หนังสือที่เธอถือมา : กัมพูชาที่รัก : โดย...ไพวรินทร์ ขาวงาม

 

๑.

 

“บอง สลัน โอน...แม่คุณ  เหมือนมีบุญที่พี่มาเห็น  งามเหลือเกินหนอเจ้า  แม่สาวชาวเมืองเขมร....”

                          ตอนรู้ตัวจะต้องไปเที่ยวเขมร  ผมก็นึกถึงเพลงลูกทุ่งที่โด่งดังในอดีต ‘กัมพูชาที่รัก’ ของ ภูษิต  ภู่สว่าง แบบครึ้มๆ ครับ  สมัยเป็นเด็กชอบเพลงนี้ไม่เคยรู้หรอกครับ ‘เขมร’ หรือ ‘กัมพูชา’ เป็นอย่างไร?

                          ทีแรกไม่นึกอยากไป  เพราะเท่าที่ติดตามข่าวสารบ้านเมืองแล้ว มีอารมณ์รู้สึกไม่ชอบอะไรหลายอย่าง โดยเฉพาะทางการเมือง  เรียกว่ามีเรื่องต้องทำใจหลายเรื่องเลยในรอบหลายปีที่ผ่านมา

                          เคยอ่านหนังสือ ก็สนใจวิถีชีวิตศิลปวัฒนธรรมระดับประชาชน แต่เพื่อนชวนไปก็ไม่ยอมไปสักที อยู่ๆ ก็มีโอกาสได้ไปกับครอบครัว กับคณะครูบาอาจารย์ที่เขาไปดูงานที่โรงเรียนแห่งหนึ่งในเสียมเรียบ 

                          ไปเที่ยวกับคณะ จะว่าไปก็สะดวก สำหรับคนไม่หนุ่มแล้ว เพราะไปตามแผนการที่มีกระบวนการจัดการให้หมด ทั้งเรื่องกิน เรื่องอยู่ เรื่องหนังสือเดินทาง แค่จ่ายเงินและยอมทำตามกฎกติกาของเขาก็ถือว่าได้เที่ยว ไม่ต้องเสี่ยง ไม่ต้องผจญภัยอะไรมาก 

                          แน่นอน-กับผู้คนหมู่มากในรถคันเดียวกัน มันอาจมีทั้งเรื่องสนุกและไม่สนุก อย่างอยากจะหลับจะนอนพักผ่อน ก็มีคนแหกปากร้องเพลงคาราโอเกะเสียนี่ ดูเหมือนรถนำเที่ยวแบบไทยๆ จะขาดคาราโอเกะไม่ได้ แต่พอข้ามช่องสะงำไปขึ้นรถพวงมาลัยซ้ายเขมร (หรือแม้แต่ตอนนั่งรถไปหลวงพระบาง) เขากลับไม่เน้นคาราโอเกะ แต่เปิดเพลงประเทศของเขาให้ฟังกันเบาๆ ผมว่าอย่างหลังนี่ผ่อนคลายให้ความสุขในการเดินทางมากกว่า ได้เห็นนักร้องของเขา  ภาษา  สำเนียง  บรรยากาศที่เป็นอื่นๆ มากมาย     

 

๒.

 

หลายปีก่อน เคยอ่านหนังสือของ ธีรภาพ โลหิตกุล ผู้เดินทางไปในประเทศแถวนี้แล้วนำมาเขียนเป็นหนังสือสารคดี (ล่าสุด-เขาได้รับยกย่องเป็น ‘นักเขียนรางวัลศรีบูรพา’ ขอแสดงความยินดีด้วยครับ)

                          เกี่ยวกับเรื่องคุณยายที่ปราสาทนครธม ทำให้จำฝังใจจากเรื่องเล่าของเขา คุณยายเห็นคนถ่ายทำโทรทัศน์ ตกใจนึกว่าเป็นการเล็งปืนใหญ่ และคุณยายนั้นมีขาข้างเดียว คนขาขาดสองข้าง หรือคนขาเดียว สำหรับในประเทศนี้แล้วมีเป็นจำนวนมาก นั่นคือรอยสลักจารึกบนรูปร่างมนุษย์จากสิ่งที่เรียกว่าสงคราม

                          ระหว่างทางจากช่องสะงำ-เสียมเรียบ มัคคุเทศก์หนุ่มก็เล่าให้ฟังพร้อมชี้ชวนให้ดูทุ่งนาป่าไม้สองข้างทาง  เขาบอกว่าในบ้านเมืองของเขาหลังสงคราม มีระเบิดที่ระเบิดหรือกู้ได้แล้วหลายแสนลูก และยังเหลือฝังอยู่ตามที่ต่างๆ แล้วอีกหลายแสนลูก ฟังแล้วก็ขนลุก จินตนาการถึงภาพศึกสงครามที่มีการฝังระเบิดสำหรับเข่นฆ่ากันมหาศาลถึงเพียงนั้น 

                          ‘ถ้าอยากซื้อที่ดินราคาไม่แพง ให้แต่งงานกับสาวเขมร แล้วย้ายมาอยู่ที่นี่ มาเลือกเอาที่สวยๆ แถมระเบิดให้ด้วย’ มัคคุเทศก์ชวนขำขื่น   

 

๓.

 

คืนแรก-เราไปพักเสียมเรียบที่โรงแรมชื่อ ‘ลัคกี้อังกอร์’ (โรงแรมในเสียมเรียบห้ามมีความสูงเกินยอดปราสาทนครวัด-นครธม  และทุกแห่งต้องตั้งชื่อมีคำว่า ‘อังกอร์’) 

                          หลังอาหารค่ำ เราแยกคณะใหญ่ เรียกตุ๊กตุ๊กไปเที่ยวต่อที่ ‘ถนนคนเดิน’ งานนี้ผมต้องทำตัวเป็นไกด์พูดคุยต่อราคา คนขับพอรู้ว่าพูดเขมรได้ และไปจาก ‘แขตซแร็น’ เขายิ้มเป็นมิตรมากกว่าเดิม  อาสารับส่งไปกลับอย่างดี ทันทีที่ลงเท้าบนถนนคนเดิน ก็พบเข้ากับวงดนตรีพื้นบ้าน แบบให้หยอดเงินลงกล่อง และขายหนังสือกับแผ่นเพลง ผมหยอดเงิน ถ่ายรูป ยืนฟังสักพักก็ไปเดินซื้อของ ซึ่งก็เป็นของที่ระลึกทั่วไปที่มีภาพและชื่อสถานที่สำคัญในประเทศของเขา 

                          กลับที่พัก เปิดคอมพิวเตอร์ดูภาพที่บันทึกไว้  จึงเพิ่งพบว่านักดนตรีที่ถนนคนเดินนั้น-ขาเดียว! 

                          เกือบจะลืมเรื่องสงคราม กับระเบิด และคนขาขาดไปแล้ว...แถมวันต่อมา ยังพบกลุ่มดนตรีคนขาพิการอีกหลายวงตามสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ...   

                          ขึ้นต้นด้วยเพลงลูกทุ่งรักๆ มาจบลงด้วยภาพชาวเขมรขาขาด จากกับระเบิดสมัยสงคราม!?

 

 

---------------------

(หนังสือที่เธอถือมา : กัมพูชาที่รัก : โดย...ไพวรินทร์ ขาวงาม)