ไลฟ์สไตล์

แกะรูป'หนังตะลุง'ขายรายได้จากศิลปะพื้นบ้าน

แกะรูป'หนังตะลุง'ขายรายได้จากศิลปะพื้นบ้าน

20 เม.ย. 2556

ยึดอาชีพแกะะรูป "หนังตะลุง" ขายสร้างรายได้จากศิลปะพื้นบ้าน : รายงาน โดย... สิทธิชัย สิขวัตร


          ไม่ใช่ปัญหาสำหรับคนรักงานแกะสลัก แม้จะมีความรู้แค่ชั้นประถมปีที่ 6 แต่สามารถสร้างอาชีพทำเงินได้เป็นอย่างดีสำหรับ "กวีศักดิ์ ชูวิจิตร" หรือที่รู้จักกันในนาม "ช่างเจี๊ยบ" ที่ยึดอาชีพแกะตัวหนังตะลุงเลี้ยงชีพมากว่า 20 ปี โดยฝึกฝนจากผู้เป็นบิดาจนมีวิชาติดตัว ทำให้ทุกวันนี้สร้างรายได้เดือนละไม่ต่ำกว่า 15,000-20,000 บาท โดยมีกลุ่มลูกค้าที่เป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ 
 
          การแกะรูปหนังตะลุง เป็นงานศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านที่มีคุณค่าและมีบทบาทต่อวิถีชีวิตของคนในท้องถิ่นมานานหลายร้อยปี วัตถุประสงค์หลักของการแกะรูปหนังตะลุงในอดีตก็เพื่อใช้ในการแสดงหนังตะลุงเท่านั้น ถือเป็นภูมิปัญญาที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากรุ่นสู่รุ่นในครอบครัวของตัวเอง หรือเรียนรู้ด้วยการฝึกหัด ฝึกฝนเป็นหลัก จากเพื่อนบ้านในหมู่บ้าน ซึ่งการแกะรูปหนังตะลุงมักจะแกะอยู่ในกรอบของวิถีชีวิต สังคมและวัฒนธรรมท้องถิ่น ทั้งรูปแบบและลวดลายที่มีคุณค่า
 
          กวีศักดิ์ ก็เป็นหนึ่งในนั้นที่ได้วิชาความรู้จากผู้เป็นบิดาในการแกะตัวหนังตะลุงขาย เพื่อหารายได้เลี้ยงปากเลี้ยงท้อง เนื่องจากการศึกษาที่ได้รับเป็นเพียงระยะสั้นแค่ชั้นประถมปีที่ 6 เท่านั้น ทั้งนี้เพราะต้องออกมาช่วยพ่อแม่ทำงาน เนื่องจากฐานะทางบ้านอยากจน ประกอบกับผู้เป็นบิดา คือ นายเสน่ห์ มีอาชีพแกะตัวหนังตะลุงอยู่แล้ว การคุ้นเคยได้แต่เด็กๆ มีความชอบประกอบด้วยใจรัก จึงฝึกหัดแกะหนังตะลุง เรียนรู้จากผู้เป็นพ่อจนเกิดความชำนาญ

          "ช่วยพ่อทำ บางครั้งก็ช่วยพ่อขายตัวหนังตะลุงด้วย โดยตั้งชื่อร้านว่าร้านช่างเจี๊ยบ อยู่ที่บ่อน้ำร้อน อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง ใช้เวลาอยู่กับพ่อ 15 ปี ในการร่ำเรียนวิชา อีกทั้งการเดินทางขายตัวหนังตะลุงในพื้นที่จังหวัดต่างๆ ทางภาคใต้ ตระเวนขายตามงานต่างๆ อยู่เรื่อยๆ อยู่หลายปี พร้อมกับแสดงวิธีการสาธิตการแกะตัวหนังตะลุงให้เห็นกันชัดๆ ที่ตรงนั้นด้วย"
  
          กวีศักดิ์ ชูวิจิตร หรือ ช่างเจี๊ยบ ปัจจุบันอายุ 36 ปี อยู่บ้านเลขที่ 110/29 ซอยสิบสองพี่น้อง หมู่ 8 ต.ทับปริก อ.เมือง จ.กระบี่ หลังสะสมประสบการร่ำเรียนวิชาการแกะหนังตะลุงและตระเวนขายของตามงานต่างๆ มาเป็นเวลา 15 ปี จึงคิดอยู่ในใจว่าหนังตะลุงเป็นศิลปะที่มีความสวยงามและมีเอกลักษณ์ สามารถขายให้นักท่องเที่ยวได้ในรูปแบบของที่ระลึก หรือของฝาก จากนั้นจึงเดินทางเข้ามาจ.กระบี่ ในปี 2550 เนื่องจากกระบี่เป็นเมืองท่องเที่ยวและมีนักท่องเที่ยวมากมายหลากหลายกลุ่ม ทั้งคนไทยและต่างชาติ เป็นเมืองที่มีความเคลื่อนไหวทางด้านเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โอกาสที่จะหารายได้ หรือสร้างผลงานมีมากกว่าที่ จ.พัทลุง
 
          ช่างเจี๊ยบเล่าว่า ช่วงแรกๆ เดินเร่ขายอยู่ตามงานต่างๆ ใน จ.กระบี่ ทั้งงานที่จัดโดยภาคเอกชน หรือหน่วยงานของภาครัฐ  ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี เนื่องจากเป็นงานฝีมือ ที่ทำให้เห็นกันจริงๆ สาธิตให้ลูกค้าเห็นกันด้วยตา พร้อมวางขายสินค้าที่ทำเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยสนนราคาสินค้าที่วางจำหน่ายขนาด 2-3 นิ้ว ราคา 180 บาท ขนาด 10-12 เซนติเมตร ราคา 4,500 บาทต่อชิ้น  พร้อมกันนั้นยังรับงานแกะหนังตะลุง ตราสัญลักษณ์  รูปรามเกียรติ์ และหนังใหญ่ต่างๆ หรือขนาดของรูปหนังตะลุงตามความต้องการของลูกค้าหลังมีการตกลงราคาตามที่เรารับได้และลูกค้าพอใจ 
 
          "ลูกค้าที่เป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติทั้งยุโรป เอเชียให้ความสนใจกันมาก ส่วนใหญ่มักจะซื้อเป็นของฝากกลับบ้าน ในแต่ละเดือนทำรายได้เฉลี่ย 12,000-15,000 บาท ผมคิดว่าในปี 2558 ซึ่งเข้าสู่ประชาคมอาเซียน การแข่งขันงานฝีมือมีสูงอย่างแน่นอน การปรับปรุงผลงานจึงต้องมีการตื่นตัวอยู่ตลอดเวลาเช่นกัน" ช่างเจี๊ยบเผย พร้อมย้ำว่า
  
          โดยเฉพาะรูปแบบหนังตะลุงก็คงจะต้องมีหลากหลายมากขึ้น  แม้ฝีมือเราสู้ได้ แต่ในเรื่องของรูปแบบสินค้าคงต้องมีการปรับปรุงเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องการออกบรรจุสินค้า เป็นต้น ปัจจุบันรูปหนังตะลุง ฝีมือการแกะของช่างเจี๊ยบ มีจำหน่ายให้ผู้สนใจและชื่นชอบในศิลปะพื้นบ้านปักษ์ใต้ อยู่ที่ถนนคนเดินมหาราช ซ.8 ต.ปากน้ำ อ.เมือง จ.กระบี่ ทุกวันศุกร์-เสาร์-อาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 17.00 น. เป็นต้นไป
.......................................
(หมายเหตุ ยึดอาชีพแกะะรูป "หนังตะลุง" ขายสร้างรายได้จากศิลปะพื้นบ้าน : รายงาน โดย... สิทธิชัย สิขวัตร)