ไลฟ์สไตล์

พระตำหนักแดนอีสาน

พระตำหนักแดนอีสาน

19 พ.ค. 2556

พระตำหนักแดนอีสาน : คอลัมน์ถิ่นไทยงาม

                ถ้าพระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ เป็นที่ประทับในภาคเหนือ อยู่ที่ จ.เชียงใหม่ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ ที่ประทับในภาคใต้ ที่ จ.นราธิวาส ภาคอีสานก็ไม่น้อยหน้า เพราะมีพระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ อยู่ที่ จ.สกลนคร

               พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ ที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ตลอดจนพระราชวงศ์ ในคราวเสด็จแปรพระราชฐานเยี่ยมพสกนิกรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตั้งอยู่กลางเทือกเขาภูพาน แต่ในช่วงที่ไม่ได้ประทับอยู่ จะอนุญาตให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมได้ โดยทำหนังสือถึงสำนักราชเลขาธิการ ในพระบรมมหาราชวัง ถนนหน้าพระลาน กรุงเทพฯ 10200 และเมื่อได้รับหนังสือตอบรับแล้วจึงจะเดินทางไปชมได้ จะมีเจ้าหน้าที่นำชมและคอยอธิบายถึงสถานที่

               พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ อยู่บนทางหลวงสายสกลนคร-กาฬสินธุ์ หมายเลข 213 ห่างจากตัวเมืองสกลนคร 13 กม. มีทางแยกเข้าไปทางด้านขวามือ ตามทางหลวงหมายเลข 2106 ตลอดทางเข้าไปในเขตพระตำหนักภูพาน จะมีต้นไม้ใหญ่ร่มรื่น ดอกไม้ที่เด่นสะดุดตานอกจากกุหลาบก็มีเฟื่องฟ้า ที่ปล่อยให้ต้นสูงใหญ่ ดูสวยงามยามออกดอกเต็มต้น

               หลังจากลงทะเบียนพบเจ้าหน้าที่แล้ว ก็จะมีเจ้าหน้าที่พาทัวร์สถานที่ ไปยังส่วนต่างๆ มีทั้งเดินขึ้น-ลงเนินน้อยๆ ข้ามสะพานไม้ที่ปรับปรุงขึ้นใหม่เมื่อปีก่อน เจ้าหน้าที่จะคอยอธิบายให้เราได้เข้าใจ พร้อมกับข้อห้ามในบางเรื่อง บางจุดของสถานที่ เนื่องจากเป็นเขตพระราชฐานนั่นเอง

               การตกแต่งอาคารต่างๆ เป็นไปแบบเรียบหรู ดูคลาสสิก อาคารส่วนใหญ่ทาสีขาว ตัดกับสีเขียวของต้นไม้ดูสบายตา รูปแบบสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ ส่วนเรือนรับรองหลักแรกที่สร้าง เป็นพระตำหนักปีกไม้รูปแบบล็อกเคบิน เลยจากหมู่พระตำหนักมีการจัดสร้างบ้านชาวชนบทไว้หลายหลัง เป็นตัวอย่างของบ้านแบบดั้งเดิม มีเครื่องมือเครื่องไม้ทางการเกษตรครบถ้วน แม้แต่ครกกระเดื่อง และเครื่องสีข้าวแบบสมัยก่อนอยู่ใต้ถุนบ้าน 

               จากกลุ่มบ้านชนบทตัวอย่างนี่เอง มีประตูเปิดไปสู่ทางที่มุ่งไปยัง เขื่อนตาดโตน เดินขึ้นเนินไปหน่อย พอหอบเล็กๆ จะถึงที่ตั้งของเขื่อน ซึ่งเป็นเขื่อนขนาดเล็กที่อยู่ภายในบริเวณพระตำหนัก กักเก็บน้ำไว้สำหรับใช้ในเขตพระตำหนัก ซึ่งมีเนื้อที่กว้างใหญ่เกือบ 2,000 ไร่ โดยเป็นพื้นที่เขตพระราชฐานชั้นใน 950 ไร่ ที่เหลืออีก 1,000 กว่าไร่ กันไว้เป็นพื้นที่ป่า ซึ่งจะมีต้นไม้นานาชนิดขึ้นรกครึ้มดูเป็นป่าจริงๆ และยังมีสัตว์ป่าอยู่อาศัยใช้ชีวิตราวกับว่ามันไม่ได้อยู่ในเขตพระตำหนัก 

               "หากไม่มีพระตำหนักนี่ ป่าแถวนี้ก็คงไม่เหลือ" เจ้าหน้าที่ที่นำชมบอกเล่าให้ฟัง ระหว่างที่เดินไปตามถนนลาดยาง ที่เชื่อมจากเขื่อนตาดโตนไปยังพื้นที่ส่วนต่างๆ ที่เราสามารถเดินวนได้เป็นรอบโดยไม่ต้องย้อนกลับทางเก่า

               เนื้อที่กว้างใหญ่แบบนี้ ใช้เจ้าหน้าที่ดูแลทั้งหมด 135 คน มีทั้งเป็นเจ้าหน้าที่ประจำ และลูกจ้างชั่วคราว ที่คอยดูแลโดยเฉพาะในส่วนของเขตพื้นที่ชั้นใน ส่วนที่เป็นป่าโดยมากก็จะปล่อยให้อยู่อย่างนั้น เพราะนี่เป็นพื้นที่ที่ในหลวงทรงตั้งพระราชหฤทัยฟื้นฟูสภาพป่า คืนชีวิตสู่ธรรมชาตินั่นเอง

 

......................................

(พระตำหนักแดนอีสาน : คอลัมน์ถิ่นไทยงาม)