ไลฟ์สไตล์

'กุ้งหัวมัน'สู่ผลิตภัณฑ์กุ้งหวาน

'กุ้งหัวมัน'สู่ผลิตภัณฑ์กุ้งหวาน

13 ก.ค. 2556

ทำมาหากิน : 'กุ้งหัวมัน' สู่ผลิตภัณฑ์กุ้งหวาน วิธีถนอมอาหารชุมชน 'ช่องฟืน' : โดย...สุรัตน์ อัตตะ

 

                           เกือบ 3 ปีที่พายุดีเปรสชันซัดกระหน่ำหมู่บ้านรอบทะเลสาบสงขลา โดยเฉพาะบ้านช่องฟืน ต.เกาะหมาก อ.ปากพะยูน จ.พัทลุง ได้รับความเสียหายอย่างย่อยยับ ไม่ว่าจะเป็นที่อยู่อาศัย เครื่องมือทำมาหากิน ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำประมงหรือแม้กระทั่งสวนยางพาราก็ได้รับความเสียหายไม่น้อยเช่นกัน 

                           จากเหตุการณ์ครั้งนั้นแม้หลายชุมชนรอบทะเลสาบต้องประสบปัญหาสารพัด ทว่าบ้านช่องฟืนกลับแปลงวิกฤติเป็นโอกาสสามารถช่วยเหลือตัวเองโดยไม่ต้องพึ่งพารัฐ เพราะมีกลุ่มออมทรัพย์ที่เข้มแข็งในชุมชน เป็นกองทุนสำคัญในการบรรเทาทุกข์ของชาวบ้านที่นี่ โดยมีมูลนิธิเอสซีจีเข้ามาสนับสนุนต่อยอดเพื่อนำพาสู่ความยั่งยืน

                           "กลุ่มออมทรัพย์บ้านช่องฟืนจัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2536 ปัจจุบันมีเงินสะสม 14 ล้านบาท เงินทุกบาททุกสตางค์เป็นของพี่น้องบ้านช่องฟืน  หลังหักผลกำไรสิ้นปี 3% เข้ากองทุนฟื้นฟูทะเลสาบเพื่อสิ่งแวดล้อม อีก 17% เข้ากองทุนสวัสดิการ เน้นช่วยเหลือคนเจ็บป่วย เสียชีวิต และคลอดบุตร อีก 10% เข้ากองทุนพัฒนากลุ่ม ได้แก่ กลุ่มน้ำยาง กลุ่มประมง และกลุ่มแพชุมชน แล้วยังมีเงินปันผลให้กับสมาชิกทุกสิ้นปี"

                           สุภาพร พรรณราย ประธานกลุ่มออมทรัพย์บ้านช่องฟืน ย้อนอดีตให้ฟังระหว่างมูลนิธิเอสซีจี นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่เยี่ยมชมกิจกรรมของกลุ่ม  หลังมูลนิธิได้เข้ามาดูแลความช่วยเหลือประมงพื้นบ้านขนาดเล็กแก่ชาวบ้านที่ประสบภัย โดยสนับสนุนการซ่อมสร้างเรือจนมีอู่ต่อเรือถาวร รวมถึงสนับสนุนเงินกองทุนหมุนเวียนเพื่อช่วยเหลือชาวบ้านที่ประกอบอาชีพทำประมง

                           ผลจากความเข้มแข็งของกลุ่มออมทรัพย์ จึงขยายผลต่อยอดไปยังกลุ่มอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการประมง โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์กุ้งหวาน ฝีมือของสมาชิกกลุ่มแพปลาชุมชนบ้านช่องฟืนนั้น ถือเป็นผลิตภัณฑ์เด่นเป็นที่ต้องการของตลาดและเป็นที่นิยมของผู้บริโภคเป็นอย่างมาก จนสามารถสร้างรายได้ให้แก่ชาวบ้านที่นี่ได้เป็นอย่างดี

                           บรรจบ นุ้ยแสงทอง กรรมการกลุ่มแพชุมชนบ้านช่องฟืน ต.เกาะหมาก อ.ปากพะยูน จ.พัทลุง เล่าว่า ผลิตภัณฑ์กุ้งหวานเป็นมรดกตกทอดทางภูมิปัญญาที่ชาวบ้านช่องฟืนได้รับการถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษ ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นผลิตภัณฑ์เด่นที่สร้างอาชีพเสริมรายได้ให้แก่ชาวบ้านได้เป็นอย่างดี โดยใช้กุ้งหัวมัน ซึ่งเป็นกุ้งสามน้ำมีเฉพาะในทะเลสาบสงขลาเท่านั้นเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิต นอกจากนี้ก็มีสมุนไพร อาทิ หัวหอม ตะไคร้ น้ำตาลโตนด เกลือ ใบเตย ใช้เป็นส่วนผสมในการปรุงรส

                           "ของเราใช้กุ้งหัวมัน ลักษณะคล้ายกุ้งแชบ๊วยแต่ตัวเล็กกว่า มีที่นี่ที่เดียว เป็นกุ้งสามน้ำที่เกิดจากธรรมชาติ ไม่ใช่กุ้งปล่อย ปัจจุบันเริ่มหาได้ยาก แต่หลังเกิดวิกฤติพายุ ชาวบ้านเริ่มหันมาดูแลพื้นที่ทำประมงมากขึ้น สัตว์น้ำก็เริ่มมีมากขึ้น โดยเฉพาะกุ้งหัวมัน ในหนึ่งปีจะจับได้เพียง 2-3 เดือนช่วงนี้แหละ (ส.ค.-ต.ค.) จะชุกมาก แต่ละปีทางกลุ่มจับได้เฉลี่ย 8-10 ตัน ขายกิโลละ 80-100 บาท เมื่อจับได้เยอะราคาก็ถูก ทางกลุ่มก็นำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์กุ้งหวาน ซึ่งสามารถเก็บไว้ได้ 5-6 เดือน"

                           สมาชิกกลุ่มคนเดิมแจงรายละะอียดต่อว่า หลังกลุ่มรับซื้อกุ้งสดจากชาวบ้านแล้วก็นำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์กุ้งหวานบรรจุกล่อง สนนในราคากิโลกรัมละ 200 บาท หรือกล่องละ 80 บาท มีขนาด 200 กรัม โดยมีตลาดหลักส่งตามร้านค้าจำหน่ายของฝาก ร้านอาหาร ตลอดจนการนำออกงานเทศกาลต่าง ๆ ที่ทางหน่วยราชการจัดขึ้นทั้งในพื้นที่และต่างจังหวัด

                           ผลิตภัณฑ์ "กุ้งหวาน" ฝีมือชาวบ้านช่องฟืน ไม่เพียงแต่สร้างอาชีพเสริมรายได้ให้แก่ชาวบ้านเท่านั้น หากแต่ยังใช้วัตถุดิบหลักกุ้งสามน้ำจากธรรมชาติหรือที่รู้จักในนาม "กุ้งหัวมัน" ที่มีเฉพาะในทะเลสาบสงขลาเท่านั้น

 

-----------------------

\'กุ้งหัวมัน\'สู่ผลิตภัณฑ์กุ้งหวาน

 

ทำ 'กุ้งหวาน' ไม่ยากอย่างที่คิด

                           บรรจบ นุ้ยแสงทอง กรรมการกลุ่มแพชุมชนบ้านช่องฟืน อธิบายขั้นตอนการทำกุ้งหวาน โดยเริ่มจากเตรียมนำกุ้งหัวมันสดๆ มาล้างน้ำและตัดหนวดกุ้งให้สะอาดแล้วปอกหัวกุ้งเตรียมไว้ แล้วใส่เครื่องปรุง เช่น น้ำตาลปี๊บ หัวหอม ตะไคร้ ใบเตย และเกลือลงไป คนให้เข้ากัน ล้างและตัดหนวดกุ้งให้สะอาด นำส่วนผสมทั้งหมดใส่หม้อนำขึ้นตั้งไฟอ่อน เคี่ยวจนกระทั่งน้ำตาลซึมเข้าเนื้อกุ้งและน้ำข้นเหนียว นานประมาณ 20 นาที จึงนำมารับประทานได้ ส่วนประกอบด้วย กุ้งทั้งเปลือก 1 กิโลกรัม น้ำตาลปี๊บ 1/2 กิโลกรัม หอมแดง 6 หัว ตะไคร้ 2 ต้น ใบเตยหอม 3-4 ใบ เกลือ 2 ช้อนโต๊ะและน้ำเปล่า 1 ถ้วยตวง

 

-----------------------

(ทำมาหากิน : 'กุ้งหัวมัน' สู่ผลิตภัณฑ์กุ้งหวาน วิธีถนอมอาหารชุมชน 'ช่องฟืน' : โดย...สุรัตน์ อัตตะ)