ไลฟ์สไตล์

เขียนบันทึกเขียนจดหมาย(๑)

เขียนบันทึกเขียนจดหมาย(๑)

18 ส.ค. 2556

หนังสือที่เธอถือมา : เขียนบันทึก เขียนจดหมาย (๑) : โดย...ไพวรินทร์ ขาวงาม

                           ‘ผมชอบบันทึกประจำวัน บันทึกมาตั้งแต่ปี ๒๕๑๙ บันทึกมาจนถึงวันนี้  และก็สอนเด็กให้รักการบันทึกประจำวัน  เพราะนั่นคือการบันทึกประวัติศาสตร์ตัวเอง และประวัติศาสตร์สังคม วันนี้วันว่างจึงเปิดบันทึกประจำวันเดือนสิงหาคม ปี ๒๕๓๐  ผ่านมาแล้ว ๒๖-๒๗ ปี ตอบตัวเองได้ว่า...’ความคิดทางการเมืองไม่เปลี่ยน’ แต่สภาพชีวิตเปลี่ยนไปไม่น้อย...อยากให้เพื่อนครูพานักเรียนตั้งแต่ชั้น ป.๑ เป็นต้นไป บันทึกประจำวัน  ผลที่ตามมามหาศาลนัก...มันเป็นการเพิ่มทักษะการเขียน, ทักษะการคิด, ทักษะการบรรยายโวหาร, พรรณนาโวหาร, อุปมาโวหาร, สาธกโวหาร...สิ่งที่บันทึกกลายเป็นหลักฐานส่วนตัว หลักฐานทางประวัติศาสตร์ หลักฐานทางสังคม...สิ่งนี้เป็นพื้นฐานสำคัญที่ทำให้ผมเป็นนักเขียนได้...’

                           บางวัน  ผ่านไปส่องเฟซบุ๊กเพื่อน ที่เขาเป็นทั้งนักเขียนและครู-วีระ  สุดสังข์  เขานำลายมือจากสมุดบันทึกเมื่อเดือนสิงหาคม ๒๕๓๐ มาโพสต์แบ่งปันเพื่อนในโซเชี่ยลมีเดีย

                           คนเห็น และคนอ่านบันทึกลายมือของเขาในเฟซบุ๊ก  น่าจะมีทั้งคนรุ่นเก่าที่เคยเขียนบันทึกลายมือ และคนรุ่นใหม่ที่เขียนลายมือน้อยลง  เพราะถนัดการเคาะแป้นคอมพิวเตอร์มากขึ้น  อย่างไรก็เถอะ  บันทึกลายมือของเขาก็ปรากฏเป็นประวัติศาสตร์เล็กๆ อย่างหนึ่งได้  ก่อนที่จะมีคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ  โน้ตบุ๊ก  ไอแพด หรือไอโฟน เพื่อใช้เคาะๆ จิ้มๆ ลากๆ นั้น  เขาใช้กระดาษกับปากกาเขียนด้วยลายมือมาก่อน  และมันยังอยู่ด้วยรูปทรงอักษรเฉพาะ  และเสน่ห์ของอารมณ์รู้สึกนึกคิดของช่วงวันเวลาเหล่านั้น 

                           กับ ครูวีระ  สุดสังข์-เราเป็นเพื่อนกัน  ชอบขีดๆ เขียนๆ ร่วมยุคสมัยเดียวกัน  ในยุคนั้น  ถ้าไม่ใช้พิมพ์ดีดก็ลายมือนี่แหละ  เราเขียนและอยู่กับมันด้วยความรักชอบในการเขียน  อยากเขียน  อยากบอก  อยากเล่า  ทั้งต่อสาธารณะ และต่อตัวเอง

                           ส่งต้นฉบับเรื่องสั้นและบทกวี  เพื่อเสนอบรรณาธิการนิตยสารต่างๆ  ถ้าไม่มีพิมพ์ดีด  ก็ใช้ลายมือที่ตั้งใจคัดให้อ่านออกได้ง่าย  ถ้าเขียนจดหมายถึงเพื่อนก็ใช้สมาธิเขียนอย่างสม่ำเสมอ  แม้เขียนบันทึกส่วนตัวก็จดจ่อเขียนในสิ่งที่ตัวเองอยากบันทึก  ลายมือในสมุดบันทึกอาจคัดๆ หวัดๆ หรือหวัดแกมบรรจงบ้างตามอารมณ์ในแต่ละขณะ

                           เวลาอ่านบันทึกส่วนตัวของพระ หรือนักเขียนมีชื่อเสียง ที่นำมาตีพิมพ์เผยแพร่ต่อสาธารณะแล้ว  จะเห็นลายมือหลายแบบของบุคคลเดียวกัน  เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งในเส้นสายลายมือของคน 

                           ‘ไดอารี่’  ‘อนุทิน’  ‘สมุดบันทึก’ เป็นชื่อที่แล้วแต่จะเรียกจะใช้  มันดูเป็นส่วนตัวอย่างยิ่ง  แต่การเขียนของคนซึ่งดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมนั้น  บางทีเรื่องส่วนตัวก็เป็นเรื่องไม่ส่วนตัว  อย่างที่เรามักได้อ่านข้อเท็จจริงหรืออารมณ์ความรู้สึกส่วนบุคคลในทางสาธารณะ  เพียงแต่ในทางเริ่มต้นเขียน  เราไม่ได้คิดไปไกลถึงขนาดนั้น  การเขียนก็คือการเขียน  เขียนด้วยความอยากเขียน  สมุดบันทึกของแต่ละคน  อาจไม่มีใครอ่านเลยก็ได้นอกจากผุ้เขียนเอง  แต่สิ่งที่เขียนนั้นคือความคิด  ความอ่าน  ความรู้สึก  ความครุ่นคำนึง  ความรำพึงรำพัน กับสิ่งที่ตัวเองมีต่อโลก

                           โลก-สำหรับแต่ละคน  อาจหมายถึงพระพุทธ  พระธรรม  พระสงฆ์  บิดา มารดา  ครูบาอาจารย์  มิตรสหาย  คนชัง  คนรัก  ผู้มีพระคุณ  เทวดาฟ้าดิน  ชาติบ้านเมือง  ข้าวปลาอาหาร  ต้นไม้ใบหญ้า  สัตว์เลี้ยง ฯลฯ 

                           สิ่งที่สมุดบันทึกส่วนตัวเล่มหนึ่งบันทึกไว้นั้น  เป็นเรื่องสวนตัวที่มีเส้นสายใยโยงไปไม่มีที่สิ้นสุด  เขาไม่ได้เขียนเพราะเป็นคนมีชื่อเสียง  ไม่ได้เขียนเพราะหาทางอยากจะมีชื่อเสียง  หากเขียนเพราะอยากเขียน  การเขียนเพราะอยากเขียนนี่เอง  คือการเขียนที่นำพาให้คนได้เป็นนักเล่าเรื่อง  หรือนักเขียน  บางคนเริ่มต้นเขียนด้วยการสื่อสารกับสิ่งที่ไม่มีตัวตนจริงด้วยซ้ำ  อาจเขียนคุยกับคนรักที่ไม่เคยมี  อาจเขียนคุยกับความเชื่อ  อาจเขียนคุยกับความฝัน  อาจเขียนคุยกับสิ่งที่มีอยู่จริงแต่จากโลกนี้ไปแล้ว

                           ไดอารี่ที่รัก!  อนุทินที่รัก!  สมุดบันทึกที่รัก!  บางทีก็เขียนพร่ำเพ้อไปตามประสาของวันวัย  เขียนวันต่อวัน  คืนต่อคืน  ตั้งแต่เริ่มเขียนหนังสือเป็นอ่านหนังสือออก  ผมชอบเขียนสมุดบันทึก  กระทั่งบางวันไม่มีอะไรจะบันทึก  ก็เขียนว่า  ‘วันนี้ไม่มีอะไรจะบันทึก’ สมุดบันทึกของผม  เป็นเพียงสมุดปกแข็งราคาถูกเท่านั้น  ตอนนี้มันมีเป็นตั้งเหมือนหนังสือ  ไม่เคยพิมพ์เผยแพร่  หรือได้ค่าตอบแทนจากมัน  แต่เวลาเปิดอ่านเห็นลายมือและเรื่องราวเล็กๆ น้อยๆ ที่เขียนไว้  มันไม่ได้ยิ่งใหญ่อะไรเลย  แต่มันรู้สึกดี  ที่เห็นลายมือดูดี  และภาษาไทยอ่านได้

                           นี่แหละ-ความสุขโฉมหน้าหนึ่งของคนชอบเขียน!

 

 

--------------------------

(หนังสือที่เธอถือมา : เขียนบันทึก เขียนจดหมาย (๑) : โดย...ไพวรินทร์ ขาวงาม)