
เครื่องปลูกข้าวต้นแบบเพื่อ'ชาวนา'ไทย
สวก.โชว์เครื่องปลูกข้าวในงานวิจัย นวัตกรรมต้นแบบเพื่อ 'ชาวนา' ไทย : โดย...สุรัตน์ อัตตะ
ผลกระทบจากปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคเกษตร ที่นับวันยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ทว่าการนำเครื่องจักรกลมาใช้แทนแรงงานคน ไม่เพียงจะช่วยลดต้นทุนการผลิตเท่านั้น แต่ยังช่วยย่นระยะเวลาการทำงานให้สั้นลง ซึ่งจะเป็นผลดีต่อผู้ประกอบอาชีพนี้ โดยเฉพาะชาวนาไทยที่ปัจจุบันยังคงใช้แรงงานคนเป็นหลักในการเพาะปลูก
ด้วยเหตุนี้ทำให้ทีมนักวิจัยประกอบด้วย ดร.มงคล เอกปัญญาพงษ์ จากสถาบันเอไอที อ.สมศักดิ์ พลอยพาณิชย์เจริญ จากเนคเทค และดร.ไทยศิริ เวทไว อาจารย์คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยการสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยเกษตร (สวก.) ได้ประดิษฐ์คิดค้นเครื่องปลูกข้าวเป็นผลสำเร็จเพื่อตอบสนองปัญหาดังกล่าว เนื่องจากการปลูกข้าวโดยใช้เครื่องปลูกข้าวอัตโนมัติ จะได้ผลผลิตที่ดี ลักษณะเหมือนการทำนาดำ มีช่องว่างระหว่างต้นกล้ามากขึ้น ลดความสูญเสียจากการเกิดโรค และแมลงอีกด้วย
ดร.ไทยศิริ เวทไว หนึ่งในทีมนักวิจัย เปิดเผยถึงที่มาในการคิดประดิษฐ์เครื่องปลูกข้าวอัตโนมัติว่า เกิดจากแนวคิดของนักศึกษาเอไอที โดยตั้งสมมุติฐานว่า ในอนาคตเมื่อการทำนาขาดแคลนแรงงาน จึงจำเป็นต้องมีเครื่องจักรกลเข้ามาแทนแรงงานคนในการหว่านข้าวหรือการเพาะกล้า จากนั้นจึงคิดประดิษฐ์ผลิตเครื่องตัวนี้ขึ้นมาแล้วก็ได้พัฒนาประสิทธิภาพการทำงานมาเรื่อยๆ เพื่อให้การใช้งานของเครื่องจักรกลตัวนี้มีประสิทธิภาพสูงสุด
"เป็นความร่วมมือระหว่างจุฬาฯ และเอไอที โดยการสนับสนุนของ สวก.ที่ผลิตเครื่องตัวนี้ขึ้นมา เพื่อให้ชาวนานำไปปลูกข้าวโดยอัตโนมัติ หลักการทำงานง่ายๆ ใช้แรงลมในการดูดเมล็ดข้าว โดยสามารถกำหนดได้ว่าจะดูดเมล็ดกี่เมล็ดแล้วก็ปล่อยไปตามจุดที่เรากำหนดไว้ ส่วนเครื่องก็จะเดินไปตามแปลงนา เมล็ดก็จะถูกหยอดไปตามที่เราได้ตั้งโปรแกรมเอาไว้ ซึ่งเราสามารถกำหนดระยะห่างระหว่างแถว ระหว่างต้นได้แล้วก็กำหนดจำนวนเมล็ดที่เราจะหยอดได้ เพราะฉะนั้นมันก็สามารถควบคุมการขึ้นของต้นข้าวให้เป็นแถวเป็นแนว ดูแลรักษาง่ายและมีคุณภาพสูง ที่สำคัญสามารถดัดแปลงตามความต้องการของเจ้าของที่นาได้
หนึ่งในทีมนักวิจัยคนเดิมระบุอีกว่า สำหรับเครื่องปลูกข้าวอัตโนมัติตัวนี้ได้เริ่มดำเนินการมาได้ 1 ปีแล้ว โดยเครื่องต้นแบบจะมีขนาดเล็กกว่านี้ จากนั้นก็ได้พัฒนาให้ใหญ่ขึ้นและมีประสิทธิภาพการใช้งานให้สูงขึ้น ส่วนต้นทุนของการผลิตเครื่องต้นแบบตัวนี้อยู่ที่ประมาณ 1 แสนบาท แต่ถ้าทุกอย่างนิ่งแล้วคิดว่าต้นทุนน่าจะถูกกว่านี้
ส่วนจุดเด่นของเครื่องปลูกข้าวอัตโนมัติตัวนี้ ดร.ไทยศิริ บอกว่า จะแตกต่างจากเครื่องหยอดข้าวทั่วไปที่เห็นกันอยู่ในท้องตลาด ซึ่งจะมีลักษณะการโรยเมล็ดข้าวไปตามเครื่องจักร โดยโรยตามแนวโน้มถ่วงของโลก ไม่สามารถกำหนดจำนวนเมล็ดได้และระยะห่างที่แม่นยำได้ แต่สำหรับเครื่องตัวนี้จะใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ตั้งโปรแกรมในการควบคุม ทำให้กำหนดได้ว่าจะหยอดกี่เมล็ดและมีระยะห่างเท่าไหร่ ทำให้มีความแม่นยำสูง ซึ่งจะช่วยประหยัดเมล็ดข้าวมากกว่า โดยอยู่ที่ประมาณ 1-2 กิโลกรัมต่อไร่เท่านั้น ใช้เวลาเฉลี่ยอยู่ที่ 1 ชั่วโมงต่อ 1 ไร่ ซึ่งขณะนี้พยายามพัฒนาประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องให้ย่นระยะเวลาให้น้อยลงอีก
"เป็นเครื่องอัตโนมัติ เปิดเครื่องปุ๊บขนาดแปลงเท่าไหร่ กว้างคูณยาวเท่าไหร่ ก็ตั้งโปรแกรมแล้วมันก็วิ่งอัตโนมัติไปของมันได้เอง ชาวนาบางคนอยากได้เครื่องเล็กๆ ที่ต่อพ่วงกันรถแทรกเตอร์ได้ หรือจะเป็นคนเดินตาม ปีต่อไปเราจะพัฒนาประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องไปถึงจุดนั้น ปีที่ผ่านมาเราทดสอบปลูกข้าวในแปลงนาที่อยุธยากับปทุมธานี ผลออกมาเป็นที่น่าพอใจ" นักวิจัยคนเดิมกล่าวอย่างภูมิใจ
เกษตรกรหรือผู้สนใจสามารถชมนวัตกรรมต้นแบบตัวนี้ได้ ในงาน "มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ" (Thailand Researh Expo) จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายในระบบวิจัยทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 23-27 สิงหาคม 2556 ณ ชั้น 22-23 ศูนย์ประชุมบางกอกคอนเวนชั่น เซ็นทรัลเวิลด์ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ ราชประสงค์ กรุงเทพฯ
-------------------------
(สวก.โชว์เครื่องปลูกข้าวในงานวิจัย นวัตกรรมต้นแบบเพื่อ 'ชาวนา' ไทย : โดย...สุรัตน์ อัตตะ)