
'ศิริราช'รักษามะเร็งเต้านมแนวใหม่
ศิริราชเผยวิธีรักษา 'มะเร็งเต้านม' แนวใหม่ ผ่าตัดเก็บเต้านมพร้อมฉายแสงในครั้งเดียว ชี้ไม่ทำให้เสียทรง-ปลอดภัยได้ผลดี ปัจจุบันใช้รักษาผู้ป่วยแล้ว 50 ราย
23 ส.ค.56 ที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล จัดแถลงข่าว "ศิริราชรักษามะเร็งเต้านมแนวใหม่ ผ่าตัดเก็บเต้านมพร้อมฉายแสงในครั้งเดียว ประสิทธิภาพสูง ปลอดภัยได้ผลดี" โดยมีศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล เป็นประธาน กล่าวว่าปัจจุบันมะเร็งเต้านมมีอัตราการเกิดจำนวนมากแซงมะเร็งปากมดลูก ซึ่งถือเป็นปัญหาสำคัญของประเทศและที่ผ่านมาทางทีมแพทย์ศิริราชพยาบาลมีทีมแพทย์ที่สนใจในเรื่องนี้ มีการวินิจฉัยรักษามะเร็งเต้านม และตอนนี้มีเทคนิคใหม่ที่ทำให้คนไข้ได้รักษาที่ดีขึ้น ลดภาวะแทรกซ้อน อาการข้างเคียง อย่างไรก็ตาม การรักษาด้วยวิธีใหม่นี้ ไม่ใช่เป็นเทคโนโลยีใหม่ครั้งแรกของโลก หรือของประเทศไทย แต่เป็นแนวทางที่ทางศิริราชพยาบาลได้คิดขึ้น เพื่อให้รักษาผู้ป่วยได้ดีขึ้น
ศ.นพ.พรชัย โอเจริญรัตน์ อาจารย์แพทย์หัวหน้าสาขาศัลยศาสตร์ ศีรษะ คอ เต้านม ภาควิชาศัลยศาสตร์ กล่าวว่าโรคมะเร็งเต้านมเป็นโรคมะเร็งที่พบเป็นอันดับ1 ในสุภาพสตรีทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย จากสถิติของสถานวิทยามะเร็งศิริราชพบว่า ในแต่ละปีมีผู้ป่วยใหม่ที่เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลศิริราชด้วยเรื่องมะเร็งเต้านมมากกว่า 1,000 ราย ประมาณ 10% ของผู้ป่วยโรคมะเร็ง และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยมาตรฐานการรักษาจะเป็นแบบสหสาขาวิชา คือ มีทั้งการผ่าตัด ฉายรังสีรักษา การให้ยาเคมีบำบัด และฮอร์โมนบำบัดผสมผสานกัน ซึ่งการรักษาด้วยการผ่าตัดยังใช้เป็นการรักษาหลักอยู่ มีทั้งการผ่าตัดเต้านมออกทั้งหมดและการผ่าตัดแบบเก็บเต้านมไว้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของทีมแพทย์ผู้ทำการรักษา
รศ.นพ.อดุลย์ รัตนวิจิตราศิลป์ อาจารย์แพทย์ประจำสาขาศัลยศาสตร์ศีรษะ คอ และเต้านม ภาควิชาศัลยศาสตร์ และผู้ริเริ่มการรักษามะเร็งเต้านมแนวใหม่ในศิริราช กล่าวว่า การรักษามะเร็งเต้านมด้วยการผ่าตัดแบบเก็บเต้านมเป็นที่นิยมมาก หลักการคือผ่าตัดเอาเฉพาะก้อนมะเร็งออก โดยเก็บผิวหนังบริเวณเต้านม หัวนม และลานนมไว้ นับเป็นเทคโนโลยีในการผ่าตัดที่สามารถช่วยให้ผู้ป่วยยังคงความเป็นหญิงไม่สูญเสียเต้านม และนำมาสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ทั้งนี้จากข้อมูลทางการแพทย์ พบว่า การผ่าตัดรักษาด้วยวิธีผ่าตัดแบบเก็บเต้านมอย่างเดียว จะทำให้อัตราการเกิดซ้ำของมะเร็งเต้านมสูงขึ้น จำเป็นที่ผู้ป่วยส่วนใหญ่ต้องได้รับการฉายรังสีรักษาภายนอกหลังการผ่าตัดแล้วเป็นจำนวน 25-30 ครั้ง เป็นระยะเวลา 5-6 สัปดาห์ติดต่อกัน ทำให้สร้างความลำบากให้แก่ผู้ป่วยและยังทำให้การบริการทางรังสีรักษาแก่ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้นจำนวนมาก เทคโนโลยีใหม่นี้ เป็นการผ่าตัดเฉพาะก้อนมะเร็งเต้านมพร้อมฉายรังสีรักษาครั้งเดียวในห้องผ่าตัด ได้ผลดีในการรักษาหายเทียบเท่ากับการรักษาด้วยฉายรังสีหลายครั้ง
ผศ.นพ.สืบวงศ์ จุฑาภิสิทธิ์ อาจารย์แพทย์ หนึ่งในผู้ผ่าตัดรักษามะเร็งเต้านมแนวใหม่ กล่าวว่า การผ่าตัดมะเร็งแนวใหม่นี้ จะเลือกคนไข้ที่เหมาะสม ซึ่งไม่ใช่ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมทุกรายที่สามารถรับการรักษาด้วยวิธีนี้ได้ แพทย์ผู้รักษาต้องเป็นผู้ประเมินว่าผู้ป่วยรายได้สมควรที่จะได้รับการฉายรังสีในห้องผ่าตัด รายใดไม่สามารถทำได้ โดยทั่วไปผู้ป่วยที่เหมาะสมรักษาวิธีนี้ จะต้องเป็นมะเร็งของท่อน้ำนมชนิดลุกลาม มีอายุเท่ากับ 55 ปี หรือ 55 ปีขึ้นไป เป็นมะเร็งระยะเริ่มต้น ขนาดก้อนเล็งกว่า 2 ซม. ไม่มีการกระจายของเซลล์มะเร็งไปที่ต่อมน้ำเหลือง มีก้อนมะเร็งก้อนเดียว และมีตัวรับฮอร์โมนเอสโตรเจนในเซลล์มะเร็ง โดยการผ่าตัดนั้นจะเริ่มผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ จากนั้นผ่าตัดเฉพาะก้อนมะเร็งออก ตามด้วยการฉายรังสีรักษาครั้งเดียวในห้องผ่าตัด
ซึ่งการผ่าตัดด้วยวิธีนี้เริ่มใช้ในโรงพยาบาลเมื่อเดือนพฤษภาคม 2554 จนถึงปัจจุบัน (31 พ.ค.54-7 ส.ค.56) ให้บริการผู้ป่วยไปแล้ว 50 ราย มีการติดตามผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง โดยมีระยะเวลาเฉลี่ยในการติดตามเท่ากับเป็นระยะเวลา 1 ปี ได้ผลดีเยี่ยมและมีอัตราการเกิดโรคซ้ำเพียง 2% (1 ราย) ซึ่งเป็นเปอร์เซ็นต์ที่อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ทั้งวิธีนี้ยังทำให้ผู้ป่วยประหยัดเวลา และค่าใช้จ่ายในการเดินทาง รวมถึงสามารถช่วยลดงานบริการผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการรักษาฉายรังสีเป็นจำนวนถึง 755 ครั้ง
นพ.กุลธร เทพมงคล อาจารย์แพทย์ประจำสาขารังสีรักษา ภาควิชารังสีวิทยา และผู้ฉายรังสีรักษา กล่าวว่า การฉายแสงหรือรังสีรักษา ถือเป็นกระบวนการหลักอย่างหนึ่งในการรักษามะเร็งเต้านม เพื่อหวังผลให้ผู้ป่วยหายขาดจากโรคหรือป้องกันการกลับมาของโรค ซึ่งข้อดีของการฉายรังสีรักษาในห้องผ่าตัด คือ การลดระยะเวลาในการฉายรังสีภายนอกได้ถึง 25-30 ครั้ง นอกจากนี้การฉายรังสีเข้าไป ในบริเวณที่เป็นตำแหน่งของก้อนมะเร็งทันทีภายหลังการผ่าตัดเอาก้อนมะเร็งออก จะทำให้สามารถกำหนดตำแหน่งของการฉายรังสีรักษาได้แม่นยำมากขึ้น ลดระยะเวลาการรักษาที่สั้นและเร็วที่สุด
โดยฉายเหลือเพียงครั้งเดียวและทำในห้องผ่าตัดทีเดียวและเนื่องจากบริเวณฉายแสงเล็กลง จึงทำให้ผลกระทบต่ออวัยวะข้างเคียง เช่น ปอด หัวใจ เนื้อเยื่อเต้านม บริเวณอื่นๆ และผิวหนังลดน้อยลงไปด้วย ทำให้เพิ่มโอกาสหายจากโรค นอกจากนั้นพบว่าภาวะความสวยงามของเต้านมภายหลังการรักษาอยู่ในเกณฑ์ดีมากถึงดีเลิศ อีกทั้งได้มีการใช้แบบสอบถามที่เป็นมาตรฐานทั่วโลกฉบับที่แปลเป็นภาษาไทย เพื่อประเมินคุณภาพชีวิตผู้ป่วยหลังการรักษามะเร็งเต้านม พบว่าผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตอยู่ในเกณฑ์ดีมาก ผู้ป่วยส่วนใหญ่พึงพอใจกับการรักษาและรู้สึกพึงพอใจที่ไม่มีการสูญเสียเต้านมภายหลังการผ่าตัด
ด้าน รศ.เยาวมาลย์ เมธาภิรักษ์ ผู้ได้รับการรักษาด้วยวิธีนี้ กล่าวว่า ครั้งแรกที่รู้ว่าตนเองเป็นมะเร็งเต้านมก็รู้สึกตกใจ และเครียดมาก เพราะกังวลว่าอาจจะต้องตัดเต้านมทั้งหมด ทำให้คุณภาพชีวิตแย่ลง กลัวจะเดินแบบไหล่เอียง แต่เมื่อแพทย์ได้เสนอและอธิบายให้ทราบถึงแนวทางการรักษาว่าจะผ่าตัดเฉพาะก้อนมะเร็งแทนการตัดเต้านมออกทั้งหมดแล้วฉายรังสีโดยตรงเข้าไปครั้งเดียวยังบริเวณที่ผ่าตัด โดยไม่ต้องมารักการฉายรังสีหลังผ่าตัดอีก 25-30 ครั้งก็รู้สึกสนใจวิธีใหม่นี้มาก และมั่นใจในการรักษา จึงตอบตกลง กระบวนการรักษาเป็นไปอย่างราบรื่นและพักเพียงคืนเดียวหลังผ่าตัด ทุกวันนี้รู้สึกมีความสุขที่หายจากโรคนี้แล้ว แถมเต้านมก็ไม่เสียทรง ทั้งหมดนี้ทำให้เห็นได้ว่าถึงจะโชคร้ายที่เป็นมะเร็งเต้านม แต่โชคดีที่พบในระยะเริ่มต้น ทำให้รักษาแบบเก็บเต้านมไว้ได้ และโชคดีอีกชั้นที่ได้รับการรักษาโดยเทคโนโลยีใหม่จึงขอขอบคุณคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลที่ได้นำเทคโนโลยีทันสมัยมาให้คนไทยมีโอกาสได้รักษา
อย่างไรก็ตาม การรักษาวิธีนี้ ในส่วนของการผ่าตัด หรือกระบวนการต่างๆ สามารถเบิกได้ ยกเว้นในส่วนของการฉายแสงในครั้งเดียว ซึ่งจะเสียค่าใช้จ่าย 38,000 บาท ที่ยังไม่สามารถเบิกได้ และความสำเร็จในครั้งนี้ ถือเป็นการต่อยอดของการรักษาโรคมะเร็งเต้านมโดยนำเทคโนโลยีการผ่าตัดควบคู่กับการฉายรังสีในคราวเดียว จะขยายผลการรักษานี้ให้กับผู้ป่วยมากขึ้นทั้งในประเทศและแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยจะจัดการประชุมเชิงปฎิบัติการขึ้นในปลายเดือนธันวาคม 2556 เพื่อเปิดโอกาสให้แพทย์ทั้งชาวไทยและต่างประเทศได้เรียนรู้เทคโนโลยีใหม่นี้ ผู้สนใจสามารถขอรับคำแนะนำได้ที่คลินิกเต้านม รพ.ศิริราช โทร.02-419-4974-5 และดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.si.mahidol.ac.th