ไลฟ์สไตล์

ทำมาหากิน : 'ผ้าย้อมคราม' บ้านกุดแฮด

ทำมาหากิน : 'ผ้าย้อมคราม' บ้านกุดแฮด

06 ก.ย. 2556

ทำมาหากิน : 'ผ้าย้อมคราม' บ้านกุดแฮด สินค้าภูมิปัญญาส่งต่างแดน : โดย...สุรัตน์ อัตตะ

 

                           ผลิตภัณฑ์ "ผ้าย้อมคราม" สินค้าแฮนด์เมดที่สืบสานจากภูมิปัญญาของกลุ่มชาวบ้านกุดแฮด ต.กุดบาก อ.กุดบาก จ.สกลนคร ใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติ 100 เปอร์เซ็นต์ ที่คนไทยมองข้าม แต่กลับได้รับความนิยมอย่างมากจากคนญี่ปุ่นและยุโรป ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) หรือ สพภ. ที่ปัจจุบันกลายเป็นผลิตภัณฑ์ทำเงินให้แก่คนในชุมชน ควบคู่ไปกับการดูแลรักษาฟื้นฟูทรัพยากรชีวภาพไปพร้อมๆ กัน

                           เกยูร ไชยะวงศ์ ประธานวิสาหกิจชุมชนทอผ้าย้อมครามบ้านกุดแฮด เล่าว่า ชาวบ้านกุดแฮดเป็นพื้นที่อยู่อาศัยของชาวไทยกะเลิง มีฝีมือในเรื่องการทำผ้าย้อมครามที่ได้รับถ่ายทอดภูมิปัญญามาจากรุ่นสู่รุ่น โดยเมื่อก่อนผลิตเพื่อใช้ในครัวเรือนเป็นหลักใส่ทำงานในไร่นามีขายเป็นส่วนน้อย แต่ปัจจุบันได้มีการทำเพื่อจำหน่ายมากขึ้น หลังได้รับการสนับสนุนการผลิตและตลาดจาก สพภ.และ ม.เกษตรศาสตร์ สกลนคร 

                           "แต่ละขั้นตอนของการย้อมครามต้องใช้ประสบการณ์ส่วนบุคคลสูง เริ่มตั้งแต่ก่อหม้อครามถ้าทำไม่เป็นก็จะไม่ได้น้ำครามออกมา การสังเกตเนื้อครามที่ได้ว่าเป็นครามคุณภาพดีหรือไม่ เนื้อต้องเนียนละเอียด สีน้ำเงินสดใสเป็นเงา จนมาถึงการย้อมที่ต้องให้ติดสม่ำเสมอทุกเส้นด้าย สิ่งเหล่านี้นับวันจะหาผู้รู้สามารถทำได้น้อยลงทุกวัน"

                           เธอเล่าต่อว่า ชาวไทยกะเลิง เชื่อว่า ครามเป็นต้นไม้ที่มีชีวิตและจิตวิญญาณของธรรมชาติ เปรียบเท่ากับเทพยดา เมื่อนำมาย้อมผ้าย้อมครามสวมใส่ก็จะเหมือนมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์คอยปกป้อง ทำให้ผู้สวมใส่สุขกายสบายใจและนับวันหาคนที่ทำได้สวยได้สมบูรณ์แบบน้อยลง แต่หลังจาก สพภ.เข้ามาช่วย ก็ทำให้ได้เห็นช่องทางที่จะพัฒนาผลผลิตในชุมชนให้เป็นสินค้า สร้างรายได้ให้แก่ชุมชนได้

                           "ตอนนี้ในกลุ่มก็มีความตื่นตัวค่อนข้างสูงในเรื่องนี้ แม้ว่าวันนี้จะยังไปไม่ถึงจุดนั้น แต่สิ่งที่ทุกคนเห็นพ้องกันก็คือ ภูมิปัญญา ความรู้เก่าก่อนของบรรพบุรุษจะถูกรวบรวมไว้เพื่อถ่ายทอดไปสู่ลูกหลาน ให้ได้เรียนรู้รากเหง้าที่มา และวัฒนธรรมของเรา และเชื่อว่า สิ่งที่คนรุ่นเราได้เริ่มไว้จะต่อยอดสร้างรายได้ให้ลูกหลานในชุมชน ไม่ต้องเดินทางออกไปทำงานไกลบ้านอีกต่อไป” ประธานวิสาหกิจชุมชนทอผ้าย้อมครามบ้านกุดแฮดกล่าว

                           อ.สนธยา ผาลลาพัง รองผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยและพัฒนามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จ.สกลนคร ผู้แทนกลุ่มคลัสเตอร์เครื่องนุ่งห่ม จ. สกลนคร กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ผ้าย้อมครามเป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้น ทางกลุ่มเองก็ได้นำภูมิปัญญาแห่งผืนผ้านี้ไปเป็นโจทย์ เพื่อที่จะให้ชุมชนสามารถที่จะอนุรักษ์ และสืบสานผืนผ้าที่ทรงคุณค่าเหล่านี้ต่อไป ซึ่งเป็นเปิดมิติใหม่ให้แก่สินค้าตลาดผ้าไทยอีกด้วย

                           “เสน่ห์ของผ้าย้อมครามคือ สามารถป้องกันยูวี มีกลิ่นครามหอมอ่อนๆ ซึ่งกลิ่นนี้ยังป้องกันยุงได้ด้วย เนื้อผ้านุ่ม สวมใส่สบาย อากาศหนาวใส่แล้วอุ่น อากาศร้อนใส่แล้วเย็น คนไทยอาจมองข้าม คนญี่ปุ่น ทางยุโรปชอบมาก เพราะเป็นผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติร้อยเปอร์เซ็นต์ ใส่แล้วสบาย ตอนนี้มีออเดอร์จากญี่ปุ่น เขาบอกราคาไม่เกี่ยงมีเท่าไหร่รับซื้อหมด" อาจารย์สนธยาเผย

                           ด้าน ดร.วีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) หรือ สพภ. ยอมรับว่า แนวคิดและการให้การสนับสนุน กลุ่มวิสาหกิจชุมชนทอผ้าฝ้ายย้อมคราม บ้านกุดแฮด เป็นไปตามพันธกิจขององค์กรที่มุ่งให้การส่งเสริมและสนับสนุนการเพิ่มมูลค่าการใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพ และภูมิปัญญาท้องถิ่นและธุรกิจชีวภาพด้วยการใช้สหวิทยาการที่เกี่ยวข้อง

                           "พื้นที่ภาคอีสานนั้น ถือได้ว่าเป็นอู่ทางวัฒนธรรม ที่มีความโดดเด่นในด้านศิลปะการทอและย้อมผ้า ที่มีการถ่ายทอดหลอมรวมส่งผ่านจากรุ่นสู่รุ่นมายาวนาน หากแต่ปัจจุบันมีการกระจัดกระจายองค์ความรู้และภูมิปัญญา ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายหากไม่สามารถรวบรวม จัดระบบพัฒนาและต่อยอดองค์ความรู้เหล่านั้นเพื่อสร้างประโยชน์แก่คนในชุมชนได้" ผอ.สพภ.กล่าวย้ำ

                           นับเป็นอีกก้าวของ สพภ.ในการประสานความร่วมมือกับเครือข่าย สถาบันการศึกษา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เพื่อเข้ามาร่วมศึกษาความหลากหลายของชุมชน จนนำไปสู่แนวทางการอนุรักษ์พัฒนาผ้าย้อมครามให้สามารถผลิตและจำหน่าย สร้างรายได้กลับสู่ชุมชนได้ ภายใต้แนวคิดของการสืบสานภูมิปัญญา พัฒนาประณีตศิลป์แผ่นดินอีสานให้คงอยู่คู่เศรษฐกิจชุมชนอย่างยั่งยืนสืบไป

 

 

------------------------

(ทำมาหากิน : 'ผ้าย้อมคราม' บ้านกุดแฮด สินค้าภูมิปัญญาส่งต่างแดน : โดย...สุรัตน์ อัตตะ)