
นักธุรกิจแถวหน้าของลาว
14 ก.ย. 2556
นักธุรกิจแถวหน้าของลาว ทำแบงก์เพื่อช่วยสังคม : คอลัมน์คุยนอกกรอบ : โดย...สินีพร มฤคพิทักษ์
เป็นวิทยากรที่เนื้อหอม และเรียกความนิยมจากผู้ฟังได้เป็นอย่างดี สังเกตได้จากเสียงหัวเราะ และผู้ฟังตามมาขอนามบัตรหลังบรรยายจบ
ทั้งที่ตำแหน่งอย่างเป็นทางการของ อ๊อด พงสะหวัน คือประธานกลุ่มบริษัทพงสะหวัน และผู้อำนวยการใหญ่ ธนาคารพงสะหวัน สปป.ลาว ธนาคารเอกชนที่ครองส่วนแบ่งตลาดสูงสุดของลาว (รองจากธนาคารรัฐ) ทั้งที่เพิ่งตั้งได้เพียง 6 ปี และเป็นผู้ปฏิวัติวงการธนาคารกล่าวคือ ทำให้ลูกค้าสามารถใช้บัตรเอทีเอ็มลาว เบิกเงินบาทจากตู้เอทีเอ็มธนาคารกรุงเทพในประเทศไทยได้
"คม ชัด ลึก" มีโอกาสพบนายธนาคารจาก สปป.ลาว ในโอกาสที่เขามาบรรยายหัวข้อ "เจาะลึกธุรกิจ Bangking & Investment" ที่สถาบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
"ธุรกิจเราทำแบบครอบครัวมาสามสิบกว่าปี มีเงิน 100 บาท เราก็ลงทุน 100 บาท ไม่ลงทุนเกินจากที่มี ธนาคารเป็นธุรกิจหนึ่งที่ช่วยสังคมได้เยอะกว่า เพราะช่วยเหลือธุรกิจเล็กๆ ให้เติบโตในสังคมได้"
และตอนนี้เขากำลังดูลู่ทางเพื่อเปิดสาขาในประเทศไทย !
"ถ้าผมมีโอกาสตั้งแบงก์ในไทย ทำประโยชน์ให้ไทยอย่างไร? สมมติมีทุนจดทะเบียน 10 ล้านดอลลาร์ เงินฝาก 200 กว่าล้านดอลลาร์ ปล่อยกู้ 60 เปอร์เซ็นต์ ช่วยคนจน นักธุรกิจเท่าไร"
นายแบงก์จากลาวพูดอย่างเต็มปากเต็มคำว่า "ช่วยคนจน" เพราะคอนเซ็ปต์ในการทำแบงก์ของเขา ไม่เหมือนคนอื่น
"การทำแบงก์มีหลายอย่าง ทำเพื่อรวยหรือช่วยสังคม ทำเพื่อรวย-ทรัพย์สินที่นำมาจำนอง มูลค่า 100 ดอลลาร์ ตีราคา 30 ดอลลาร์ พอยึดและขาย 100 ดอลลาร์ แต่ที่ยากคือทำไงเขามาหาเราให้อยู่รอด นี่เป็นเป้าหมายท้าทายในการตั้งแบงก์"
เขาเลือกแบบหลัง ! และขยายความว่า
การทำธนาคารมีสองแบบ หนึ่ง-ทำแบบง่าย คือเอากำไร ทำธนาคารเป็นธนาคาร สอง-ทำเพื่อสังคม
"เราเป็นธนาคารนอกกรอบไปผูกเป็นครอบครัวกับลูกค้า เป็นครอบครัวเดียวกัน ชาวบ้านมีปัญหาเราต้องช่วย พอเขามีเงินก็เอามาฝาก เราวางคอนเซปท์ให้การบริหาร ไม่มุ่งมั่นว่าเอาประโยชน์มาก ไม่ได้ทำขาดทุน แต่ธุรกิจธนาคารต้องช่วยนักธุรกิจลาวและประชาชนให้เจริญขึ้น
"เราทำธุรกิจมา 30 กว่าปี เอาประสบการณ์มาใช้ เราอยากได้เขามาเป็นญาติ ต้องเป็นผู้ให้ก่อน ไม่ใช่เอาประโยชน์จากเขาฝ่ายเดียว...ทำเพื่อกำไรง่าย เพราะเขามาง้อเราอยู่แล้ว เราต้องใส่เนกไท เราเป็นเจ้านาย เขาต้องทำตามเรา สิ่งที่เราทำคือใส่เสื้อยืดโปโล คลานเข้าหาลูกค้า คร้าบผมๆ (พูดเสียงนุ่มๆ ทอดเสียงยาว)...ลูกค้าเป็นพระเจ้า เป็นเจ้านายเรา หากเขาไม่กู้ เราเอาเงินที่ไหนมาจ่ายเป็นเงินเดือนให้ลูกน้อง กู้หนึ่งพันบาทก็เป็นพระเจ้าแล้ว เพราะเขาให้เงินเรา" (หมายถึงดอกเบี้ย)
ช่วงที่เปิดตัวธนาคารใหม่ๆ ได้ปล่อยกู้ให้กับสินเชื่อรายย่อยระดับรากหญ้า เพื่อสู้กับหนี้นอกระบบ โดยคิดดอกเบี้ยร้อยละ 1.25 ไม่ต้องมีคนค้ำประกัน แค่มีอาชีพ มีงานทำ ให้กู้วงเงินสูงสุด 7 หมื่นบาท
แคมเปญนี้ทำแบงก์ติดตลาด?
"ดังด้วย (หัวเราะ) พนักงานรัฐเป็นลูกค้าเราหมด แต่พวกปล่อยกู้นอกระบบไม่ชอบ คนรักเราก็เยอะ แต่คนไม่รักก็มี หนี้เสียไม่เยอะ ปวดหัวกับรายใหญ่มากกว่า เช่น รายย่อยมากู้ แล้วสามีตาย เขาขอประนอมหนี้ โทรศัพท์มาขอจ่ายแค่ต้นทุนได้ไหม เราก็โอเค้" (เน้นเสียง)
โดยพื้นฐานคนลาวซื่อสัตย์ หากไม่จ่ายหนี้เป็นเพราะไม่มีเงิน? นายแบงก์ตอบว่า
"คนลาวตอนนั้นไม่ขี้โกง เพราะประเทศยังไม่พัฒนา ตอนนี้ความคิดอาจจะเปลี่ยนไปบ้าง เพราะสภาพแวดล้อมเปลี่ยนไป ใครจะทำตามต้องระวังนิดหนึ่ง เราไม่หยุดโครงการนะ แต่จะโปรโมทอีกครั้ง เพราะเงินเหลือเยอะ ไม่มีทางออก"
เป็นนายแบงก์ลาวคนนี้ ที่เจรจากับธนาคารกรุงเทพ ทำให้ลูกค้าผู้ถือบัตรเอทีเอ็มธนาคารพงสะหวัน เบิกเงินบาทจากตู้เอทีเอ็มในประเทศไทยได้
"เราเป็นรายแรกที่สามารถเอาเงินกีบออกนอกประเทศ เมื่อก่อนไม่ได้ เราทำกับแบงก์กรุงเทพ (ถือบัตรเอทีเอ็มลาว มากดเงินบาทในไทย และแบงก์คำนวณจากเงินบาทเป็นเงินกีบ คนถือบัตรไม่ต้องเสียตังค์ แบงก์เสียค่าทำธุรกรรมให้แบงก์กรุงเทพ ครั้งละ 30 บาท) เราทำเพื่อสังคม อำนวยความสะดวกให้ลูกค้าลาว ลูกชายซึ่งเรียนจบจากเมืองนอก บอกบ้าหรือเปล่า ที่มาจ่ายค่าธรรมเนียมเอง เราให้แบงก์กรุงเทพทำฟรีๆ เขาก็ไม่ทำ คนมีความรู้เขาว่าเราบ้าหรือเปล่า เอ้า บ้าก็บ้า มันยากนะ"
เป็นเขาอีกเหมือนกันที่ทำให้การแลกเปลี่ยนเงินกีบในตลาดมืด เข้าไปอยู่ในระบบธนาคาร ซึ่งเจ้าตัวบอกว่า "ทำยาก เราทำในปี 2550 ใช้เวลา 6-7 เดือน หากให้เล่าต้องเล่าสามวัน"
นั่นหมายความว่าต้องข้ามไปก่อน เพราะคุณอ๊อดมีเวลาไม่ถึงชั่วโมง
ถามถึงประวัติว่าเรียนจบด้านไหนมา จึงมาทำธุรกิจแบงก์
เขาบอกว่าต้องเล่ายาวอีกเหมือนกัน...ตอบสั้นๆ เพียงว่า ไม่ได้เรียนอะไรเลย ทำงานตั้งแต่เล็กๆ เริ่มตั้งแต่ขายมะขามให้ฝั่งไทย ต่อมาทำธุรกิจโรงเลื่อย
นสพ.ฐานเศรษฐกิจ (ฉบับ 2 ตุลาคม 2555) เล่าถึงประวัตินายแบงก์ลาวคนนี้ว่า เริ่มต้นทำธุรกิจส่งเนื้อมะขามมาขายประเทศไทย เอาแตงโมจากสะหวันเขตไปขายที่เวียงจันทน์ พออายุใกล้ 30 ปี เริ่มทำธุรกิจโรงเลื่อยและส่งออกผลิตภัณฑ์ไม้ไปหลายประเทศ
ปี 2538 ตั้งบริษัท พงสะหวันเทเลคอมมูนิเคชั่นสแปร์พาร์ทซัพพลายฯ ที่เวียงจันทน์ เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า และสื่อสารโทรคมนาคมแบรนด์ดังๆ จากต่างประเทศ หลังจากนั้นไม่นานก็สนใจกิจการธนาคาร ทั้งที่ไม่มีความรู้มาก่อน แต่เป็นความฝันที่อยากให้สถาบันการเงินประเทศลาวมีความทันสมัยเหมือนประเทศอื่น ประกอบกับรัฐบาลลาวต้องการ
ให้มีการพัฒนาสถาบันการเงินในประเทศ เพื่อเป็นพื้นฐานให้มีการลงทุนมากขึ้น จึงเปิดโอกาสให้เอกชนตั้งธนาคารได้
อ๊อดตั้งธนาคารพงสะหวันขึ้นในปี 2550 ด้วยทุนจดทะเบียน 5 ล้านดอลลาร์ (ปัจจุบันเพิ่มเป็น 10 ล้านดอลลาร์) เขาย้ำว่าตอนนี้ทรัพย์สินเกินทุนมากแล้วเป็น 60-70 ล้านดอลลาร์
ปัจจุบันธนาคารมี 15 สาขา และตู้เอทีเอ็ม 70 กว่าตู้
แม้จะเปิดได้เพียง 6 ปี แต่ธนาคารแห่งนี้ก็ขึ้นแท่นครองส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับ 2 ของทั้งระบบ ด้วยยอดไม่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์ของทั้งระบบ มีเงินฝาก 260 กว่าล้านดอลลาร์ เป็นอันดับ 1 ของธนาคารเอกชน ในประเทศลาวมีธนาคารสามสิบสองแห่ง ธนาคารเอกชนซึ่งเป็นของคนลาวมีเพียงสองแห่ง
"เราปล่อยเงินกู้รายย่อยเป็นอันดับ 1 ของประเทศ มีบัญชีรายย่อย 2.8 แสนบัญชี ธนาคารโลกจัดเรตติ้งให้ ฐานสินเชื่อ 170 ล้านดอลลาร์ (ปล่อยกู้ห้าพันล้านบาท) มีเงินฝาก 270 ล้านดอลลาร์"
"คนอื่นบอกว่าโตเร็ว แต่ในความเห็นของเราโตช้ามาก ตามเป้าหมายคือเปิดสาขาทั่ว 17 จังหวัด 50 หน่วยบริการ มีตู้บริการ 400-500 ตู้บริการ แต่ยังไม่ถึง"
สำหรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก หากเป็นสกุลดอลลาร์/บาท คือ 6 เปอร์เซ็นต์ เงินกีบดอกเบี้ย 10 เปอร์เซ็นต์
ส่วนเงินกู้ อัตราดอกเบี้ย 9-12 เปอร์เซ็นต์ (บาท/ดอลลาร์) กีบ 12 เปอร์เซ็นต์
ถามถึงความคืบหน้าในการเปิดสาขาในประเทศไทย เขาตอบว่า ตอนนี้ธนาคารมีสำนักงานตัวแทนอยู่ที่เวิลด์เทรด และกำลังศึกษาเงื่อนไข พร้อมออกตัวว่า
"เราพยายามเปิดแบงก์ที่เมืองไทย แต่ตังค์ไม่พอ เราคนดีไม่ใช่คนชั่ว บอก (ลาว) เป็น "น้อง" จะเอาเงินมาจากไหน คุณบอกพันล้านจิ๊บจ๊อย ผมบอกตาย.. เราเอาคอนเซ็ปต์ที่ลาวมาลงทุนในไทย มีหลายส่วน ร่วมทุนกับต่างชาติมาตั้งก็ได้ แต่เราอยากให้เป็นโลโก้ของลาว ต้องเป็นทุนลาว 100 เปอร์เซ็นต์ ถ้าไปร่วมกับธนาคารใหญ่ๆ ต่างชาติ ก็เปิดธนาคารได้เลย เอาโควตาประเทศลาวมาเปิดได้ แต่เราไม่อยากทำอย่างนั้น
"เมืองไทยโดยเฉพาะคนอีสาน มีเงินฝากเยอะมากกว่าประเทศลาวหลายพันเท่า ผมรู้จักคนอีสานดี ทำธุรกิจด้วยตามตะเข็บชายแดน มีตังค์เยอะแต่ไม่ใช้แบงก์เหมือนคนลาว สมมุติเราตั้งแบงก์ในไทย เราจะเอาอีสานเป็นหลัก มาปล่อยกู้ให้เกษตรกร เปิดในกรุงเทพฯ ด้วย แต่เน้นอีสาน หนึ่ง-จับกลุ่มเงินฝากจากลูกค้าอีสาน สอง-ปล่อยกู้ธุรกิจชายแดน มีธุรกรรมการเงินมหาศาลที่สุด ต้องเอานักธุรกิจนอกระบบเข้าระบบให้ได้ ให้ผ่านสถาบันการเงิน นั่นเป็นแนวคิดเฉยๆ ทำได้เมื่อไรไม่รู้ หรือคนอื่นจะเอาแนวคิดไปทำก็ไม่เป็นไร ผมคิดว่าอีสานเป็นแหล่งทุนมหาศาลที่สุด เราเห็นช่องทางว่ามีประโยชน์"
นอกจากธุรกิจธนาคารแล้ว เขายังเข้าไปซื้อกิจการสายการบินในประเทศปี 2553 และเปลี่ยนชื่อเป็นสายการบินพงสะหวัน ปัจจุบันคือ "สายการบินลาวเซ็นทรัลแอร์ไลน์"
"ธุรกิจพงสะหวันเราทำเป็นแบบครอบครัว แอร์ไลน์เป็นธุรกิจของลูกสาว แบงก์เป็นของลูกชาย แบ่งส่วนให้เขาบริหารกันเอง เราเป็นคนก่อสร้างตั้งแต่ต้นและแบ่งให้ลูกแต่ละคนดูแล"
นอกจากสองธุรกิจข้างต้นแล้ว แบงก์พงสะหวัน ยังได้รับมอบหมายจากรัฐบาลลาว ให้ร่วมพัฒนาเขตเมืองใหม่สังทองและปล่อยสินเชื่อ
พื้นที่ดังกล่าวอยู่ห่างจากนครหลวงเวียงจันทน์ 50 กิโลเมตร
"รัฐบาลอยากให้สร้างเป็นเมืองน่าอยู่ เป็นเมืองใหม่อาเซียน ในนั้นครบวงจร มีท่องเที่ยว อุตสาหกรรม เราจะจัดพื้นที่ให้นักลงทุนจากไทยไปลงทุน อุตสาหกรรมเกษตรก็ได้ พื้นที่ 75,000 ตารางเมตร อยากให้เป็นบ้านหลังที่สองของโลก คนทั่วโลกไปซื้อบ้านที่นี่ได้เลย โมเดลคล้ายๆ เขาใหญ่ ที่เรา ทางญี่ปุ่นมีโครงการสร้างโรงพยาบาลอาเซียน เป็นสถานที่รักษา พักผ่อน ออกแบบเรียบร้อยแล้ว เจรจาได้ 70 เปอร์เซ็นต์
"โปรเจกท์นี้ประมาณห้าปี เพิ่งเริ่มโครงการไม่กี่เดือน (หัวเราะ) เราพาคนลาวที่จะทำโครงการสี่สิบกว่าคน มาดูงานที่ขอนแก่น มาดูเป็นความคิด เราตกลงกับเมือง เอาเนื้อที่ 150 เฮกตาร์มาทดลองเป็นศูนย์การลงทุนทุกอย่าง ปลูกองุ่นและอื่นๆ บริเวณนั้นเรียกว่าภูพนัง บรรยากาศดีเหมือนต่างประเทศ พอพระอาทิตย์ตกปุ๊บอากาศหนาวเลย ใกล้เคียงจังหวัดเลย อากาศดีมาก พื้นที่อยู่ตรงข้ามกับ อ.นิคม จ.หนองคาย"
นักธุรกิจใหญ่ของลาวรายนี้กล่าวถึงหลักคิดในการทำธุรกิจธนาคาร หรือธุรกิจอื่นๆ ว่า เขาทำเพื่อสังคม
"ไม่ใช่ว่าเรารวย เราไม่รู้ว่าชีวิตเราตายแล้วไปไหน ทำไงให้สังคมดีขึ้น ด้วยปัญญาประสบการณ์ทำงาน 30 ปี หากไม่ทำ พอตายก็เอาไปด้วยไม่ได้ ไม่ใช่ว่าเราทำเพื่ออะไร เราทำเพื่อสังคม ลูกๆ เรียนสูง มีความคิดของเขา บ่นเราด้วยทุกวัน บอกไม่รู้คิดทำไมให้ยาก มีเงินก็ให้เงินสดมา เขาเอาฝากแบงก์กินดอกเบี้ย ไปเที่ยว หรือตั้งศูนย์การค้าเก็บเงินดีกว่า แต่นี่เราทำแบงก์ ทำแอร์ไลน์ มันยุ่งยาก เด็กสมัยใหม่นะ (พูดด้วยน้ำเสียงแบบขำๆ) บางทีลูกถามว่า ทำทำไมไม่เอากำไร เราก็ไม่รู้จะตอบยังไง แนวคิดคนเก่ากับคนใหม่ไม่เหมือนกัน คือเราคิดนอกกรอบมันก็ไม่เข้าคอนเซ็ปต์เขา ตามหลักพ่อค้าทำธุรกิจเพื่อกำไร ไม่กำไร ทำทำไม ลูกก็บ่น ไม่รู้ ตอบไม่ได้"
มีนายแบงก์ในประเทศไทย ที่คิดแบบนี้บ้างไหม?
......................................
(นักธุรกิจแถวหน้าของลาว ทำแบงก์เพื่อช่วยสังคม : คอลัมน์คุยนอกกรอบ : โดย...สินีพร มฤคพิทักษ์ )