ไลฟ์สไตล์

ยกเครื่อง4

ยกเครื่อง4

22 ก.ย. 2556

ยกเครื่อง 4 : คอลัมน์มอเตอร์เวิลด์

               หลังจากที่ช่างใหญ่มือเปื้อนถอดรื้อพิจารณาหาการสึกหรอและสาเหตุทั้งก่อนล้างและหลังจากการล้างรวมทั้งใช้สเปรย์หารอยร้าว (Hair cracked) ตามจุดที่น่าจะเกิดขึ้นเช่นที่ เพลาข้อเหวี่ยง (Crankshaft) เสื้อสูบ (Cylinder block) เพลาราวลิ้น (Camshaft) บนฝาสูบโดยเฉพาะในร่องเกลียวหัวเทียน และถ้าเป็นเครื่องดีเซลก็ต้องเช็กที่ร่องเกลียวหัวฉีดร่องเกลียวเผาหัว เมื่อพอใจแล้วจึงส่งโรงกลึง ฝาสูบไม่บิดไม่เบี้ยวไม่โก่ง จึงไม่ต้องใส่ฝา (facing)

               สิ่งที่ต้องทำคือ ขัดหน้าฝาสูบ และ เปลี่ยนบ่าวาล์ว (Valve seat) พร้อมทั้งให้อัดปลอกวาล์วเก่าออกแล้วจะมาใส่เองเพราะไม่ไว้ใจว่าโรงกลึงจะฟรีซปลอกวาล์ว (Valve guide) ก่อนใส่ให้หรือไม่ เปลี่ยนบ่าวาล์วก็ต้องเปลี่ยนตัว วาล์วทั้งไอดีและไอเสีย

               ตัวเครื่องหรือเสื้อสูบให้โรงกลึงคว้านกระบอกสูบ (Re-boring) เป็น Oversize เพียงหนึ่งเบอร์ (สมัยก่อนกระบอกสูบสามารถคว้านได้ถึงสี่ครั้งหรือสี่ขนาด)

                เมื่อกระบอกสูบโตขึ้นก็จำเป็นต้องเปลี่ยนลูกสูบ แหวนลูกสูบ พร้อมๆ กับเปลี่ยนบุชสลักก้านสูบ เพลาข้อเหวี่ยงเนื่องจากทั้งชาพท์อกชาพท์ก้านแม้จะอยู่ในสภาพดี (กินหรือสึกสม่ำเสมอ) แต่ตัวชาพท์ถูกกินไปจนถึงเนื้อทองแดงแล้วขืนประหยัดเงินตอนนี้ได้ไม่คุ้มเสีย เพราะชาพท์ทั้งอกและก้าน (Main bearing & Connecting rod bearing) จึงต้องเจียรข้อให้เล็กลงพร้อมทั้งเปลี่ยนชาพท์ทั้งสองชุดให้เล็กลง (Under size)

                งานจ้างทำเฉพาะเครื่องยนต์ก็มีแค่นั้น เมื่อชิ้นส่วนที่ส่งไปโรงกลึงกลับมา เป็นขั้นตอนของการประกอบชิ้นส่วน (ทั้งเก่าและใหม่) กลับเข้าที

                ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอน พิสูจน์ฝีมือ ของช่างใหญ่ว่ามีความประณีตบรรจงแค่ไหน ช่างใหญ่จะเริ่มด้วยการ ล้างฝาสูบ อย่างประณีตอีกครั้ง ตรวจ(ใช้แรงดันลม)ทางเดินน้ำมันเครื่องและ การอุดตันของการหล่อลื่นของน้ำมันเครื่องทุกจุดรวมทั้งทางเดินของน้ำ เมื่อพอใจแล้วจะใส่ เพลาราวลิ้น ลงบนฝาสูบพร้อมกับขันประกับเพลาทุกตำแหน่งด้วยแรงบิดตามค่าที่กำหนด แล้วใช้มือเปล่าหมุนเพลาราวลิ้นดูว่าเพลาหมุนได้คล่องหรือสะดุดติดขัดตอนไหนบ้าง (ขั้นตอนนี้ในศูนย์บริการสมัยก่อนจะใช้แท่งเหล็กที่ (เป็นเครื่องมือพิเศษเฉพาะรุ่นชนิดหนึ่ง) ได้ความโตตามมาตรฐานสอดเข้าไป (หลังจากขันนอตประกับเพลาแล้ว) แทนการใส่เพลาราวลิ้น ถ้าเพลาเหล็กสอดเข้าไปได้ไม่ติดขัดก็หมายถึงว่าฝาสูบโดยเฉพาะในส่วนของประกับเพลาและฐานไม่บิดไม่เบี้ยว)

                 เมื่อกลไกสำคัญคือเพลาราวลิ้นและส่วนประกอบสมบูรณ์ ก็มาดูที่วาล์วและบ่าวาล์ว บ่าวาล์วใหม่ ตัววาล์วก็ใหม่ ก็ต้องพิสูจน์ว่าทั้งชุดเป็นรุ่นเดียวกันหรือไม่ก็โดยการ บดวาล์ว ตรวจสอบ เรื่อง การบดวาล์ว เป็นเรื่องอิดหนาระอาใจของผมตั้งแต่เริ่มเป็นช่างมาจนเลิกเป็นช่าง เพราะการบดวาล์ว (ไม่ว่าจะวาล์วบ่าวาล์วเก่าหรือใหม่) ช่างบ้านเราทั้งในศูนย์บริการมาตรฐาน(ช่างที่ผ่านการฝึกอบรมมาแล้ว) และช่างชำนาญงานตามอู่ทั่วไปจะบดวาล์วกันเป็นที่สนุกสนานเสียงดังไปทั้งอู่ เพราะพี่ท่านไม่ได้บดวาล์วแต่เป็นการกระแทกวาล์ว ทั้งครูไทยและครูฝรั่ง (สมัยครั้งกระโน้น) บอกว่า การกระแทกวาล์ว (ดึงขึ้นมาแล้วตบลงไปแล้วปั่นโดยใช้กากเพชรเป็นตัวทำหน้าวาล์วให้เรียบ)

                ผมแย้งไปว่าถ้าไม่ถอดปลอกวาล์วออกก่อนไม่น่าจะมีปัญหาอะไร ครูบอกว่าจริง ถ้าไม่ถอดปลอกวาล์วก่อนวาล์วจะไม่แกว่ง คือ หน้าวาล์วจะราบเรียบแต่ถ้ายูใช้ปลอกวาล์วเดิมยูคิดบ้างไหมว่ากากเพชรที่ยูใช้อยู่นั้นมันจะไม่ไหลไปตามก้านวาล์วแล้วไปกัดเอาปลอกวาล์วให้สึก ปลอกวาล์วก็จะหลวม เออจริงแฮะ ถ้างั้นผมถอดปลอกวาล์วแล้วบดก็ไม่น่ามีปัญหา (ถูกเบิ๊ดกะโหลกครั้งหนึ่ง) แล้วครูบอกว่า ถ้าถอดปลอกวาล์วออก วาล์วที่ยก ตบ ปั่น ดึง ก็จะแกว่งเพราะไม่มีปลอกวาล์วคอยประคองเป็นศูนย์ก้านวาล์วให้อยู่ในแนวดิ่งตลอดเวลา

               ดังนั้นวิธีบดวาล์วที่ถูกต้องคือ ใช้เพียงสองมือปั่น แค่นั้นแหละ (สมัยนั้นสว่านไฟฟ้าแบบใช้มือยังไม่มีใช้) ถ้าคุณเอาฝาสูบไปอู่ไหนเพื่อบดวาล์วและเจอกับช่างที่กำลัง ยกตบปั่น เสียงลั่นอู่ก็ลองๆ บอกหัวหน้าช่างดูว่า มันผิดวีธี(ถ้าเขาเชื่อคุณนะ)

               ผมว่าจะเขียนให้จบเรื่องฝาสูบตอนนี้เนื้อที่หมดก็ขออนุญาตต่อสัปดาห์หน้าแล้วกัน รับรองครับว่าที่อ่านมาทั้งหมดตั้งแต่ตอนแรกจนถึงตอนจบ (เมื่อไรไม่รู้) หาอ่านที่ไหนไม่ได้ อีกแล้วเพราะที่เขียนมาทั้งหมดผมเคยทำเองมากับมือทั้งนั้น (พังคามือก็หลายเครื่องอยู่)

.............................

(ยกเครื่อง 4 : คอลัมน์มอเตอร์เวิลด์)