ไลฟ์สไตล์

'จักสานใบลาน'ผลิตภัณฑ์5ดาว'บ้านทับลาน'

'จักสานใบลาน'ผลิตภัณฑ์5ดาว'บ้านทับลาน'

28 ก.ย. 2556

ทำมาหากิน : 'จักสาน' ใบลานจากภูมิปัญญา สู่ผลิตภัณฑ์ 5 ดาว 'บ้านทับลาน' : โดย...สุรัตน์ อัตตะ

 

                            "ภูมิปัญญาจักสาน ป่าลานแหล่งสุดท้าย หลากหลายความงาม ต้นน้ำบางปะกง"

                            คำขวัญหมู่บ้านทับลาน ต.บุพราหมณ์ อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี ที่บ่งบอกถึงสภาพพื้นที่และวิถีชีวิตของคนในชุมชน แม้อาชีพหลักของชาวบ้าน คือ การทำนา ทำไร่มันสำปะหลังและหาของป่ามาขาย แต่ยังมีอาชีพเสริมด้วยการทำจักสานจากใบลาน เนื่องจากพื้นที่ตำบลบุพราหมณ์เต็มไปด้วยต้นลาน ชาวบ้านจึงนำใบลานมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์แทนการตัดยอดลานตากแห้งขาย เหมือนอดีตที่ผ่านมา

                            "พื้นที่ในตำบลบุพราหมณ์เต็มไปด้วยป่าลานที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดในเอเชีย หรือของโลกก็ว่าได้ จักสานผลิตภัณฑ์จากใบลานฝีมือของชาวบ้านที่นี่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นได้รับรางวัลโอท็อประดับ 5 ดาว และยังมีการผสมผสานศิลปวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น จนกระทั่งมีการรำเซิ้งใบลาน เป็นอะไรที่น่าทึ่งมากๆ"

                            โกมล มั่นคง พัฒนาการจังหวัดปราจีนบุรี กล่าวถึงหมู่บ้านทับลานว่าเป็นหมู่บ้านเก่าแก่มากว่า 200 ปีแล้ว โดยชาวบ้านที่อาศัยอยู่ที่นี่ได้อพยพมาจากภาคอีสานเพื่อมาแสวงหาที่ในการทำมาหากิน เมื่อมาถึงบ้านทับลานก็มืดค่ำพอดีและพบว่าบริเวณนี้มีลำคลองธารน้ำใสสะอาดร่มรื่นไปด้วยป่าลานขึ้นอยู่เต็มไปหมด ก็เลยปักหลักทำมาหากินกันบริเวณนี้ตั้งแต่บัดนั้นมา ช่วงหลังก็มีชาวบ้านภาคกลางจากจ.นครนายก เข้าไปสมทบจึงกลายเป็นหมู่บ้านใหญ่ที่ค่อนข้างมีวัฒนธรรมทางภาคอีสานและภาคกลางผสมผสานเข้าด้วยกัน

                            "รัฐบาลสมัยนั้นจัดสรรที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยให้ชาวบ้านคนละ 14 ไร่ สร้างอ่างเก็บน้ำทับลาน สร้างระบบชลประทาน ชาวบ้านมีอาชีพหลักคือทำไร่ทำนา แล้วก็เอาใบลานมาสานงอบ สานหมวก เพื่อใส่บังร่มบังแดดเวลาออกไปทำมาหากิน ตรงนี้ก็เลยมีหัตถกรรมจากใบลานขึ้นมา"

                            พัฒนาการจังหวัดปราจีนบุรีเผยต่อว่า การที่จังหวัดคัดเลือกให้บ้านทับลานเป็นหมู่บ้านโอท็อปเพื่อการท่องเที่ยว เนื่องจากเห็นว่าไม่มีที่ไหนอีกแล้วที่จะเห็นเอกลักษณ์เท่ากับบ้านทับลาน เพราะอย่างน้อยมีป่าลานและชาวบ้านใช้ประโยชน์จากใบลานด้วยการต่อยอดจากภูมิปัญญามาเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ หลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นงอบ หมวก  กระเป๋า และของใช้หลากหลายอย่าง โดยเฉพาะกระเป๋าที่นี่มีชื่อเสียงมาก

                            "เรามองว่าถ้ามีคนต่างถิ่นเข้ามาท่องเที่ยว ค่าใช้จ่ายเขาก็ต้องมาใช้ในพื้นที่ พี่น้องประชาชนเราก็จะมีรายได้เพิ่มขึ้น และเขาได้มาดู มาเรียนรู้ มีต้นลานให้เห็นในสภาพพื้นที่จริง อย่างหน้าฝนแบบนี้นักท่องเที่ยวมาดูแล้วอยากปลูกลานเป็นที่ระลึก เราก็มีเม็ดลานให้ปลูก ซึ่งจากที่ผ่านมานักท่องเที่ยวโดยเฉพาะชาวต่างชาติให้ความสนใจมาก" โกมล กล่าวและว่า

                            นอกจากนี้ยังเตรียมดำเนินการที่เรียกว่า "ยัง โอท็อป" โดยให้เยาวชนมาเรียนรู้ในการจักสานอะไรต่างๆ อีกด้วย อย่างน้อยเด็กๆ เยาวชนได้เรียนรู้ได้ซึมซับเกี่ยวกับธรรมชาติ ได้ซึมซับกับวัฒนธรรม ประเพณี เด็กนักเรียนก็มีการรำเซิ้งใบลาน ที่พร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวได้อย่างสมเกียรติ จะเห็นว่าในช่วง 11 เดือนที่ผ่านมา มีการประมาณการกันว่ามีรายได้เข้าหมู่บ้านจากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ใบลานไม่ต่ำกว่า 2 ล้านบาท  

                            สุจริต ราษดีผิว ประธานกลุ่มผลิตภัณฑ์จักสานใบลานบ้านทับลาน ย้อนอดีตให้ฟังว่า ก่อนปี 2525 บริเวณนี้เป็นป่าลาน รัฐได้จัดสรรพื้นที่อพยพให้ชาวบ้านออกมาตั้งเป็นหมู่บ้าน จากนั้นก็มีการตั้งเป็นกลุ่มจักสานใบลานขึ้นมา เริ่มจากสานเป็นปลาตะเพียน สานเป็นงอบก่อน ต่อมาก็เป็นหมวก แล้วเริ่มปรับปรุงเป็นกระเป๋า ลายขัด ลายดอกพิกุลอะไรต่างๆ จนเป็นกระเป๋าผูกนิลวรรณ จนได้รับรางวัลผลิตภัณฑ์โอท็อประดับ 5 ดาวในทุกวันนี้

                            ส่วนขั้นตอนการผลิตนั้น เริ่มจากเลือกยอดใบลานที่ยังไม่บาน ตัดเอาแต่ยอดแล้วนำใบลานที่ตัดจากต้นมาฉีกเป็นแผ่นๆ นำไปตากแดดให้แห้ง เมื่อแห้งสนิทดีแล้ว นำมากรีดเป็นเส้น โดยใช้เครื่องเลียด ซึ่งจะมีใบมีด เพื่อกรีดใบลานเป็นเส้นตามขนาดที่ต้องการของชิ้นงาน สำหรับการนำใบลานสานเป็นผลิตภัณฑ์ เริ่มจากการขึ้นรูปแต่ละวันจะขึ้นรูปได้ 12-13 ใบมีรายได้เดือนละ 3-4 พันบาท

                            "ใบลานเป็นพืชหวงห้ามของป่าอุทยาน เราอยากจะใช้ใบลานน้อยๆ แต่ขายได้ราคาก็มาคิดทำเป็นกระเป๋าผูกที่สามารถขายในราคาแพงได้ เราเรียกว่า “กระเป๋าผูก” การสานจะไม่เหมือนกัน แทนที่จะสานเป็นลายขัด ก็ใช้วิธีการผูกเป็นตัวๆ ใบหนึ่งใช้เวลาประมาณ 3-4 วัน แต่ราคาสูงกว่าถึง 10 เท่า ขณะที่ค่าแรงกระเป๋าสานใบละ 25 บาท แต่ถ้าเป็นค่าแรงกระเป๋าผูกใบละ 600-700 บาท"

                            ประธานกลุ่มคนเดิมระบุอีกว่า สำหรับกระเป๋าผูกลายนิลวรรณ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับรางวัลโอท็อระดับ 5 ดาว 3 ปีซ้อนนั้น ถือเป็นต้นแบบลายผูกเชือก โดยดัดแปลงประยุกต์ลายให้มีความสวยงามแปลกตา โดยผลิตภัณฑ์ชนิดนี้เริ่มผลิตครั้งแรกเมื่อปี 2526 ทำเป็นหมวกสตรี มีทั้งสีขาว และย้อมสี  ต่อมาก็มีกระเป๋า มีทั้งแบบชั้นเดียว สองชั้น มีผ้าบุข้างใน มีซิป นอกจากนี้ก็มีกล่องหลากหลายรูปแบบตามแต่ลูกค้าสั่ง มีกล่องใส่ทิชชู ใส่สบู่ โคมไฟและหมวก

                            สำหรับสินค้าของกลุ่มจำหน่ายภายใต้แบรนด์ “บ้านใบลานทอง” ราคาจำหน่าย กระเป๋าสานลายละเอียด ราคา 1,200 บาท กระเป๋าผูกนิลวรรณ ราคา 1,900 บาท หากสนใจซื้อสินค้า สามารถมาที่ศูนย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์โอท็อปบ้านทับลาน ศูนย์ โอท็อป จ.ปราจีนบุรี สวนจตุจักร เจเจมอลล์ เราไปส่งสินค้าทุกวันเสาร์ หรือติดต่อที่สำนักงานพัฒนาการจังหวัดปราจีนบุรี โทร.0-3745-4013 ในวันและเวลาราชการ

 

 

------------------------

(ทำมาหากิน : 'จักสาน' ใบลานจากภูมิปัญญา สู่ผลิตภัณฑ์ 5 ดาว 'บ้านทับลาน' : โดย...สุรัตน์ อัตตะ)