ไลฟ์สไตล์

'เครื่องทอผ้ายกดอก'ไฮเทค!

16 ต.ค. 2556

ทำมาหากิน : เครื่องทอผ้ายกดอก 'ไฮเทค' ผลิตงานเร็ว-คุณภาพดั้งเดิม : โดย...ปัญญาพร สายทอง

 

                           "ผ้าลายยกดอก" เป็นงานหัตถกรรมและภูมิปัญญาที่มีมาแต่โบราณ แต่เนื่องจากการทอแต่ละผืนมีขั้นตอนกรรมวิธีซับซ้อน ส่งผลให้ผู้สืบทอดน้อยลง เหตุนี้ทำให้ นางศิริลักษณ์ วงศ์เกษม อาจารย์มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส.) ผลิต "เครื่องทอผ้ายกดอก" ที่ใช้อุปกรณ์ควบคุมการทำงานของตะกอทอผ้า ส่งให้ผลิตได้รวดเร็วขึ้นและผ้าที่ทอมีคุณภาพเท่าเทียมการทอแบบดั้งเดิม

                           "อ.ศิริลักษณ์" กล่าวว่า ผ้ายกดอกมีความโดดเด่นที่ลวดลายโบราณเน้นเรื่องราวของธรรมชาติและสัตว์ ดังที่ศึกษาคือลาย ขาเปีย หมี่นาค เต่า และต้นสน ของกลุ่มแม่บ้านเขวาใหญ่ จ.มหาสารคาม ทำให้พบว่ากระบวนการการทอลายยกดอกนั้นยุ่งยากเนื่องจากต้องใช้ตะกอทอหลายอันและใช้เวลาทอนาน มีผลต่อจำนวนผ้าลายไม่เพียงพอตามความต้องการของผู้บริโภค ทั้งภายในและภายนอกประเทศ ที่มีมูลค่าการส่งออกกว่า 200 ล้านบาทต่อปี

                           ดังนั้น เห็นว่าถ้าสามารถออกแบบเครื่องทอผ้าลายยกดอก โดยสร้างอุปกรณ์ควบคุมการทำงานของตะกอทอก็จะช่วยเหลือประชาชนได้ระดับหนึ่ง จึงเริ่มศึกษาและออกแบบเครื่องทอผ้านี้เมื่อ 3 ปีที่แล้ว และได้พัฒนาขึ้น 2 เครื่อง เป็นเครื่องทอที่ใช้กระบอกลมดึงตะกอแทนผู้ทอที่ต้องใช้เท้าเหยียบ รวมทั้งได้บรรจุลายผ้าลงในไมโครคอนโทรลเลอร์ อุปกรณ์ควบคุมขนาดเล็กที่คล้ายคลึงกับระบบคอมพิวเตอร์

                           โดยเครื่องไมโครคอนโทรลเลอร์ จะสั่งการให้ตะกอดึงกระบอกลมที่ติดหลอดไฟไว้เพื่อให้รู้ว่าถึงขั้นตอนไหน อีกทั้ง ไม่ต้องจดจำลายมากนัก เพียงแค่กดปุ่มแล้วสอดเส้นพุ่งก็จะได้ผ้าลายยกดอกขึ้นมา ซึ่งเครื่องนี้ยังทอผ้าพื้นธรรมดาได้ด้วย ปัจจุบันได้บรรจุลายผ้ายกดอกไปแล้ว 13 ลาย ซึ่งคุณภาพที่ออกมาเท่าเทียมกับการทอผ้าแบบดั้งเดิม

                           “ตอนนี้ได้นำเครื่องนี้ไปใช้กับ 2-3 ชุมชนแล้ว ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ยังมีใจรักทอผ้าที่เข้ามาร่วมกิจกรรมนี้อย่างมากมาย" อ.ศิริลักษณ์ แจง

                           พร้อมระบุถึงจุดเด่นของเครื่องทอผ้าไฮเทคนี้ ว่าเป็นเครื่องที่ไม่ได้เปลี่ยนวิธีการทอมากนัก อีกทั้ง การทอผ้ายังได้มาตรฐานตามที่มีการทอแบบมืออยู่ ทว่า กำลังการผลิตนั้นเร็วกว่าที่ทอด้วยมือหลายเท่า อาทิ ทอผ้าพันคอ 1 วันได้ 1 ผืน แต่ถ้าใช้เครื่องนี้จะใช้เวลาทอเพียง 2 ชั่วโมง ถ้าเป็นผ้าซิ่นหรือผ้าลายยกที่มีดอก หากทอด้วยมือจะใช้เวลาทอ 20 วัน/1 ผืน แต่เครื่องนี้จะสามารถทอได้เร็วมากขึ้นหลายเท่าตัวเช่นกันแต่ก็ขึ้นอยู่กับหน้ากว้างของผ้าและลายผ้าด้วย

                           "จะปรับปรุงให้อุปกรณ์ใช้งานได้ง่ายขึ้น เช่น สวิตช์ สายคล้องกับก้านสูบให้มีระบบความปลอดภัย รวมถึงโปรแกรมให้มีการเก็บข้อมูล จำขั้นตอนการทำงานได้กรณีเกิดไฟฟ้าขัดข้องระหว่างทอ บันทึกลายผ้าให้มากขึ้น ศึกษาลายผ้าว่าลายไหนกำลังจะสูญหาย ลายไหนที่ทอยาก ลายที่คนนิยม รวมทั้งปรับปรุงลักษณะภายนอก ก่อนกระจายสู่ชุมชนต่อไป"

                           งานวิจัยนี้ได้รับรางวัลงานวิจัยดีเด่นทางด้านความคิดสร้างสรรค์ เพราะได้ประยุกษ์เทคโนโลยีเข้ากับการทอผ้า ซึ่งชาวบ้านนำมาใช้แล้วเกิดผลอย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนค่าใช้จ่ายในการผลิตเครื่องนี้ตกประมาณ 1.8-2 หมื่นบาท/เครื่อง เนื่องจากเป็นเครื่องต้นแบบ แต่หากมีการพัฒนาและผลิตในจำนวนมาก ราคาต่อเครื่องจะถูกลงโดยตั้งเป้าไว้ไม่เกิน 1 หมื่นบาท/เครื่อง

                           ทว่า หากชุมชนใดสนใจ อ.ศิริลักษณ์ บอกติดต่อโดยตรงที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ต.ขามเรียง อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม

 

 

--------------------------------

(ทำมาหากิน : เครื่องทอผ้ายกดอก 'ไฮเทค' ผลิตงานเร็ว-คุณภาพดั้งเดิม : โดย...ปัญญาพร สายทอง)