ไลฟ์สไตล์

'นาฏศิลป์' ไทยเป็นมากกว่า รำ ร้อง เต้น

'นาฏศิลป์' ไทยเป็นมากกว่า รำ ร้อง เต้น

24 ต.ค. 2556

'นาฏศิลป์' ไทยเป็นมากกว่า รำ ร้อง เต้น : ชลธิชา ศรีอุบล ... รายงาน

 

                          "ความคิดจิตกอรปชอบศิลป์ธรรม นาฏกรรมนำอารยพาสุขสัย นาฏศิลป์คงสิ้นบนถิ่นไทย ผู้คิดไซร้ขาดซึ่งอารยธรรม" กลอนบทหนึ่งที่ถูกกลั่นกรองมาจากภายในใจของ นายมาโนช บุญทองเล็ก หัวหน้าภาควิชานาฏดุริยางคศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี หลังจากที่ได้ทราบข่าวว่า สำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ ร่างหลักสูตรใหม่มีเพียง 6 กลุ่มสาระการเรียนรู้ โดยมีการจัดวิชานาฏศิลป์เข้าอยู่ในกลุ่มสังคมและความเป็นมนุษย์เหมือนวิชาศิลปะ จนเป็นข่าวใหญ่ตามสื่อต่างๆ ว่าแต่นักศึกษาสาขาวิชานาฏศิลป์ไทย มทร.ธัญบุรี เขามีความคิดเห็นกับเหตุการณ์นี้ เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยอย่างไร

                          มาโนช บุญทองเล็ก หัวหน้าภาควิชานาฏดุริยางคศิลป์ มทร.ธัญบุรี เล่าว่า ในการร่างหลักสูตรใหม่ของ สพฐ. ทำเพื่ออะไร เพื่อให้เกิดการพัฒนา ซึ่งในระดับประถมศึกษาได้มีการระบุไว้ชัดเจนว่า เพื่อพัฒนาทักษะ 4 ด้านของนักเรียน ได้แก่ อารมณ์ สังคม สติ ปัญญา ถ้าวิชานาฏศิลป์ถูกยุบไป หรือนำไปรวมกับวิชาอื่นๆ มีผลกระทบอะไรออกมาบ้าง โดยจะมีการทดลองใช้ 6 กลุ่มสาระการเรียนรู้ใหม่ในปี 2558 และจะมีการบังคับใช้ทั่วประเทศปี 2561 ประเทศไทยจะเป็นอย่างไร

                          "ผมเป็นอีกหนึ่งคนที่มีความผูกพันทำสาขาวิชานาฏศิลป์ เรียนจากคุณครู จนกระทั่งมาเป็นคุณครูถ่ายทอดความรู้ให้นักศึกษา โดยนาฏศิลป์อาจจะโดนมองว่า แค่เรียน รำ เต้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว 'นาฏศิลป์เป็นรากเหง้าของวัฒนธรรมไทย' ฝากถึงผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ควรที่จะพิจารณาถึงพื้นฐาน ที่เป็นเหตุและผล ประโยชน์แก่เยาวชนและชาติ" มาโนช กล่าว

                          'เต้ย' นายไอลวิล กลิ่นสาโรจน์ นักศึกษาชั้นปีที่ 5 สาขาวิชานาฏศิลป์ไทย เล่าว่า เมื่อได้ทราบ ตนเองไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง ไม่ได้เกี่ยวข้องกับอาชีพที่ตนเองจะไปประกอบ แต่มองถึงว่านาฏศิลป์เป็นวัฒนธรรม มันคือรากเหง้า โดยเริ่มเข้าศึกษาที่วิทยาลัยนาฏศิลป์ตอนมัธยมปลาย สาขาวิชานี้ให้อะไรหลายๆ อย่างกับตนเอง สิ่งหนึ่งที่ได้คือ 'ขัดเกลาจิตใจ' สอนในเรื่องของมารยาท การใช้ชีวิต ทุกวันนี้สิ่งดีๆ ในสังคมไทยจะเริ่มเสื่อมลง วัฒนธรรมเก่าๆ ไม่เป็นที่รู้จัก ถ้านาฏศิลป์หายไปจากการเรียนการสอน รับรองว่า วัฒนธรรมไทยจะต้องหายไปอย่างแน่นอน

                          'ต้นทุน' นายอภิวัฒน์ บุตตะชา นักศึกษาชั้นปีที่ 5 สาขาวิชานาฏศิลป์ไทย เล่าว่า 11 ปี ที่ตนเองเรียนสายนาฏศิลป์ไทย ถูกสอนและปลูกฝังในความเป็นไทย บอกได้เลยว่า นาฏศิลป์ไทยเปลี่ยนแปลงตนเอง รู้จักควบคุมอารมณ์ตนเอง สอนในเรื่องของสมาธิ เพราะว่า ต้องมีสมาธิในการจำท่าและจังหวะของดนตรี ไม่เห็นด้วยกับที่จะลดกลุ่มสาระของวิชานาฏศิลป์ เพราะว่า 'นาฏศิลป์คือสมบัติและวัฒนธรรมของไทย' และที่สำคัญตนเองมาเรียนสาขาวิชานี้ ต้องการจะเป็นคุณครูออกไปถ่ายทอดความรู้ให้เยาวชนที่จะโตขึ้นมาเป็นพลเมืองของประเทศไทย

                          'แคร์' น.ส.ปวรกมล จ่ายแสง นักศึกษาชั้นปีที่ 5 สาขาวิชานาฏศิลป์ไทย เล่าว่า คนที่ไม่ได้เรียนหรือมีความผูกพันกับนาฏศิลป์ไทย อาจจะมองว่า เป็นสาขาที่สอน รำ ร้อง เต้น นาฏศิลป์ทำให้ตนเองเป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตน ซึ่งถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เข้ามาเรียนนาฏศิลป์ เสริมบุคลิกภาพ คุณครูจะสอนให้นั่งตัวตรง ถ้าวิชานาฏศิลป์จะกลายเป็นเพียงวิชาที่เลือกเรียน รู้สึกเสียใจมาก วัฒนธรรมตะวันตกจะเข้ามาในสังคมไทยมากขึ้น วัฒนธรรมไทยที่สวยงามจะถูกลบเลือนไป 'รำไทย' ความอ่อนช้อยของท่ารำ ที่ต่างชาติต่างชื่นชม

                          'ริน' น.ส.เพชรรัตน์ ปานเกิด นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชานาฏศิลป์ไทย เล่าว่า ไม่เห็นด้วยเพราะว่า จะส่งผลกับการประกอบอาชีพในอนาคตของตนเอง สมมุติว่า ไม่มีโรงเรียนเปิดสอน อาจจะเปิดโรงเรียนสอนนาฏศิลป์ไทยเองก็ได้ มุมมองส่วนตัวมองว่าถ้าความเป็นไทยของเราเอง เรายังไม่รักษา ทำให้มันลดลง มันน้อยลง เชื่อเถอะว่าสักวันมันจะหายไป นาฏศิลป์ไทยคือเอกลักษณ์ วัฒนธรรมที่คู่ควรแก่ชาติไทย บอกด้วยความเป็นไทย 'ภูมิใจทุกครั้งที่ได้แสดงความเป็นไทยบนเวที' ต่อหน้าทุกคน

                          ทุกเสียงสะท้อนที่ถ่ายทอดออกมา คือความผูกพันกับสาขาวิชานาฏศิลป์ไทย ซึ่งนักศึกษาทุกคนมีมุมมองที่แตกต่างกันออกไป นาฏศิลป์ไทย วัฒนธรรมไทยที่สืบทอดกันมาช้านาน ซึ่งบอกได้เลยว่า คือ 'รากเหง้าของความเป็นไทย' เรื่องราวในอนาคตจะเกิดขึ้นอย่างไร ผู้ที่เกี่ยวข้องจะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างไร ต้องคอยติดตามกันต่อไป

 

 

------------------------

('นาฏศิลป์' ไทยเป็นมากกว่า รำ ร้อง เต้น : ชลธิชา ศรีอุบล ...  รายงาน)