ไลฟ์สไตล์

หนังสือที่เธอถือมา : กลอนสี่

หนังสือที่เธอถือมา : กลอนสี่

27 ต.ค. 2556

หนังสือที่เธอถือมา : กลอนสี่ : โดย...ไพวรินทร์ ขาวงาม

 
                         หลายปีก่อน ไปร่วมกิจกรรมค่ายวรรณกรรมที่กาฬสินธุ์ มีครูสาวฝึกสอนคนหนึ่ง แต่งกลอนส่งมาให้อ่าน ทุกคนได้อ่านได้ฟังแล้วชอบ แต่ไม่ทันได้ถามว่าแต่งเอง หรือจำเขามา เพราะหาเจ้าตัวไม่เจอแล้ว
 
 
                         ‘ความรักต้องห้าม
 
                         ต้องห้ามความรัก
 
                         จิตใจประจักษ์
 
                         ประจักษ์จิตใจ
 
                         ยิ่งใกล้ยิ่งชิด
 
                         ยิ่งชิดยิ่งใกล้
 
                         ยิ่งรักยิ่งไกล
 
                         ยิ่งไกลยิ่งรัก’
 
 
                         กลอนวรรคละสี่คำ สั้นๆ แต่ได้คำ  ได้ความ  ได้อารมณ์  ทั้งเข้าใจง่าย  และจดจำง่าย  ถือเป็นกลอนรักที่ไพเราะ  สวยงาม  บาดใจ  อ่านแล้ว  อยากเรียกว่า กลอนสี่  ที่กร่อนมาจาก กลอนแปด นั่นเอง  
 
                        กลอนรักนี้  ยังแสดงให้เห็นถึงการเล่นคำ หรืออาจถือเป็นกลบทอย่างหนึ่ง  อยากเรียกว่า กลบทสัมผัสซ้ำ  ใช้คำไม่กี่คำ  ซ้ำไปซ้ำมา แต่ได้ความหมาย การใช้สัมผัสซ้ำแบบนี้  ถ้าเป็นในกลอนแปด  จะถือว่ามีความผิดรูปแบบในเรื่องสัมผัสซ้ำ  (ยกเว้นกลอนแปดนั้นจงใจจะเล่นคำเล่นกลบทสัมผัสซ้ำ)
 
                        กลอนสี่  ดูจะชัดเจนเรื่องจำนวนคำ  ขณะกลอนแปด  อาจมีการยืดคำย่อคำบ้างตามลีลาของผู้แต่ง  แต่กลอนสี่ถ้ายืดคำเป็นห้า  หรือย่อคำเป็นสาม  จะทำให้อ่านสะดุดทันที  
 
                        กลอนสี่  อ่านง่าย  อ่านเร็ว  ออกห้วนๆ  แข็งๆ  ไม่อิสระในการใช้คำที่ให้ภาพจินตนาการกว้างไกล  จึงไม่มีผู้นิยมแต่งกันนัก  แต่กลอนสี่ก็เป็นแบบบทร้อยกรองที่เหมาะสำหรับเด็ก  ดังจะเห็นว่าในหนังสือการ์ตูนภาพสำหรับเด็กนั้น  ถ้าเขียนเป็นร้อยแก้วก็ต้องใช้คำสั้นๆ ง่ายๆ  ถ้าเขียนเป็นร้อยกรองก็มักจะเป็นกลอนสี่  หรือ กาพย์ยานี
 
                         อย่างการ์ตูนเรื่อง ‘อีเล้งเค้งโค้ง’ ของ ชีวัน  วิสาสะ
 
 
                         ‘มีห่านตัวหนึ่ง
 
                         หน้าบึ้งหน้าบูด
 
                         ไม่เอ่ยปากพูด
 
                         หน้าบูดทั้งวัน’    
 
 
                         เขาใช้กลอนวรรคละสี่คำ  แต่พลิกแพลงท่วงทำนองการลงเสียง  ให้ลงเสียงเดียวกันทุกบท 
 
                         ‘แต่ห่านตัวนั้น
 
                         ส่งเสียงเป็นเพลง
 
                         อีเล้งเค้งโค้ง’
 
 
                         บทต่อไปก็ต่อเนื่องเรื่องราว  แล้วลงท้ายด้วยคำวา ‘อีเล้งเค้งโค้ง’ ไปจนจบเรื่อง
 
                        เวลาอ่านให้ลูกหลานฟัง  หรืออ่านให้เขาอ่านตาม  เขาก็สนุก  จำได้  แถมยังสามารถคิดพลิกแพลงแต่งเล่นเองได้  บางทีไม่เพียงอ่านออกเสียงตามธรรมดา  ยังสามารถเคาะจังหวะดนตรีอ่านออกเสียงเป็นเพลงด้วย  เป็นทำนองเพลงที่คิดขึ้นสดๆ ประสาเด็กๆ  
 
                        น่าสังเกต  พื้นฐานการใช้จำนวนคำจังหวะคำนั้น  ดูเหมือนสามารถกำหนดท่วงทำนองดนตรีได้คร่าวๆ ในตัว  คนแต่งเพลงถ้าใช้รูปแบบทางกลอนสี่  กาพย์ยานี  หรือกลอนแปด  ทิศทางทำนองก็จะออกไปในทางต่างกัน  เคยทดลองแต่งเพลง  ส่งให้เพื่อนนักดนตรีอ่านตัวหนังสือใส่ทำนอง  ปรากฏเขาดูจำนวนคำจังหวะคำแล้วขับร้องออกมา  ช่างบังเอิญว่าทำนองนั้นตรงกับทำนองที่คิดคร่าวๆ ไว้ในใจ    
 
                        กลอนสี่  หรือกลุ่มคำสี่คำ  ถือว่ากระชับคุ้นชินในการพูดการเขียนของคนไทย  นักแต่งเพลงนิยมตั้งชื่อเพลงอย่าง ‘หนึ่งมิตรชิดใกล้’  ‘กลิ่นโคลนสาบควาย’  ‘ชั่วฟ้าดินสลาย’  ‘มนต์รักลุกทุ่ง’  ‘ไอดินกลิ่นสาว’  หรือแม้คำติดปากเราเอง  ก็มักเป็นกลุ่มคำสี่คำ  ‘พ่อแม่พี่น้อง’  ‘ปู่ย่าตายาย’  ‘ลุงป้าน้าอา’  ‘ครูบาอาจารย์’  ‘ทำมาหากิน’  ‘รู้สึกนึกคิด’  ‘กินข้าวกินปลา’  ‘อาบน้ำอาบท่า’  ฯลฯ
 
                        วันนี้พูดเหมือนครูภาษาไทยกำลังสอนเด็กประถมฯ เลยครับ!
 
 
 
----------------------------------------------
 
 
 
(หนังสือที่เธอถือมา : กลอนสี่ : โดย...ไพวรินทร์ ขาวงาม)