'อินเทอร์เน็ต'เปลี่ยนโลก
'อินเทอร์เน็ต'เปลี่ยนโลก ผ่านเวที'ไอทียู เทเลคอม เวิลด์' : โดย...บัซซี่บล็อก
ปิดฉากไปแล้วเมื่อวันศุกร์ที่เพิ่งผ่านมา กับงาน "ไอทียู เทเลคอม เวิลด์ 2013" ที่ปีนี้สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ไอทียู) เลือกกรุงเทพมหานคร เป็นสถานที่จัดงานประชุมประจำปี ภายใต้แนวคิด "Embracing Changes in a Digital World" หรือ "เตรียมพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงในโลกดิจิตอล" เสมือนเป็นการตอกย้ำให้ทุกคนตระหนักยิ่งขึ้นว่า ทุกวันนี้เทคโนโลยีดิจิตอลได้เข้ามามีบทบาทต่อทุกวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนบนโลกเพิ่มขึ้นอย่างไม่มีสะดุด
ต้องยอมรับว่า หนึ่งในปัจจัยขับเคลื่อนเทคโนโลยี "ดิจิตอล" เข้ามาหลอมรวมกับวิถีชีวิตบนโลกจริงได้อย่างแนบเนียนและรวดเร็ว ก็คือ วิวัฒนาการการเชื่อมต่อโลกสื่อสารผ่านอินเทอร์เน็ต ที่ค่อยๆ ขยายวงจากการเชื่อมต่อผ่านอินเทอร์เน็ตแบบมีสายและเครื่องคอมพิวเตอร์ มาสู่การเชื่อมต่อแบบไร้สาย ผ่านเครือข่ายไวไฟและเทคโนโลยีสื่อสารไร้สายของโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟน ประกอบกับอุปกรณ์ใหม่ๆ ที่พัฒนาออกมาให้เชื่อมต่อเครือข่ายอินเทอร์เน็ตได้หลากหลายยิ่งขึ้น ทั้งแท็บเล็ต, อุปกรณ์เซ็นเซอร์, ชิพอาร์เอฟไอดี รวมไปถึงเครื่องแต่งกาย อย่างเช่น นาฬิกา, รองเท้า, เสื้อผ้า, สายรัดข้อมือ เป็นต้น
ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่หลากหลายหัวข้อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ที่จัดขึ้นตลอด 4 วันเต็มของงาน จึงเกี่ยวข้องกับความแรงของกระแสที่กำลังมาแรงของความล้ำหน้าด้านเทคโนโลยีอย่าง "อินเทอร์เน็ตทุกสิ่งอย่าง (Internet of Everything)" ซึ่งบริษัทไอทีระดับโลกต่างขานรับว่า "แรงกว่าเดิมแน่นอน" โดยผู้บริหารจากอินเทล ผู้ผลิตชิพรายใหญ่อันดับต้นๆ ของโลก ยอมรับถึงความแรงของกระแสข้างต้น จากปริมาณข้อมูลมหาศาล ซึ่งจะกลายเป็นสิ่งที่มีมูลค่าต่อการพัฒนามาใช้ประโยชน์ในเชิงธุรกิจ และผลักดันไปสู่การเปลี่ยนแปลงรูปแบบใหม่ๆ ของภาคธุรกิจ
คำนิยามของ Internet of Everything ก็คือ การเชื่อมโยงผู้คน กระบวนการ ข้อมูล และสิ่งต่างๆ เข้าด้วยกันอย่างชาญฉลาด และการเชื่อมโยงนี้จะนำมาซึ่งสิ่งอัศจรรย์พร้อมด้วยประสบการณ์ใหม่อันหลากหลายที่ตื่นตาตื่นใจ ด้วยผู้คนใหม่ๆ กระบวนการใหม่ๆ รวมทั้งข้อมูลและสิ่งใหม่ๆ มากมายมีการเชื่อมโยงและสื่อสารกัน
มีตัวเลขคาดการณ์ว่า ภายในปี 2568 จะมีวัตถุสิ่งของที่มีความสามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในระดับไม่ต่ำกว่า 30,000-50,000 ล้านชิ้น หรืออาจสูงถึง 200,000 ล้านชิ้น เลยทีเดียว ซึ่งประมาณการนี้สอดคล้องกับดัชนีเครือข่ายของซิสโก้ (Cisco's Visual Networking Index) ที่ระบุว่า ทุกวันนี้ มากกว่า 99% ของสิ่งที่อยู่บนโลกเรายังไม่มีการเชื่อมต่อกัน แต่คาดการ์ณว่า ในปี 2563 จะมีอุปกรณ์ไม่น้อยกว่า 56,000 ล้านชิ้น ที่เชื่อมต่อกับระบบอินเทอร์เน็ต
ขณะที่ประธานของสมาคมอุตสาหกรรมบรอดแบนด์ไร้สาย "ยูเอ็มทีเอส ฟอรั่ม" ก็ตอกย้ำแนวโน้มการแพร่กระจายการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตผ่านวัตถุต่างๆ ว่า มีแรงขับเคลื่อนความเร็วมาจากความก้าวหน้าและความครอบคลุมของเครือข่ายสื่อสารไร้สายนั่นเอง
อีกหนึ่งเสียง ที่หนุนเสริมความแรงของบทบาทเทคโนโลยีไร้สาย ต่อการขับเคลื่อนการกระจายตัวของการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตก็คือ นายจอน เฟรดเดอริค บัคซาส ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท เทเลนอร์ จากนอร์เวย์ ผู้ถือหุ้นรายสำคัญใน บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค)
นายใหญ่ของเทเลนอร์ ให้สัมภาษณ์สดซีเอ็นเอ็ม บนเวทีงานนี้ ถึงการขับเคลื่อนวิสัยทัศน์ "ดิจิตอล ฟอร์ ออล" หรือดิจิตอลสำหรับทุกคน ซึ่งเขามองว่า ภาคอุตสาหกรรมโทรศัพท์เคลื่อนที่จะเข้าไปมีบทบาทสำคัญในการนำเทคโนโลยีสื่อสารเคลื่อนที่และการเชื่อมต่อกับข้อมูลให้เข้าถึงทุกคน
เขาพูดถึงความเปลี่ยนแปลงนับจากคนเริ่มใช้อีเมลผ่านคอมพิวเตอร์กันครั้งแรกเมื่อราว 2 ทศวรรษ ที่ผ่านมา ว่า ปัจจุบันการต่ออินเทอร์เน็ตขยับมาทำผ่านโทรศัพท์มือถือ คิดเป็นสัดส่วนไม่ต่ำกว่า 50% ของจำนวนซิมโทรศัพท์รวมประมาณ 7,000 ล้านเลขหมายทั่วโลก
พร้อมยกตัวอย่างความเปลี่ยนแปลงที่ลงมาสู่วิถีขชีวิตผู้คนว่า เทเลนอร์ เข้าไปลงทุนในบังกลาเทศ ครั้งแรกเมื่อ 15 ปีที่แล้ว จากวันที่ยอดการใช้งานมือถือเป็นศูนย์ ปัจจุบันราว 60% ของชาวบังกลาเทศมีมือถือใช้แล้ว และคนจำนวนมากที่ไม่เคยมีโอกาสแม้แต่จะมีบัญชีฝากเงินในธนาคาร ก็สามารถใช้มือถือ เป็นสื่อในการทำธุรกรรมการเงินได้อย่างสะดวกสบาย
แน่นอนว่า เทเลนอร์ ไม่ลืมที่จะกล่าวยกตัวอย่างถึง พม่า ประเทศในเอเชียแห่งล่าสุดที่บริษัทเล็งขยายการลงทุนเข้าไป และอยู่ระหว่างรอผลอนุมัติการประมูลใบอนุญาต ซึ่งคาดว่าน่าจะได้รับทราบผลเชิงบวกภายในปบลายปีนี้ หรือต้นปีหน้า พร้อมย้ำว่า พม่า จะกลายเป็นตลาดอ้างอิงที่เด่นชัด ถึงการพัฒนาแบบก้าวกระโดดจากระบบสื่อสารพื้นฐานดั้งเดิม ไปสู่โลกแห่งการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต เพราะจะเป็นการลงทุนพัฒนาตลาดควบคู่กันไป ทั้งบริการเสียง, บริการข้อมูลแบบดั้งเดิมอย่าง เอสเอ็มเอส, บริการอินเทอร์เน็ต ผ่านโครงข่าย 3จี
.......................
('อินเทอร์เน็ต'เปลี่ยนโลก ผ่านเวที'ไอทียู เทเลคอม เวิลด์' : โดย...บัซซี่บล็อก)