
ปฏิรูปประเทศจากนามธรรมสู่รูปธรรมเพื่อมวลมหาประชาชนได้อยู่สบ
ปฏิรูปประเทศจากนามธรรมสู่รูปธรรมเพื่อมวลมหาประชาชนได้อยู่สบาย : คอลัมน์ อยู่สบาย โดย... ผศ.เอกพงษ์ ตรีตรง
การปกครองในโลกนี้มีหลายระบบ อยู่ที่ว่าเราจะเลือกระบบใดให้เหมาะกับประเทศ, สังคม,ชุมชนนั้นๆ มากที่สุด โดยมีกระดูกสันหลังแห่งความดีเป็นศูนย์กลางความชอบธรรมแห่งสังคมนั้นจะเกิดขึ้นอย่างยั่งยืนถาวร การปกครองไม่ใช่แค่ทฤษฎีแต่ต้องนำการประยุกต์ทฤษฎีอย่างเหมาะสมกลมกล่อมเป็นศิลปะแห่งการประยุกต์โดยมีรากฐานแห่งความดี
จุดเริ่มต้นมีปลายทางก็ส่งผลดี ฉะนั้นอยู่ที่ทัศนคติโดยเริ่มแรกจากความเชื่อที่ถูกต้องชอบธรรม จากนั้นแปรรูปสู่ทัศนคติที่ถูกต้องเข้าสู่การประยุกต์เป็นตัวบทกฎหมายโดยออกแบบให้เหมาะสมกับพฤติกรรมของประชาชนในทางบวก และไม่ใช่พวกมากลากไปเพราะความดีแม้เป็นคนส่วนน้อยก็ต้องมีอิทธิพลเหนือคนส่วนใหญ่ โดยระบบประชาธิปไตยที่เหมาะสมไม่จำเป็นต้องลอกเลียนจากต่างชาติที่มีประชาธิปไตยอยู่แล้วเท่านั้น ควรออกแบบให้มีอัตลักษณ์แห่งความเป็นไทย มีองค์ประกอบครบทุกด้านทุกมิติอย่างสมดุล
ทุกสรรพสิ่งในโลกประกอบด้วย 2 ส่วน คือ สิ่งที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น และสิ่งที่มองด้วยตาเปล่า และสิ่งที่มองไม่เห็นแต่สัมผัสได้แต่มีพลังก่อให้เกิดสิ่งต่างๆ
1. นามธรรม ความคิด ทัศนคติ จิตใจ จิตวิญญาณ ความรู้ ปัญญา ความรู้สึกผิดชอบชั่วดี ความเชื่อ สิ่งเหล่านี้เป็นเสมือนซอฟแวร์ในการดำรงชีวิต ก่อเกิดพลังแห่งการสร้างสรรค์ชาติและเป็นเสมือนจุดเริ่มต้นสำคัญของทุกระบบอันนำมาซึ่งระบบระเบียบ ความงดงาม ดุลยภาพและส่งผลต่อรูปธรรมความจริงต่อไป สิ่งเหล่านี้ตามองไม่เห็นครับแต่สัมผัสได้ด้วยจิตใจ,จิตวิญญาณ
2. รูปธรรม บรรยากาศ สภาพแวดล้อม วัฒนธรรม ประเพณี ศิลปะ สถาปัตยกรรม การออกแบบ บ้านเรือน โครงการต่างๆ ผลงานทางวิทยาศาสตร์ที่สำเร็จ รูปแบบ รูปทรง ทั้ง 2 มิติ และ 3 มิติ สัมผัสได้ทั้ง หู ตา จมูก ปาก และผิวสัมผัส โดยจะต้องผ่านการกรองและเริ่มต้นจากข้อ 1 ก่อน ถึงจะเกิดออกมาเป็นความจริงได้นั่นเอง
โดยลักษณะของส่วนที่ 1 จะต้องมีจินตนาการมีทัศนคติความเชื่อที่ดี โดยชุมชนจะไปในทิศทางใด
จุดเริ่มต้นตรงนี้จะเป็นเสมือนภาคข้อมูลการตั้งโปรแกรมให้ไปทางใดจะถูกจะผิดจะเบี้ยวจะเป๋ก็อยู่ที่ส่วนที่ 1 ฉะนั้นการออกแบบที่ดีจะต้องเกิดขึ้นจากจุดเริ่มต้นที่ดีงามมีระบบการศึกษาที่มีคุณภาพมีพลังภายในที่แข็งแกร่งมีคุณธรรมจุดปลายทางก็ดีเช่นกัน เสมือนต้นไม้ที่ต้องอาศัยเมล็ดพันธ์ที่ดี น้ำ ปุ๋ย ดิน ฟ้า อากาศที่ดีเหมาะสมก็จะได้ต้นไม้ที่มีผลงดงามน่ารับประทานนั่นเอง จนส่งผลให้ส่วนที่ 2 คือ รูปธรรม กายภาพที่ดี ตรงนี้ต้องอาศัยวิทยาศาสตร์การแปรรูปให้เกิดขึ้นให้จริง ใช้ความสามารถ ความอดทน อุตสาหะ คนออกแรงใช้งบประมาณให้มีศักยภาพและคุ้มค่า ผ่านระบบการจัดการอย่างมีคุณภาพ การใช้ทรัพยากรอย่างมีปัญญาส่งผลต่อความคุ้มค่าเหมาะสมกับทรัพยากรนั้นๆ กับสถานที่สภาพแวดล้อมนั้นๆ กับผลงานรูปธรรมทั้งมวล
ฉะนั้นการออกแบบที่สามารถสมดุลได้ทั้ง 2 ส่วน ทั้งนามธรรม และรูปธรรม จะสำเร็จได้อย่างยั่งยืนโดยทั้ง 2 ส่วนต้องคล้องจองกันโดยคำนึงถึงอัตลักษณ์แห่งองค์กร ชุมชน สังคม ประเทศ และอยู่ร่วมกับโลกอย่างสมดุลย์
จากการวิเคราะห์กระบวนการเบื้องต้นทั้ง 2 ส่วน ผสมผสานศาสตร์และศิลป์อย่างกลมกล่อมแล้วนั้นก็จะออกมาในรูปของกฎหมาย ทิศทาง ยุทธศาสตร์คล้องจองไปจนถึงสภาพแวดล้อม บ้านเรือน สิ่งต่างๆรอบตัวอย่างเหมาะสมกับภูมิศาสตร์การออกแบบจึงปรากฏออกมาอย่างงดงามมีสุนทรียภาพ
วันนี้สิ่งที่เราเห็นและสามารถสะท้อนออกมาในหลายๆ เรื่องที่ “การออกแบบล้มเหลว” โดยดูได้จากหลักฐานรูปธรรมที่ขาดความงดงามมีความเสื่อม ทรุดโทรม เช่นถนนหนทางหลายสายที่เป็นหลุมเป็นบ่อ สายไฟฟ้าสายโทรศัพท์ที่รุงรัง อาคารบ้านเมืองที่ทรุดโทรม ความไม่มีระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง ปัญหาขยะ มลภาวะ ความถดถอยในความงามแห่งเส้นขอบฟ้าเมือง ระบบการจราจรนี้ล้มเหลว ระบบการจัดการน้ำที่ผิดพลาดการออกกฎหมายที่ขาดความชอบธรรม
ระบบการเมืองที่เวียนว่ายตายเกิดกับความรุนแรงการขาดแรงงานที่มีคุณภาพทักษะฝีมือลดลงเป็นต้น ทั้งหมดเหล่านี้เกิดจากทัศนคติจุดเริ่มต้นของนามธรรมที่ไม่ดี เช่น ความเห็นแก่ตัว การเอาเปรียบขาดการมีวิจารณญาณไตร่ตรอง ขาดปัญญาในการวิเคราะห์ หลงงมงายกับสิ่งชั่วร้ายเห็นผิดเป็นชอบ ขาดการศึกษาที่มีคุณภาพ บ่มเพาะความเชื่อผิดๆ เป็นต้น
ฉะนั้นการออกแบบที่มีคุณภาพจะต้องเกิดขึ้นจากนามธรรมที่มีคุณภาพจึงจะส่งผลทางรูปธรรมกายภาพที่ดี “การรู้จุดหมายปลายทางที่ดี มีวิสัยทัศน์ ผลปลายทางก็ย่อมดีไปด้วย”
การปฏิรูปประเทศด้วยการออกแบบประเทศอย่างมีทิศทางเหมาะสมงดงามจะต้องไปด้วยกันทั้ง 2 ส่วน ดังนี้
1. มีความเชื่อว่าประเทศไทยจะเป็นอารยะได้
2. มีแรงจูงใจเพื่อชาติก่อนเพื่อตัวเอง
3. มีทัศนคติที่ดีต่อประเทศและสังคม
4. มีจิตสาธารณะคิดถึงประชาชนก่อนคิดถึงตนเอง
5.มีความรู้ ปัญญา สร้างภูมิคุ้มกันของประชากร
6. มีความมุ่งมั่น มีเป้าหมาย มีความหวังใจเพื่อสู่ความสำเร็จ
7. มีคุณธรรม กตัญญู รู้คุณแผ่นดิน รู้ผิดชอบชั่วดี
จากนั้นถ่ายทอดเข้าสู่รูปธรรมทางกายภาพปรากฏออกมาเป็นผลงานดังนี้
1. มีกฎระเบียบที่ดีเหมาะสม สมดุล
2. มีพลังประชาชนร่วมสร้างประเทศ
3. มีสภาพแวดล้อมที่น่าอยู่ งดงาม สะอาด มีระเบียบเรียบร้อย
4. มีแรงงานคุณภาพทั้งฝีมือและความคิด
5. มีบ้านเรือนที่ส่งผลให้คุณภาพชีวิตที่ดี
6. มีความขยันขันแข็งของประชากรส่งผลต่อเศรษฐกิจดี
7. ประเทศมีภูมิคุ้มกันทางความคิดมีสิ่งดีๆ มีภูมิคุ้มกันทางร่างกายที่ปลอดภัยจากโรคร้าย และสภาพแวดล้อมทั่วประเทศปลอดภัยจากภัยต่างๆที่อาจจะเกิดขึ้นลดความเสี่ยงจากการเกิดภัยพิบัติต่างๆ ประชาชนอุ่นใจอยู่สบาย
สิ่งเหล่านี้เป็นขั้นตอนของนักออกแบบที่สามารถประยุกต์ได้สู่การพัฒนาประเทศสั้นๆ แต่ได้ใจความเพื่อมวลมหาประชาชนของไทยจะได้อยู่สบายทั้งกายและใจครับ
.......................................
(หมายเหตุ ปฏิรูปประเทศจากนามธรรมสู่รูปธรรมเพื่อมวลมหาประชาชนได้อยู่สบาย : คอลัมน์ อยู่สบาย โดย... ผศ.เอกพงษ์ ตรีตรง)