ป้อมมาซาดา
ป้อมมาซาดา : คอลัมน์ท่องต่างแดน : เรื่องโดย...นายเกาไม่ถูกที่คัน/ภาพโดย...คมฐิพัฒน์ งามสงวน
มาซาดา ตั้งอยู่กลางทะเลทรายยูเดีย (Judean Dessert) ใช้เวลาสร้างถึง 7 ปี (ก่อน ค.ศ. 31-37) เพื่อเป็นพระราชวังฤดูหนาว ของกษัตริย์เฮโรด กษัตริย์แห่งยูเดีย ผู้สืบเชื้อสายมาจากคนเอโดม ปัจจุบันป้อมแห่งนี้เป็นอุทยานแห่งชาติอิสราเอล และได้รับการขึ้นเป็นมรดกโลกเมื่อปี ค.ศ. 2001
ป้อมบนเทือกเขาแห่งนี้แหละ ที่เป็นสถานที่บ่มและฝึกจิตวิญญาณของชาวอิสราเอลทุกคน ไม่ว่าหญิงหรือชาย ให้รู้ถึงคำว่า “แพ้” และคำว่า “ชนะ” และตั้งปฏิญาณว่า “นับจากนี้ไป จะไม่มีคำว่า พ่ายแพ้”
ลงจากเครื่องบิน ที่ สนามบินเบ็นกูเรีย อิสราเอล เคยอ่านและเคยฟังเรื่องเล่าจากผู้ใหญ่ เมื่อนานมา แล้ววันหนึ่งในปีนี้ (พ.ศ.2556) ก็ได้มีโอกาสเดินทางมาเส้นทางสายนี้
จากสนามบินไป ป้อมมาซาดา ระยะทางราว 144 กิโลเมตร ตามเส้นทางที่มีต้นไม้เขียวชอุ่ม บนทางด่วนที่ทันสมัย หมายเลข 1 ผ่านทางด้านตอนเหนือของนครเยรูซาเลม แล้วผ่านเส้นทางช่องเขาที่ตัดเป็นถนนซึ่งมีป้ายบอกระดับความสูงต่ำ
ผ่านชุมชนเบนดูอิน ซึ่งเป็นชนเผ่าทะเลทราย ได้รับการยอมรับว่าเป็นชนเผ่าโบราณที่มีมาตั้งแต่อดีตกาล เข้าสู่เส้นทางหมายเลข 90 เลี้ยวขวา ผ่านคิบบุตส์ (กลุ่มสหกรณ์) เลียบชายฝั่งทะเลตาย หรือเดดซี มองเห็นภูเขาสูงอยู่ไกลๆ อันเป็นสถานที่ตั้งของป้อมมาซาดา ที่เกรียงไกร ยอมรับว่า ตื่นเต้น อดไม่ได้ ที่จะหวนคิดถึงเรื่องราวของชนชาติ บรรพบุรุษของชาวยิว
เรื่องราวของความศรัทธา
ปีคริสต์ศักราช 73 เป็นยุคที่โรมันเรืองอำนาจ กองทัพอันเกรียงไกรของโรมันสามารถครอบครองอาณาจักรชนชาติอื่นเป็นพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาล ชาวยิวก็เป็นอีกชนชาติหนึ่งที่ต้องสยบภายใต้คมดาบของจักรพรรดิโรมัน
แต่เมื่อชาวยิวถูกบีบคั้นจากทหารโรมันจนสุดทน ชาวยิวเริ่มลุกฮือขึ้นก่อการกบฏ เข่นฆ่าทหารโรมันล้มตายเหลือคณา กองทัพโรมันจึงเคลื่อนพลมาปราบปรามฝ่ายกบฏ นักรบยิวปักหลักสู้อย่างถวายชีวิต แต่ไม่สามารถสู้ทหารโรมันได้ กระทั่งเหลือชาวยิวกลุ่มหนึ่งประมาณพันกว่าคนยึดป้อมโบราณบนยอดเขามาซาดาเป็นที่มั่นสุดท้าย
ป้อมปราการบนยอดเขามาซาดาเป็นป้อมที่มั่นคงและแข็งแกร่งที่สุด ตั้งอยู่บนยอดเขา มีเนื้อที่ถึง 23 เอเคอร์ เป็นกลุ่มอาคาร พระราชวังและที่อยู่ของข้าราชบริพารเจาะเข้าไปในหน้าผา มีพื้นที่เก็บกักน้ำได้ถึงเก้าล้านแกลลอน
กองทหารโรมันกรมที่ 10 ภายใต้การนำของ แม่ทัพฟลาวีอุส เข้าล้อมเขามาซาดาไว้ และส่งทหารขึ้นไปโจมตีป้องนี้หลายครั้ง แต่ถูกนักรบยิวที่ได้เปรียบด้านชัยภูมิโต้กลับทุกครั้ง แม่ทัพฟลาวีอุสจึงบัญชาสร้างกำแพงล้อมรอบภูเขาเพื่อไม่ให้ยิวที่อยู่บนป้อมหลบหนีออกจากวงล้อมได้ จุดประสงค์ของแม่ทัพโรมันต้องการปลิดชีพยิวทุกคนบนป้อมไม่ให้เหลือ ไม่ว่าจะเป็นนักรบ ผู้หญิง และเด็ก
หลังจากสร้างกำแพงล้อมปิดทางหนีเสร็จแล้ว ฟลาวีอุสได้สำรวจช่องเขาและส่งทหารไปโจมตีป้อมที่มั่นให้แหลกยับให้ได้จนมองเห็นผาสูงด้านทิศตะวันตกที่ยื่นออกมา จึงระดมกำลังทหารสร้างหอสูงถึง 90 ฟุต ตรงยอดหอคอยให้สร้างสะพานขนาดใหญ่พาดไปยังหน้าผาเพื่อที่จะให้เป็นทางส่งทหารบุกเข้าไปพิชิตกำแพงป้อม
แม้จะสร้างสะพานเสร็จแล้ว แต่ฟลาวีอุสก็ยังไม่สั่งให้โจมตี แต่ยังปิดล้อมไว้นานถึงปีเศษ หวังให้ชาวยิวในป้อมขาดแคลนเสบียง จนแทบพยุงร่างไม่ไหวจึงจะบุกไปฆ่าอย่างง่ายดาย แต่พวกยิวก็สามารถปักหลักอยู่ได้เพราะสะสมเสบียงอาหารอย่างมากมาย แต่หลังจากเห็นทหารโรมันสร้างสะพานเชื่อมต่อกับหน้าผา นักรบยิวเริ่มตระหนักดีว่าทหารโรมันตั้งใจฆ่าพวกตนไม่ให้เหลือแม้แต่คนเดียว
อีเลซาร์ เบน ยาลีร์ ผู้นำกลุ่มนักรบชาวยิว จึงเรียกประชุมคนในป้อมทั้งหมดแล้วประกาศถ้อยคำอันเด็ดเดี่ยว ให้ทุกคนประกาศตนเป็นอิสระต่ออำนาจทรราชของพวกโรมัน โดยเลือกฆ่าตัวตายแทนที่จะถูกทหารโรมันฆ่าแล้วอ้างชัยชนะได้
ชาวยิวทุกคนในป้อมมาซาดาตกลงยินดีฆ่าตัวตาย ดีกว่าตกเป็นทาสของพวกโรมัน ก่อนฆ่าตัวตาย ชาวยิวได้เผาอาคารทั้งหมดในป้อมไม่เว้นแม้แต่ยุ้งฉางที่เก็บเสบียง เพื่อให้ทหารโรมันรู้ว่านี่ไม่ใช่การฆ่าตัวตายเพราะความอดอยากหรือหมดทางเลือก หากแต่ยอมตายโดยไม่ยอมอยู่อย่างผู้แพ้
เมื่อทหารโรมันเห็นเปลวไฟลุกไหม้ อาคารภายในป้อมบนยอดเขามาซาดา แม่ทัพฟลาวีอุสจึงสั่งให้ทหารบุกเข้าในป้อม ซึ่งทหารโรมันก็พบกับสภาพที่คิดไม่ถึง เมื่อพบศพชาวยิวชายหญิงและเด็กๆ นอนตายเกลื่อนไม่มีนักรบยิวเหลือแม้แต่สักคนเดียว ฟลาวีอุสเข้าใจทันทีเลยว่าพวกเขาพร้อมใจกันตายดีกว่าอยู่อย่างผู้แพ้ มีผู้รอดชีวิต 2 คนเป็นผู้หญิงคนหนึ่ง และเด็กคนหนึ่งซึ่งบาดเจ็บสาหัสให้เป็นผู้เล่าเรื่องเมื่อทหารโรมันที่บุกเข้ามาได้รับฟัง
แทนที่ทหารโรมันทั้งหมดจะยินดี ปรากฏว่า ฟลาวีอุสและทหารโรมันพร้อมใจกันถอดหมวกแสดงความเคารพในความกล้าหาญและเด็ดเดี่ยวของชาวยิว...ที่ยอมตายดีกว่าอยู่อย่างผู้แพ้
จนกระทั่งเวลาล่วงมาเกือบ 200 ปี นักโบราณคดีกลุ่มหนึ่งจึงเปิดฉากค้นคว้าหาหลักฐานต่างๆ เพื่อพิสูจน์ความจริงของเหตุการณ์ครั้งนั้น โดยค้นพบคลังเสบียงที่ไม่ไหม้ไฟ พบเหรียญสัมฤทธิ์กองหนึ่งที่ผุกร่อนที่ใช้แทนบัตรแลกเสบียง พบแผ่นบันทึกเรื่องราวทั้งหมด 14 ม้วน และเสื้อเกราะนักรบและเหยือกกองอยู่สิบกว่าใบ แต่ละใบสลักชื่อเจ้าของ และอีกเหยือกหนึ่งจารึกชื่อ อีเลซาร์ เบน ยาลีร์ ผู้บัญชาการป้อมไว้ด้วย แล้วยังพบว่า ป้อมมาซาดา มีทั้งโรงอาบน้ำที่มีส่วนอบเซาน่า, แช่น้ำร้อน, อาบน้ำเย็น ที่ต้องทึ่งกับวิธีการออกแบบของสถาปนิกโบราณ โบสถ์ไบเซนทีนที่ปูพื้นด้วยกระเบื้องโมเสกที่หลงเหลือหลักฐานให้เราได้ชมในวันนี้ยังงดงามอ่อนช้อย
ทุกวันนี้ ทางการอิสราเอลรักษาไว้เป็นอย่างดีในฐานะสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ที่ทหารเกณฑ์ทุกคนจะต้องเข้าประจำการและต้องสาบานตนที่เทือกเขามาซาดานี้ว่า นับจากวันนี้ เราจะไม่รู้จักคำว่า “พ่ายแพ้”
จากเหตุการณ์ข้างต้น เป็นที่ประจักษ์ให้แก่ชาวโลกมาแล้ว เมื่อคราวสมัยสงคราม 6 วัน หรือ Six Days War ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน ถึง 10 มิถุนายน 1967 อีกฝ่ายประกอบด้วย อียิปต์, ซีเรีย, จอร์แดน และอิรัก มีกำลังพลรวมถึง 547,000 คน ในขณะที่อิสราเอลมีกำลังพลเพียง 264,000 คน และผลของสงครามคือ อิสราเอลถูกปิดล้อมและยึดพื้นที่ แต่ก็ตีโต้กลับและได้รับชัยชนะเพียงแค่ 6 วัน สูญเสียกำลังพลเพียง 800 คน แต่ในขณะอีกฝ่ายหนึ่งเสียชีวิตถึง 21,000 คน
.........................
(ป้อมมาซาดา : คอลัมน์ท่องต่างแดน : เรื่องโดย...นายเกาไม่ถูกที่คัน/ภาพโดย...คมฐิพัฒน์ งามสงวน)