เด็กเล็ก4.8แสนขาดโอกาสการศึกษา
วงสัมมนาพัฒนาเด็กเล็กชี้เด็กกว่า 4.8 แสนคนขาดโอกาสการศึกษา ร้อยละ 30 มีพัฒนาล่าช้า ส่งผลทักษะอ่าน เขียน ภาษาแย่ ไอคิวต่ำ แนะรัฐจัดงบอุดหนุน
9 ม.ค.57 นางสุธาทิพ ธัชยพงษ์ ประธานคณะทำงานด้านเด็ก กล่าวในการสัมมนา ”การพัฒนาและดูแลเด็กปฐมวัยกับการคุ้มครองทางสังคมแก่เด็ก”ครั้งที่ 2 ที่อาคารประชาธิปก รำไพพรรณี จุฬาฯ กทม.ว่า จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่าปัจจุบันคนไทยมีลูกเฉลี่ย 1.5 คนต่อครอบครัว และมีเด็กอายุ 0-5 ปี กว่า 4.5 ล้านคนโดยในจำนวนนี้ เด็กเล็กกว่า 4.8 แสนคน หรือคิดเป็นร้อยละ 20 ยังไม่มีโอกาสได้รับการศึกษา และจากการประเมินศูนย์เด็กเล็กทั่วประเทศพบว่ามีปัญหาด้านการดำเนินงาน ความพร้อมของทรัพยากร คุณภาพของครูพี่เลี้ยงและบุคลากรทางการศึกษาและไม่ได้มีการประเมินตัวเด็กเพื่อให้ได้รับการพัฒนาที่เหมาะสมอย่างรอบด้านตามวัย
นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผอ.สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า สถานการณ์พัฒนาเด็กปฐมวัยไทย 0-5 ปี ในรอบ 15 ปีที่ผ่านมามีเด็กปฐมวัยที่มีพัฒนาการที่ดีร้อยละ 70 อีกร้อยละ 30 หรือ 1 ใน 3 ของเด็กเล็กมีพัฒนาการล่าช้า โดยพบว่ามีพัฒนาทางการภาษาล่าช้าถึงร้อยละ 20 พัฒนาการทางปฏิภาณไหวพริบและการเข้าสังคมอีกร้อยละ 6 ซึ่งพัฒนาการทั้ง 2 ด้านจะมีผลกระทบต่อระดับสติปัญญา (ไอคิว) ทักษะอ่าน เขียนและคำนวณ
นพ.สุริยเดว กล่าวอีกว่า สาเหตุที่เด็กเล็กมีพัฒนาการล่าช้าเพราะขาดภาวะโภชนาการที่ดีและมีคุณค่า พ่อแม่และเด็กไม่เห็นความสำคัญของอาหารเช้าและสารอาหารที่มีผลต่อการพัฒนาสมอง ได้แก่ โปรตีน ไอโอดีน ธาตุเหล็ก และโฟเลต โดยเฉพาะโฟเลตนั้นผู้หญิงที่เตรียมตั้งครรภ์ควรกินตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ 2 เดือนต่อเนื่องไปจนถึงตั้งครรภ์ 3 เดือน แต่ผู้หญิงแค่ร้อยละ 3 ของประเทศที่เข้าใจเรื่องนี้ และในปี 2556 ยังมีเด็กขาดไอโอดีนถึงร้อยละ 4 รวมทั้งขาดการส่งเสริมให้เด็กกินผัก ผลไม้ ทำให้เด็กชอบดื่มน้ำอัดลม กินขนมกรุบกรอบ นอกจากนี้เด็กส่วนหนึ่งได้รับการเลี้ยงดูจากปู่ย่าตายายทั้งที่ช่วงเด็กเกิด 2 ปีแรกควรอยู่กับพ่อแม่ รวมทั้งไม่ควรให้เด็กอายุต่ำกว่า 3 ปีใช้สื่อเทคโนโลยี เช่น สมาร์ทโฟน ควรใช้วิธีเล่านิทาน หรือการเล่นเพื่อกระตุ้นประสาทสัมผัสทั้งหมด
“การดูแลเด็กเล็กให้มีคุณภาพนั้ต้องเริ่มจากครอบครัวซึ่งเป็นหัวใจของการพัฒนาการเรียนรู้ของเด็ก พ่อแม่ต้องปฏิสัมพันธ์กับลูก ไม่ใช้เทคโนโลยีเลี้ยงลูก และการพัฒนาระบบบริหารจัดการคลินิกสุขภาพเด็กที่มีการคัดกรองและจัดการกรณีพบว่าเด็กมีภาวะบกพร่องอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะการส่งเสริมให้ผู้นำชุมนมชนและชาวบ้านรู้จักคัดกรองเด็กเป็นเรื่องที่ดีและควรสนับสนุน และการพัฒนาคุณภาพของศูนย์เด็กเล็กและโรงเรียนอนุบาลก็เป็นสิ่งสำคัญมาก ส่วนที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ผมคิดว่าไม่มีประโยชน์อะไร ถ้ากระบวนการเรียนการสอนและการประเมินวัดผลยังเหมือนเดิม ทุกวันนี้เด็กอนุบาลยังถูกสอนเน้นวิชาการเพื่อสอบเข้าป.1 พ่อแม่จ่ายเงินให้เรียนพิเศษติวเพื่อสอบเข้าป.1 เฉลี่ยคนละ 3,700 บาทต่อปี หากคิดตั้งแต่อนุบาลจนถึงอุดมศึกษาค่าติวเพื่อสอบเข้าของเด็กทั่วประเทศรวมแล้วประมาณ 12,000 ล้านบาทต่อปี” นพ.สุริยเดว กล่าว
ศ.นพ.ศุภสิทธิ์ พรรณารุโณทัย คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร (มน.) กล่าวว่า ช่วงอายุ 0-5 ปีเป็นช่วงสำคัญในการพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กเล็ก ดังนั้น การลงทุนเพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ตั้งแต่ยังเป็นเด็กเล็ก จึงถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าที่สุดโดยจากผลการศึกษาของเจมส์ เฮกแมน นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลปี 2542 พบว่า การลงทุนในเด็กปฐมวัย จะได้รับกลับคืนในอนาคต 7-10 เท่า หรือหากลงทุน 1 บาท จะได้ผลกลับคืนถึง 7-10 บาท โดยพบว่าเด็กที่ได้รับสารอาหารและการดูแลสุขภาพที่ดีในช่วงแรกของชีวิตจะมีพัฒนาทางร่างกาย อารมณ์และสติปัญญาที่ดีกว่า มีโอกาสเข้าเรียนจนถึงอุดมศึกษา มีโอกาสทำงานที่ดี มีรายได้สูง และการก่ออาชญากรรม การใช้เงินสวัสดิการรัฐมีน้อย
ศ.นพ.ศุภสิทธิ์ กล่าวอีกว่า ส่วนประเทศไทยมีการลงทุนในเด็กปฐมวัยค่อนข้างน้อยเพียงร้อยละ 12 เฉลี่ย อยู่ที่คนละ 23,282 บาทต่อปี ประถมศึกษาร้อยละ 54 อยู่ที่คนละ 37,194 ต่อปี มัธยมศึกษาร้อยละ 29 อยู่ที่คนละ 26,332 บาทต่อปี อาชีวศึกษาร้อยละ 5 อยู่ที่คนละ 24,933 บาทต่อปี หากเทียบกับการลงทุนของสากลนั้นระดับปฐมวัยอยู่ที่ร้อยละ 24 ประถมศึกษาอยู่ที่ร้อยละ 36 และมัธยมศึกษาอยู่ที่ร้อยละ41 อย่างไรก็ตาม หากคำนวณจากเงินลงทุน 100 บาทในจำนวนนี้เป็นเงินเดือนครู 71 บาท และงบพัฒนาตัวเด็กเพียง 11 บาท ที่เหลือเป็นงบบริหารและครุภัณฑ์
“วันนี้หลายคนมีคำถามว่าการลงทุนพัฒนาเด็กปฐมวัยของรัฐบาลน้อยไปและคุ้มค่าหรือไม่เพราะไทยลงทุนด้านการศึกษามากกว่าประเทศอื่นๆในอาเซียนแต่คุณภาพการศึกษากลับแทบจะรั้งท้าย 10 ประเทศอาเซียน ผมจึงเห็นว่ารัฐบาลควรจัดเงินอุดหนุนพัฒนาเด็กปฐมวัยให้เด็กแต่ละคนโดยผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) แต่มีเงื่อนไขแต่ละอาทิตย์ต้องให้อปท.ไปเยี่ยมบ้านเด็ก อีกทั้งรัฐบาลและอปท.ควรจัดงบพัฒนาโรงเรียนอนุบาล ศูนย์เด็กเล็ก และพัฒนาครูพี่เลี้ยงเด็กเล็กให้มีคุณภาพ มีการจัดทำและเก็บข้อมูลการตรวจสุขภาพเด็กเล็กแต่ละคนตั้งแต่ 0-3 ปีให้ชัดเจน หากเด็กมีปัญหาบกพร่องด้านร่างกาย สติปัญญาหรือการเรียนรู้จะได้ช่วยพัฒนาเด็กได้ทัน” ศ.นพ.ศุภสิทธิ์ กล่าว
นายแอนดรูว์ เคลย์โปล หัวหน้าแผนกวิเคราะห์นโยบายสังคม องค์การยูนิเซฟ ประจำประเทศไทย กล่าวว่า หลายประเทศเช่น บราซิล แอฟริกาใต้มีการให้เงินอุดหนุนการเลี้ยงดูบุตรแก่ประชาชนซึ่งผลที่ได้กลับมาช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ทำให้เด็กมีโอกาสเข้าถึงปัจจัยพื้นฐานที่เด็กต้องการ สารอาหาร การศึกษาและได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม จึงขอเสนอให้รัฐบาลไทยจัดเงินอุดหนุนการเลี้ยงดูบุตรให้แก่คนไทยเช่นกันโดยจากการศึกษาร่วมกับหน่วยงานต่างๆในไทยเห็นว่าอัตราที่เหมาะสมควรจะอุดหนุนเด็กอายุ 0-6 ปีทั่วประเทศในอัตราคนละ 600 บาทต่อเดือน ซึ่งรัฐบาลใช้งบเดือนละกว่า 1.6 พันล้านบาท
น.ส.ธนพร วิจันทร์ ประธานกลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี กล่าวว่า หากจะมีการปฏิรูปประเทศไทยไม่ว่าจะเกิดจากภาคประชาชนหรือรัฐบาลชุดใหม่เห็นว่าเรื่องแรกที่ควรปฏิรูปคือการพัฒนาเด็กปฐมวัยให้มีคุณภาพเพราะคุณภาพของประเทศไทยขึ้นอยู่กับเด็ก