จบม.6ใน8เดือนไม่ง่ายอย่างที่คิด
15 ม.ค. 2557
จบม.6ใน8เดือนไม่ง่ายอย่างที่คิด สอบ9วิชาต้องผ่านเกินร้อยละ60 : โดย...หทัยรัตน์ ดีประเสริฐ
"ใครจะว่าโครงการ ม.6 ใน 8 เดือนของกศน.ง่ายก็ลองมาเรียนดู ไม่ใช่ว่าใครๆ จะมาเรียนก็จะได้ จบก็ง่ายคงไม่ใช่ทั้งหมด เพราะคนที่มีสิทธิสมัครเรียนได้จะต้องอายุเกิน 20 ปีขึ้นไป มีงานทำเป็นหลักเป็นแหล่งมาแล้วอย่างน้อย 3 ปี สมัครแล้ว ผู้ขอเทียบวุฒิต้องรับหนังสือไปเรียนรู้เอง เมื่อผ่านไป 8 เดือนให้มาเข้ารับการทดสอบทั้งหมด 9 หมวดวิชา ถ้าทำคะแนนทุกวิชาได้เกินร้อยละ 60 จึงจะถือว่าจบไม่ใช่ว่าใครๆ ก็สมัครได้และสมัครได้ก็จบกันง่ายๆ" ประเสริฐ บุญเรือง เลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) กล่าว
เพื่อป้องกันความสับสนของโครงการปี 2557 นี้ กศน.เปลี่ยนชื่อ โครงการจบ ม.6 ใน 8 เดือน เป็นโครงการเทียบระดับการศึกษาในระดับสูงสุดของการศึกษาขั้นพื้นฐานแล้ว หลังจากที่เริ่มดำเนินการโครงการนี้ครั้งแรกเมื่อปี 2556 และพบว่า ได้รับความสนใจจากคนทำงานมาสมัครเทียบความรู้อย่างมากถึงกว่า 90,000 คน เป็นการยกระดับการศึกษาให้แก่วัยแรงงานไทย ถามว่าประสบความสำเร็จหรือไม่ "ประเสริฐ" บอกว่า ไม่ประสบผลสำเร็จมากนัก เพราะแม้ว่าจะมีประชาชนสนใจมาสมัครสอบเทียบความรู้ถึง 90,000 คน แต่มีผู้ผ่านการทดสอบและได้รับวุฒิ ม.ปลาย แค่ 3,139 คนเท่านั้น
"จากผู้สมัครสอบเทียบความรู้ 90,000 คนสอบผ่านการทดสอบทั้งหมด 9 หมวดวิชา เกินร้อยละ 60 แค่ 3,139 คนถือว่าไม่เป็นไปตามเป้า แต่ผู้ที่ไม่ผ่านเกณฑ์สามารถสะสมวิชาต่างๆ ไว้ได้ และสอบใหม่ในปีถัดๆ ไปจนกว่าจะครบตามที่หลักสูตรกำหนดไว้ ก็จะได้รับวุฒิการศึกษาชั้น ม.ปลายได้ แต่ก็จะไม่ถือว่าจบภายใน 8 เดือน เพราะต้องใช้เวลาในการสอบเทียบความรู้มากกว่าในหลักสูตรที่กำหนดไว้" เลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) อธิบาย
เลขาธิการ กศน.อธิบายต่อว่า เหตุผลที่มีผู้สอบเทียบความรู้มีผู้ผ่านการทดสอบน้อยมาก เพราะข้อสอบของ กศน.นั้นมีมาตรฐาน เป็นข้อสอบที่ออกโดยส่วนกลาง ร้อยละ 50 เป็นข้อสอบของสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ร้อยละ 20 และเป็นการสอบภาคปฏิบัติอีกร้อยละ 30 อย่างไรก็ตาม คะแนนสอบจะมีอายุ 5 ปี ผู้ขอเทียบวุฒิ สามารถเข้าสอบในครั้งอื่นๆ ได้ เมื่อผ่านครบทั้ง 9 วิชาใน 5 ปี ก็จะได้วุฒิ ม.ปลาย ซึ่งในปี 2556 กศน.ได้เปิดสอบรอบ 2 เมื่อปลายต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา พบว่า มีผู้สอบผ่านอีกจำนวนหนึ่ง
สำหรับปี 2557 นั้น กศน.ตั้งเป้าว่า จะมีผู้มาสมัครเข้าโครงการเทียบความรู้ประมาณ 130,000 คน โดยจะปิดรับสมัครสิ้นเดือนมกราคมนี้ แต่ กศน.ไม่คาดหวังว่าจะมีผู้สอบผ่านจำนวนเท่าใด เพราะข้อสอบของกศน.และ สทศ.ไม่ง่าย จึงสามารถการันตีได้ว่า โครงการจบ ม.6 ใน 8 เดือนของ กศน.นั้น เป็นโครงการที่รักษาคุณภาพ ไม่ใช่อย่างที่ใครๆ เข้าใจว่า เมื่อสมัครมาแล้วจะได้วุฒิ ม.ปลายแน่นอน อย่างไรก็ตาม แม้แต่ละปีจะมีผู้สอบผ่านจำนวนน้อย แต่โครงการนี้ก็เป็นการตอบโจทย์ในการยกระดับการศึกษาให้วัยแรงงาน ซึ่งปัจจุบันมีวัยแรงงานที่ยังไม่จบ ม.6 ถึง 18 ล้านคน
"ไม่ว่าจะเป็นปีการศึกษานี้หรือปีการศึกษาต่อๆ ไปในอนาคต กศน.ก็จะยังสานต่อโครงการจบ ม.6 ใน 8 เดือนเป็นโครงการเทียบระดับการศึกษาในระดับสูงสุดของการศึกษาขั้นพื้นฐานต่อไป เพราะถือว่าเป็นโครงการที่ยกระดับการศึกษาให้กับวัยแรงงานที่ยังไม่จบ ม.6 ถึง 18 ล้านคนให้มีวุฒิการศึกษาที่สูงขึ้น สามารถเรียนต่อในระดับปริญญาพัฒนาทักษะฝีมือและวิชาการให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดได้มากขึ้นในอนาคต" ประเสริฐ กล่าว
ทั้งนี้ กศน.ได้ปรับหลักสูตรการเรียนการสอนใหม่เป็น 2 ปีทุกระดับชั้นจากเดิม 1 ปีครึ่งและเรียน 9 ชม.ต่อสัปดาห์ และเพิ่มวิชาพัฒนาคุณภาพชีวิตเป็น 200 ชม.ต่อภาคเรียน เข้าไปด้วยเพื่อให้การเรียนการสอนของกศน.มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งปัจจุบันกศน.ได้รับงบประมาณรายหัวระดับประถมศึกษาอยู่ที่ 1,900 บาท มัธยมต้น และมัธยมปลายอยู่ที่ 2,300 ซึ่งกศน.ได้เสนอขอเพิ่มเงินรายหัวนักเรียน มัธยมศึกษาตอนต้นเป็น 3,500 บาท มัธยมศึกษาตอนปลายเป็น 3,800 บาท แต่ยังไม่ได้รับการอนุมัติจากสำนักงานประมาณ
"กศน.ต้องการยกระดับการศึกษาแรงงานที่ยังไม่จบม.6 จำนวน 18 ล้านคนแต่ได้งบรายหัวอยู่แค่ 2,300 บาท ซึ่งต้องนำไปจ้างครูมาสอนด้วย ต่างจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จะมีเงินเดือนครูและเงินวิทยฐานะแยกต่างหากจากค่าใช้จ่ายรายหัวของนักเรียน จึงอยากจะให้พิจารณาเพิ่มให้เพื่อจะได้จัดการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพและทั่วถึง ปัจจุบันกศน.จัดการศึกษาระดับประกาศนียบัตร (ปวช.) ซึ่งปีการศึกษานี้มีผู้สมัครเรียน 34,000 คน และยังจัดการศึกษาภาคปกติและอิงลิชโปรแกรมทุกจังหวัด" เลขาธิการกศน.กล่าว
........................
(จบม.6ใน8เดือนไม่ง่ายอย่างที่คิด สอบ9วิชาต้องผ่านเกินร้อยละ60 : โดย...หทัยรัตน์ ดีประเสริฐ)